stadium

พลังแห่งการเอาชนะความล้มเหลวของ ธนาคาร ไชยยาสมบัติ

22 กันยายน 2566

“กว่าเฟรมจะปั่นจักรยานได้ถึงทุกวันนี้ ล้มไปไม่รู้กี่ครั้ง แผลนี่เต็มตัวไปหมด แต่คำว่า ล้มเลิก ไม่เคยอยู่ในหัวผมเลยแม้แต่นิดเดียว” นี่คือคำพูดแรกของ “เฟรม” ธนาคาร ไชยยาสมบัติ นักกีฬาจักรยานทีมชาติไทย ที่บอกกับทีมงาน StadiumTH 

 

เจ้าของแชมป์นักปั่นยอดเยี่ยมเอเชีย หรือ Best Asian Rider ในจักรยานทางไกลนานาชาติ รายการ "ทัวร์ เดอ ไต้หวัน 2023" ที่ครั้งนี้จะมาเปิดใจแบบหมดเปลือกบนเส้นทางชีวิตของเขา ก่อนจะกลายมาเป็น นักปั่นทีมชาติไทย

 

 

บริบทของจักรยาน คือ กีฬาประเภททีม

“โดยเนื้อแท้ จักรยานเป็นกีฬาประเภททีมอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างง่ายๆ จักรยานประเภทถนน Road Race ถ้าเราลงไปแข่งแค่คนเดียว การที่เราจะชนะคนที่มีทีม มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย การแข่งแบบ Road Race มันเป็นการแข่งแบบทางไกล ใช้เวลาแข่งที 4-5 ชั่วโมง แน่นอนพลังงานเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องคอยเติมอยู่ตลอด และในการแข่งขันก็จะมีรถทีมที่มีเสบียง มีล้อ มีอะไหล่”

 

“ถ้าเกิดไปแข่งคนเดียว แล้วเราต้องลงไปเอาอาหารเอง เอาน้ำเอง แบบนี้ในการแข่งขันจะเอาเวลาไหนไปโจมตีคู่ต่อสู้ หรือว่าเฝ้าระวังคู่แข่งที่พร้อมแซงเรา ฉะนั้นกีฬาจักรยานมันจะมีหลายๆตำแหน่งเลย เช่น Domestic เป็นตำแหน่งที่คอยลงไปเอาเสบียง เอาน้ำ อาหาร ขึ้นมาให้คนที่เป็นตัวความหวังของรายการ พูดง่ายๆ คือแทบจะไม่ต้องลงไปไหนเลย จดจ่ออยู่กับการแข่งขันอย่างเดียว และก็ตำแหน่ง Pacer หน้าที่ก็จะขึ้นไปช่วยบังลมให้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ หัวลาก”

 

“สำหรับคนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจ เฟรมแนะนำให้ไปดู Netflix เรื่อง “Tour De France” ซึ่งนักปั่นทั้ง 7 คน มีหน้าที่เป็นของตัวเองทุกคน คนนี้รับหน้าที่ช่วงทางเรียบ คนนี้รับหน้าที่ช่วงขึ้นเขา เรียกว่าทุกคนต้องถวายชีวิต ใส่สุดกำลังเท่าที่จะทำได้”  
 

จุดประกายลูกไม้ใต้ต้น

“จุดเริ่มต้นมาจากคุณพ่อของผมที่เป็นนักปั่นจักรยาน ตอนเด็กๆก็จะเห็นคุณพ่อปั่นจักรยานเสือภูเขา ทุกๆเย็นเฟรมจะเห็นแกกลับมาพร้อมกับสภาพเปื้อนโคลนที่เละทั้งตัว บางวันก็มีแผลถลอกเต็มตัว ผมก็สงสัยว่าเค้าไปทำอะไรมา” 

 

“แต่สิ่งหนึ่งที่เฟรมสัมผัสได้จากคุณพ่อ คือ เค้ายังสนุกกับการปั่นทุกวัน มันเลยค่อยๆซึมซับไปทีละนิด จนสุดท้ายเฟรมก็ขอพ่อไปด้วย พอตามแกไปก็เข้าใจเลยว่า ทำไมคุณพ่อถึงรักจักรยาน ถึงมีความสนุกทุกครั้งที่ออกไปปั่น”     

 

แค่ปั่น โลกก็เปลี่ยน

“ตอนเด็กเฟรมเป็นคนที่ตัวเล็กมาก ไซส์จักรยานก็หายากมาก คุณพ่อพยายามไปหาจักรยานที่เล็กที่สุด ขนาดปรับเบาะลงสุด ขาก็ยังแตะพื้นไม่ถึง แต่ก็ยังปั่นได้ ปั่นครั้งแรกก็รู้สึกดีนะครับ ได้ปลดปล่อยตัวเอง เป็นอิสระ แม้ตอนนั้นจะยังเป็นเด็กก็ตาม”   

 

เปิดทางสู่คำว่า “นักกีฬา” 

“เมื่อก่อนมันจะมีงานแข่ง “เมาเท่นไบค์” พอเฟรมเริ่มปั่นได้สักระยะนึง คุณพ่อก็ให้ลองไปแข่งในรุ่นเด็กโตเจอกับพวกรุ่นพี่ พอช่วงหลังคุณพ่อก็เริ่มเข้มงวดการซ้อมมากขึ้น เค้าเห็นว่าลูกตัวเองเริ่มหลงรักจักรยาน อยากจะได้รางวัล ได้เหรียญกับคนอื่นเค้า กลายเป็นว่า ทุกๆเย็นก็จะตามคุณพ่อไปขึ้นเขา พ่อก็จะจับเวลา และอีก 3-4 วันก็จะมาดูอีกทีว่า เวลาจะดีขึ้นมั้ย?”

 

“ซึ่งแน่นอนคุณพ่อคาดหวังว่า เวลามันต้องดีขึ้น แม้ว่าแกจะไม่ได้กดดันอะไรผม แต่คุณพ่อต้องการให้ผมชนะบ้าง ไม่ได้ตั้งเป้าให้ปั่นแค่เอาจบ แกอยากให้เฟรมได้สัมผัสกับความรู้สึกของการเป็นผู้ชนะ” 

 

แชมป์ครั้งแรกของ “เฟรม” 
“แชมป์แรกของเฟรมตอนอายุ 11 ขวบครับ เป็นงานปั่นจักรยานประจำปีของสมเด็จย่า แต่ได้ลงแข่งในรุ่นอายุ 15 ปี เราก็ตัวเล็ก ต้องไปเจอกับรุ่นพี่ที่ตัวใหญ่กว่า แถมเก่งกว่าเราอีก ตอนนั้นไม่ได้คาดหวังผลว่าจะเป็นอย่างไร แต่สุดท้ายเราได้แชมป์ และเป็นแชมป์แรกด้วย ดีใจมาก ได้สัมผัสความรู้สึกของการเป็นผู้ชนะจริงๆ” 

 

“หลังได้แชมป์ คุณพ่อก็ดีใจนะครับ แต่สไตล์แกจะไม่ค่อยชมใครเยอะ แค่พูดกับผมว่า ทำดีแล้ว ปีหน้าเอาแชมป์อีก เวลาต้องดีกว่าเดิมนะ”
 

 

“จักรยานเสือหมอบ” เป้าหมายที่ใหญ่ และ ท้าทายกว่า

“พอตัวเองอายุได้ 14-15 ปี ตอนนั้นผมยังแข่งเป็นเสือภูเขาอยู่ คุณพ่อมองว่า ถ้าเฟรมยังปั่นเสือภูเขาอาจจะไปได้ไม่สุด ก็เลยไปปรึกษา ”โค้ชเปี๊ยก” ไพโรจน์ อินต๊ะปัญญา ซึ่งพ่อรู้จักแกตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก” 

“โค้ชเปี๊ยก เค้าเปิดร้านจักรยานที่เชียงราย เห็นผมคลานเล่นใต้โต๊ะตั้งแต่เด็กๆ แกก็คุยกับพ่อผม แล้วเห็นตรงกันว่า ถ้าเฟรมอยากไปไกล ต้องขี่เสือหมอบเท่านั้น ทีนี้โค้ชเปี๊ยก ก็เริ่มสอนผมอย่างจริงจัง และยิ่งไปกว่านั้น ที่เชียงรายเค้ามีทีมจังหวัด ก็จะมีกลุ่มรุ่นพี่ที่ใส่เสื้อสีชมพู แล้วข้างหลังเขียนว่า “เชียงราย” มันดูเท่มากๆ ยิ่งเป็นพลังที่อยากประสบความสำเร็จให้ได้” 

 

“เฟรมมองว่า เสือภูเขา มันเป็นเรื่องของเทคนิค และ พละกำลัง ถ้าวันที่เราปั่นแรงที่สุด เราจะฉีกหนีคู่ต่อสู้ได้แบบสบายๆ แต่ถ้าเป็นเสือหมอบ มันมีเรื่องของความเป็นทีมมากขึ้น รายละเอียดก็จะซับซ้อน แรกๆที่ผมเปลี่ยนมาปั่นเสือหมอบ ก็ยังไม่ค่อยชินเท่าไหร่ แต่ดีที่ได้ โค้ชเปี๊ยก ช่วยสอนอย่างใกล้ชิด”

 

ประตูสู่ทีมชาติไทย
“เฟรมจำได้ว่า ผลงานแรกของ คือ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ที่จันทบุรี โค้ชเปี๊ยกให้ลงแข่งแบบจับเวลา เป็นรายการเดี่ยว เส้นทางที่แข่งค่อนข้างถนัดมาก คือ ขึ้นเขายาวๆ แต่ต้องยอมรับว่า ประสบการณ์ในการปั่นเดี่ยว ผมมีน้อยมากๆ ก็ไม่ได้หวังว่าจะติดอยู่ในโผตัวเต็งนะครับ”

 

“แต่สุดท้ายผมก็ได้ที่ 3 ซึ่งที่ 1 และ ที่ 2 เป็นตัวเยาวชนทีมชาติ ส่วนที่ 4,5,6 เป็นเยาวชนทีมชาติ กลายเป็นเราที่ขึ้นมาแทรกอยู่บนโพเดียม ความรู้สึกมันช็อคมาก ทีนี้โค้ชทีมชาติไทย และทีมงานสต๊าฟโค้ช เค้าก็ถามคนใกล้ชิดว่า เฮ้ย! เด็กจากเชียงราย คือใคร? มันก็เริ่มมาจากตรงนั้น เราก็มีความมั่นใจมากขึ้น แม้จะยาก แต่ก็กล้าเล่น กล้าตัดสินใจ หลังจากนั้น ผมก็เริ่มชนะในรายการชิงแชมป์ประเทศไทย รุ่นเยาวชน เป็นแบบดับเบิ้ลแชมป์ประจำสนาม”


“ครั้งแรกที่ได้เข้ามารับใช้ทีมชาติไทย คือ การโดนส่งไปเก็บตัวที่เกาหลีใต้ เป็นศูนย์ฝึก World Cycling Centre Korea เราอายุ 17 ปี นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ใส่เสื้อทีมชาติไทย ตื่นเต้นไปหมด พูดแล้วขนลุกครับ”

 

ทัวร์นาเมนต์แรกในฐานะทีมชาติ

“เป็นรายการชิงแชมป์โลก ประเภทลู่ ที่สวิตเซอร์แลนด์ โคตรตื่นเต้นครับพี่ ทำตัวไม่ค่อยถูก แถมยังลืมเบอร์ไว้ที่พักอีก ยังจำได้เลยว่า ต้องรีบลงไปเอาเบอร์ เพราะด้วยความที่ประสบการณ์น้อย สุดท้ายก็ยังแข่งทัน ก็เป็นสิ่งที่จดจำมาจนถึงวันนี้ ทำให้รู้ว่า การเตรียมตัวก่อนแข่ง สำคัญมาก ห้ามลืม ต้องรอบคอบ เอาของมาวาง ไม่ว่าจะเป็น หมวก แว่น ชุด เบอร์ เข็มกลัดติดเบอร์ ถุงเท้า รองเท้า ทุกอย่างต้องพร้อม”

 

“ส่วนประสบการณ์ในการแข่งทำให้รู้ว่า เวทีระดับโลกเป็นอย่างไร รายการปั่นจับเวลาเราก็ได้ลง แต่เวลาตามหลังผู้นำมากๆ รายการที่เป็นกลุ่มก็ได้ลง แต่ก็ทนความรุนแรงในเกมไม่ค่อยได้ เกมระดับยุโรป กับ ระดับเอเชีย มันต่างกันจริงๆ ทุกอย่างมันสอนเราว่า ต้องพยายาม ทำยังไงก็ได้ เพื่อให้สู้กับเค้าได้”

 

แมตช์ประทับใจในฐานะ “นักกีฬาทีมชาติไทย”

“เป็นอีเวนท์ชิงแชมป์เอเชีย ประเภทลู่ ที่อินเดีย ก่อนแข่งก็รู้ว่า มันยากที่จะได้เหรียญ เท่าที่ผมจำได้คือ เด็กไทยมีโอกาสน้อยมาก ที่จะได้เหรียญรางวัลในรายการชิงแชมป์เอเชีย ยิ่งเป็นประเภทลู่ด้วย และยังเป็นเวโรโดรมแบบปิด พื้นเป็นไม้ปาร์เก้ ความชินมันก็ไม่คุ้นแล้ว”

 

“แต่เราก็สู้เต็มที่ มีอะไรงัดออกมาให้หมด สุดท้ายได้เหรียญทองแดง ผมดีใจมาก เพื่อนๆพี่ๆ นี่กระโดดเฮสุดๆ มันเป็นพลังใจให้เราพัฒนาต่อไป เป็นรางวัลแรกที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น”

 

โอลิมปิก และ ยุโรป คือ เป้าหมาย

“เป้าหมายหลักคือ อยากไปโอลิมปิกให้ได้สักครั้งในชีวิต เป้าหมายรอง คือ อยากเป็นนักกีฬาระดับ World Tour Division 1 ได้ไปโลดแล่นในยุโรป ได้ไปแข่งอยู่ในแกรนด์ทัวร์ อย่างพวก ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ถ้าวันนึงผมได้ไปอยู่จุดนั้น มันไม่ใช่เป็นผลดีแค่ตัวเฟรมเอง แต่มันเป็นการปูทางให้น้องๆรุ่นหลังด้วย เพื่อวงการจักรยานไทยบ้านเรา”  

 

 

ไอดอลตลอดกาล

“ผมชอบ โทมัส พิดค็อก จากอังกฤษ เคยไปแข่งกับเค้าด้วย ถ้าเป็นพวกนักปั่นจากฝั่งยุโรป จะรู้จักคนนี้ดีเลย เค้าเป็นนักปั่นที่ครบเครื่องมาก เป็นแชมป์โลกมาแล้วทุกประเภท แถมยังได้เหรียญทองโอลิมปิกด้วย”   

 

“เฟรมได้ลองปั่นมาหลายประเภทแล้ว รู้สึกว่าแต่ละประเภทก็ใช้ทักษะต่างกัน การที่คุณจะเป็นที่สุด คุณก็ต้องสุดเหมือนกัน ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม พิดค็อก ถึงได้รับการยอมรับจากนักปั่นทั่วโลก แถมอายุน้อยด้วย ถ้าผมได้เจอเค้า ไม่คิดอะไรเยอะเลยครับ ขอถ่ายรูปแน่นอน และบอกเค้าว่า คุณเป็นไอดอลผมนะ”  

 

ความห่างระหว่าง จักรยานไทย และ จักรยานต่างประเทศ

“เฟรมเป็นคนติดตามวงการจักรยานต่างประเทศมากๆ ซึ่งเรียนตามตรงว่า มีความแตกต่างจากบ้านเราอย่างเห็นได้ชัด คือเมืองนอกเค้ามีแผนงานชัด โดยเฉพาะโครงการที่ทำกับเด็กๆเยาวชน แต่บ้านเรายังไม่ค่อยเริ่มทำมากเท่าไหร่”

 

“ถ้าถามว่าบ้านเรามีการแข่งขันเพียงพอมั้ย? ผมว่าเราสามารถมีแมตช์ได้เยอะกว่านี้ ตอนนั้นผมไปเก็บตัวที่สวิตเซอร์แลนด์ 3 เดือน จันทร์ ถึง ศุกร์ ซ้อมเต็มที่ พอวันเสาร์ก็เป็นวันแข่ง นั่งรถตู้ไปฝรั่งเศสยกทีม แม้จะเป็นรายการเล็กๆ แต่สิ่งที่ผมเห็นคือ เค้าใส่ใจ และจริงจังกับการลงทุนจักรยานมาก พูดง่ายๆ ถ้าคุณไปอยู่ตรงนั้น สามารถเลือกได้เลยว่า อยากแข่งวันไหน แข่งที่ไหน นี่แหละคือจุดต่างที่ทำให้วงการจักรยานเมืองนอก มีประสบการณ์มากกว่าเรา”

 

“จักรยาน” กับความนิยมของคนไทย

“คนไทยนิยมปั่นเยอะมากครับ เอาแค่ในกรุงเทพ ที่สกายเลน สุวรรณภูมิ โดยเฉพาะวันหยุดคนแน่นมากๆ การที่จะทำให้คนเหล่านี้ หันมาสนใจปั่นจริงจัง ผมว่าหลายๆคนอาจยังเข้าไม่ถึงพวกรายการแข่งต่างๆ หรืออาจจะเข้าใจว่า ถ้าเป็นงานแข่งคงมีแค่ชิงแชมป์ประเทศไทย ก็อาจจะดูไกลตัวเกินไป”

 

“ผมอยากให้ทุกคนออกมาแข่งกันเยอะๆ ลองคิดดูว่าถ้าประเทศไทยเรามีงานแข่งเยอะๆ ทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑล และ ต่างจังหวัด กระจายอยู่ทุกมุม ก็จะทำให้มันดูใกล้เราขึ้น ใครๆก็มีส่วนในการปั่นจักรยานได้”

 

จักรยาน “กีฬาที่เรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด”

“ความหลากหลายครับ กีฬาจักรยานสามารถพลิกได้ตลอดเวลาเลย ผมเคยคุยกับรุ่นพี่ที่ผ่านการแข่งมาเยอะๆ เค้าก็บอกว่า ทุกวันนี้ยังรู้เรื่องกีฬาจักรยานไม่หมดเลย เดี๋ยวก็มีกฏ มีรูปแบบใหม่ๆ โผล่มาเสมอ ซึ่งผมว่ามันเป็นเสน่ห์นะ อีกอย่างคือ ถ้าเราได้ชนะสักครั้ง เราจะเสพติดกับมัน ทำให้อยากชนะเรื่อยๆ ยิ่งปั่นตอนเข้าเส้นชัยนะ ความรู้สึกมันยิ่งใหญ่จริงๆ 

 

 

วันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน

“เฟรมชอบคำว่า ทำให้ดีขึ้นในทุกๆวัน มีวินัยก็สำคัญ แต่ความต่อเนื่องสำคัญกว่า ลองคิดนะครับ คนเราจะมีไฟได้ในทุกๆวันหรอ แต่ถ้าเรามีความต่อเนื่อง มันได้ซ้อม ได้ศึกษาข้อผิดพลาดตัวเองทุกๆวัน 

 

สวิตเซอร์แลนด์ แดนในฝันของนักปั่น

“ชอบสวิตเซอร์แลนด์มากครับ ปั่นได้ทั้งวันเลย บรรยากาศรอบๆเหมือนภาพวาดจริงๆ จะปั่นขึ้นเขา ผ่านบ้านคนสวยๆ สำหรับเค้าดูเหมือนธรรมดา แต่สำหรับเรามันสวยจริงๆ ส่วนเวลาแข่งจริงมีเวลาชมวิวมั้ย 555 ไม่มีหรอกครับ สมาธิต้องใจจ่อกับการแข่งอย่างเดียวเท่านั้น  

 

 

“โอตาคุน่องเหล็ก” แรงบันดาลใจนอกสนามแข่ง 

“ย้อนกลับไปสมัยที่เฟรมอยู่แม่สาย จังหวัดเชียงราย มันจะมีร้านเช่าการ์ตูน ผมก็เดินเลือกอยู่ดีๆก็ไปสะดุดอยู่เล่มนึง มันคือ โอตาคุน่องเหล็ก”
 

“ตอนหยิบมาครั้งแรกรู้สึกว้าวมาก การ์ตูนอะไรหว่ามีจักรยานด้วย ผมก็เลยอ่านยาวเลย อ่านจบความรู้สึกคือ อยากออกไปปั่นจักรยานทันที”

 

พลังที่ทำให้พร้อมสู้

“ก็คงเป็นกำลังใจนี่แหละครับ ไม่ว่าจากครอบครัว จากกองเชียร์ ทุกครั้งที่ผมลงแข่งในนามทีมชาติ ผมสัมผัสได้ว่า มีอีกหลายๆคน ที่ต้องการขึ้นมาอยู่จุดแบบเรา มันก็เหมือนการแบกความหวังของพวกเค้าด้วย”

 

“แม้กีฬาจักรยานจะเป็นอะไรที่ต้องใช้พลังทั้งกาย และ ใจ ต้องสู้กับตัวเอง สู้กับความเจ็บปวด แต่ในเมื่อผมยืนอยู่ตรงนี้ ผมจะทำเพื่อประเทศ เพื่อคนไทยทุกคน”

 

เป้าหมายใน “หางโจวเกมส์” 

“เป้าหมายก็คงเหรียญทองแหละครับ แต่ว่ามันค่อนข้างยาก นี่คือเหตุผลที่ทำไมผมรักกีฬานี้ เพราะเวลาชนะ ความรู้สึกมันสะใจ สุดยอดมาก ผมจะทำให้เต็มที่ พวกเราจะทำเต็มที่อย่างแน่นอน เอาเหรียญรางวัลมาฝากพี่น้องชาวไทยทุกคนครับ”

 

มหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน แฟนกีฬาชาวไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้เห็น “เฟรม” ธนาคาร ไชยยาสมบัติ ยืนรับเหรียญรางวัลอยู่บนโพเดียม ด้วยความภาคภูมิใจ และ มีความสุข  


stadium

author

"เจมส์จินโญ่" ธัมมสาร อ่อนเกิดแก้ว

StadiumTH Content Creator / รักเชลซี พิคานย่า และ ทุกอย่างที่เป็นบราซิล