stadium

“อมรเทพ แววแสง” หนึ่งเดียวของไทยที่ได้เหรียญทองยิมนาสติกเอเชียนเกมส์

14 กันยายน 2566

ช่วงบ่ายวันหนึ่งผมได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนยังสำนักงานของ Stadium TH โดยการมาในครั้งนี้ผมมีนัดพูดคุยหรือสัมภาษณ์กับนักกีฬาระดับตำนานเอเชียนเกมส์คนหนึ่งในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ปี 1998 ที่ประเทศไทยของเราเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา ผมเชื่อนะครับว่าหากผมถามย้อนความทรงจำทุกท่านไปถึงการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนั้น หลายคนที่ได้ดูหรืออยู่ในช่วงเวลานั้นต้องตอบว่า

 

“นั่นคือเอเชียนเกมส์ที่ดีสุดของประเทศไทยทั้งในด้านการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันและผลงานของนักกีฬาทีมชาติไทย”

 

ที่ผมเชื่อเช่นนั้นก็เพราะว่าการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 1998 ทัพนักกีฬาไทยสามารถกวาดเหรียญทองมาได้ถึง 24 เหรียญทอง เป็นจำนวนเหรียญทองที่มากที่สุดที่ทีมชาติไทยทำได้ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์หนึ่งครั้ง เป็นผลงานที่ฉีกทุกสถิติของตัวเองที่ยืนยงมาจนทุกวันนี้ และในการแข่งขันครั้งนั้นก็มีประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องราวของ “หมู” อมรเทพ แววแสง นักยิมนาสติกทีมชาติไทย ที่สามารถคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์มาครองได้จากประเภทห่วง

 

ที่ผมต้องบอกว่าเป็นเหรียญทองประวัติศาสตร์นั้นเพราะอมรเทพคือนักกีฬายิมนาสติกคนแรกและคนเดียวที่คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์มาครองได้ ซึ่งนับตั้งแต่วันนั้นมาจนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครทำได้อีก ผมจึงหยิบเอาเรื่องราวของเจ้าตัวมาเล่าให้ทุกท่านได้รับทราบกันผ่านบทความชิ้นนี้

 

 

เส้นทางชีวิตที่เลือกเดินได้ของเด็กชายอมรเทพ

 

ทุกท่านเคยตั้งคำถามหรือไม่ครับว่าการที่มนุษย์คนหนึ่งจะประสบความสำเร็จ ไปสร้างประวัติศาสตร์หรือสร้างชื่อเสียงสร้างเรื่องราวระดับตำนานได้นั้นคนเหล่านี้ต้องผ่านเส้นทางชีวิตอะไรมาบ้าง แล้วความสำเร็จเหล่านั้นมันเกิดจากความบังเอิญหรือความตั้งใจ ความพยายามหรือฟ้าลิขิตเอาไว้แล้ว มันอาจไม่มีคำตอบที่ตายตัวเสมอไป แต่สำหรับ “หมู” อมรเทพ แววแสง แล้ว เส้นทางความสำเร็จทั้งหมดนั้นเจ้าตัวลิขิตได้เองครับ

 

ในวัยเด็ก “หมู” อมรเทพ แววแสง เติบโตในย่านแฟลตดินแดงโดยฐานะของครอบครัวนั้นก็ไม่ได้ดีมากนัก เจ้าตัวเรียนอยู่โรงเรียนขนาดเล็กในบริเวณนั้น เพื่อนฝูงก็มีมากมายหลากหลายรูปแบบครับ ดีร้ายปะปนกันไป จนกระทั่งในวัย 8 ขวบ อมรเทพจึงได้พบกับกีฬายิมนาสติกที่เปรียบเสมือนแสงนำทางให้กับตัวเองท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้ดีนัก

 

“ตอนเด็กผมเรียนโรงเรียนเทศบาลแถวสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง และทางเข้าโรงยิมเนเซียมของกีฬายิมนาสติกมันก็อยู่ตรงกับที่อยู่ผมพอดี มันเลยทำให้ผมได้เห็นการซ้อมของนักกีฬา เห็นพวกเขาตีลังกากัน มันเลยเกิดเป็นแรงบันดาลใจทำให้ผมอยากเล่นยิมนาสติกบ้าง”

 

“ผมเริ่มเล่นยิมนาสติกจริงจังประมาณช่วงเรียน ป.3 อายุประมาณ 8-9 ขวบ โดยก็ฝึกอยู่ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดงครับ และพอ ป.4 ก็เริ่มเข้าแข่งขันกีฬากรมพละศึกษาในนามโรงเรียนวิชากรและก็ได้รางชนะเลิศมา 3 ปีซ้อนจนได้มีโอกาสไปแข่งขันกีฬานักเรียนอาเซียนแล้วก็ไปคว้าเหรียญทองมาได้ครับ”

 

พี่หมู อมรเทพ แววแสง ย้อนเรื่องราวของตัวเองให้ผมฟังผ่านแววตาของคนที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างยาวนานแต่ก็จดจำได้ทุกรายละเอียดเสมือนกับว่านี่คือเหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่ไม่อาจลืมเลือน ซึ่งมันก็จริงนะครับเพราะว่าด้วยผลงานของพี่หมูในช่วงเวลาดังกล่าวมันร้อนแรงจนประตูทีมชาติไทยเปิดกว้างขึ้นสำหรับเจ้าตัว

 

 

ราชายิมนาสติกอาเซียน เจ้าพ่อเหรียญทองซีเกมส์

 

นักกีฬาทีมชาติไทยแทบทุกชนิดกีฬาเวทีแรกที่ต้องพิสูจน์ความสามารถของตัวเองเลยนั่นก็คือการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครับ เพราะนี่คือการแข่งขันที่เป็นจุดเริ่มในระดับนานาชาติแล้ว ซึ่งกีฬายิมนาสติกก็เช่นกัน พี่หมูนั้นเริ่มต้นติดทีมชาติไทยในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งแรกเมื่อปี 1989 ตรงกับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 15 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งแม้ว่าพี่หมูจะเป็นดาวรุ่งแต่ก็สามารถทำผลงานเคียงคู่กับยอดนักยิมนาสติกของไทยอย่าง “ธีรัช โพธิ์พานิช” ได้อย่างยอดเยี่ยม เจ้าตัวคว้ามาได้ 2 เหรียญทองจากประเภททีมชายและประเภทบาร์คู่

 

“การแข่งขันในครั้งนั้น พี่ธีรัชคว้าไปได้ 6 เหรียญทอง และมีอยู่เหรียญทองหนึ่งที่พี่เขาทำไม่ได้ นั่นก็คือประเภทบาร์คู่ซึ่งเหรียญทองนั้นมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งตัดหน้าคว้าไปได้ซึ่งเด็กคนนั้นคือผมเองครับ”

 

ผลงานในครั้งนั้นของพี่หมูทำให้เจ้าตัวกลายเป็นนักกีฬาที่ได้รับการจับตามองขึ้นมาทันที ชื่อของ อมรเทพ แววแสง ถูกกล่าวถึงในฐานะดาวรุ่งที่ถูกคาดหวังว่าจะมาสานต่อความยิ่งใหญ่ของยิมนาสติกไทยในเวทีการแข่งขันระดับอาเซียนนี้ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าความคาดหวังดังกล่าวจะไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด

 

การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 16 ปี 1991 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ “หมู” อมรเทพ แววแสง ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติไทย พี่หมูสามารถรักษาเหรียญทองประเภททีมชายเอาไว้ได้ ขณะที่ในประเภทบุคคลนั้นเจ้าตัวก็กวาดมาได้อีก 3 เหรียญทองจากประเภทห่วง, บาร์เดี่ยว และบาร์คู่ ทำให้ในกีฬาซีเกมส์ครั้งนั้นพี่หมูคว้าไปได้ทั้งสิ้น 4 เหรียญทอง

 

จากนั้นในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งถัดมาที่ประเทศสิงคโปร์ในปี 1993 พี่หมูก็นำทัพยิมนาสติกทีมชาติไทยเขย่าเวทีอาเซียนได้อีกครั้งด้วยการคว้าเหรียญทองมาได้อย่างมากมาย โดยเจ้าตัวรวมพลังกับเพื่อนร่วมทีมสามารถป้องกันเหรียญทองในประเภททีมชายเอาไว้ได้อีกสมัย รวมทั้งพี่หมูยังสามารถคว้าเหรียญทองประเภทบุคคลรวมอุปกรณ์ชายได้เป็นครั้งแรกอีกด้วยซึ่งเป็นเหรียญที่เจ้าตัวภูมิใจมากเป็นพิเศษ จากนั้นพี่หมูก็สามารถคว้าเหรียญทองในประเภทฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์และประเภทบาร์คู่ มาครองได้อีกทำให้ในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนั้นชื่อของ “หมู” อมรเทพ แววแสง ก็ถูกจารึกไว้ในฐานะ 4 เหรียญทองซีเกมส์อีกครั้ง

 

การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี 1995 ณ จังหวัดเชียงใหม่ คือเวทีที่พี่หมูสร้างชื่ออีกครั้งและทีมยิมนาสติกทีมชาติไทยก็ร่วมกันสร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจ ผมเองจำได้อย่างแม่นเลยครับว่าในช่วงเวลานั้นประเทศไทยคึกคักมาก ทุกความสนใจมุ่งสู่จังหวัดเชียงใหม่ กีฬามากมายถูกถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ ชื่อ อมรเทพ แววแสง คือหนึ่งในนักกีฬาที่อยู่บนพื้นที่สื่อทุกแขนง ด้วยผลงานการคว้าเหรียญทองทั้งหมด 4 เหรียญในประเภททีมชาย บุคคลรวมอุปกรณ์ บาร์คู่ และม้าหูที่ขึ้นโพเดียมอันดับหนึ่งคู่กับ “ศาสตรา สุวรรณษา”

 

จากนั้นในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งถัดมาที่ประเทศอินโดนีเซียในปี 1997 แม้ผลงานของยิมนาสติกทีมชาติไทยเริ่มจะตกลงแต่ พี่หมูก็ยังคงสามารถรักษามาตรฐานคว้ามาได้อีก 3 เหรียญทองจากประเภททีมชาย บุคคลรวมอุปกรณ์ และบาร์คู่ ก่อนที่พี่หมูจะกลับมาคว้าเหรียญทองซีเกมส์สุดท้ายได้การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 21 ปี 2001 ที่ประเทศมาเลเซียในประเภทห่วง ซึ่งเท่ากับว่าตลอดระยะเวลากว่า 12 ปีที่ อมรเทพ แววแสง มีชื่อลงทำการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ เจ้าตัวคว้าไปทั้ง 18 เหรียญทอง เป็นราชายิมนาสติกอาเซียนจวบจนทุกวันนี้

 

“การแข่งขันซีเกมส์ในยุคสมัยนั้นสำหรับผมนะ มันเหมือนกีฬาแห่งชาติไปแล้ว ผมไม่ได้ประมาทนะ เราแค่ซ้อมให้ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด พยายามไม่ให้มีอาการบาดเจ็บ แล้วเราก็ขึ้นไปโชว์ มันเหมือนไม่ได้ไปแข่งขันนะมันคือการไปแสดงโชว์ทั่วไป”

 

“สำหรับพี่เองนั้นมองข้ามซีเกมส์ไปแล้ว พี่ต้องการประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์มากกว่า”

 

 

เอเชียนเกมส์แห่งการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์

 

สำหรับเรื่องราวของพี่หมูในเวทีซีเกมส์ที่ผมเล่าไปนั้นก็เพื่อให้ทุกท่านเห็นว่า ในยุคนั้นเจ้าตัวนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในเวทีการแข่งขันระดับอาเซียน ก็อย่างที่พี่หมูบอกไปนั่นแหละครับว่าในเวทีซีเกมส์ก็เสมือนกับการแสดงโชว์มากกว่า เพราะด้วยมาตรฐานฝีมือที่เหนือกว่าชาติอื่นอย่างเห็นได้ชัดจึงทำให้ความท้าทายของเจ้าตัวนั้นอยู่ที่การแข่งขันในระดับทวีปเสียมากกว่า

 

อมรเทพ แววแสง เข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งแรกในปี 1990 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยเจ้าตัวไม่สามารถแทรกตัวไปคว้าเหรียญรางวัลใดๆ ได้เลย ก็แน่นอนครับเพราะแม้ว่าทีมชาติไทยจะสามารถทำผลงานได้ดีในการแข่งขันซีเกมส์แต่สำหรับเอเชียนเกมส์แล้วมันต่างกันมาก นักยิมนาสติกจากทีมชาติจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ ต่างคือสุดยอดฝีมือที่ผลัดกันคว้าเหรียญรางวัลในรายการนี้

 

“เอเชียนเกมส์ครั้งแรกที่กรุงปักกิ่งผมทำผลงานได้ไม่ดีนัก แต่ผมก็ได้ไปเห็นครับว่าประเทศชั้นนำเขาซ้อมและเตรียมตัวกันแบบไหน ทีมชาติจีนซ้อมแบบไหน ญี่ปุ่นและเกาหลีเขาเล่นอะไร ทำอะไร เราเองจะมีโอกาสพัฒนาได้แบบเขาหรือไม่ เพราะนักกีฬาพวกนี้บางคนอยู่ในเวทีการแข่งขันระดับโลกไปแล้ว”

 

พี่หมูเล่าให้ผมฟังถึงตอนไปทำการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 11 ปี 1990 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งเจ้าตัวยืนยันครับว่าแม้การแข่งขันในครั้งนั้นจะไม่ได้ประสบความสำเร็จในแง่ของผลการแข่งขัน แต่สำหรับการไปเปิดโลกศึกษานักกีฬาระดับท็อปของเอเชียนั้นมันมีประโยชน์จริง

 

อีก 4 ปีถัดมา อมรเทพ แววแสง ก็มีโอกาสลงแข่งขันเอเชียนเกมส์อีกครั้งและดูเหมือนว่าในการแข่งขันครั้งนั้นจะฝังใจพี่หมูอยู่มาก เจ้าตัวบอกผมว่ามันอีกนิดเดียวเท่านั้นที่จะมีเหรียญรางวัลติดมือกลับมาฝากแฟนกีฬาชาวไทย แต่ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ฝันสลายลงไปในพริบตา

 

“เอเชียนเกมส์ครั้งนั้นผมมีความพร้อมมากนะแต่ทำได้แค่อันดับที่ 4 ในประเภทห่วง น่าเสียดายที่รอบชิงชนะเลิศพลาดไปนิดเดียว ตอนรอบคัดเลือก 2 รอบแรกผมทำคะแนนมาเป็นอันดับที่ 1 เลยนะ ชนะจีน เกาหลี ญี่ปุ่นเลย แต่ในรอบสุดท้ายมันก็มาเกิดความผิดพลาดขึ้นตอนท่าจบ แขนพี่งอเล็กน้อยทำให้โดนตัดคะแนนและแพ้ไปแค่ 0.01 คะแนน ไม่เช่นนั้นก็ติด 1 ใน 3 แล้ว”

 

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ใน 2 ครั้งแรกของ “หมู” อมรเทพ แววแสง เปรียบเสมือนการสร้างประสบการณ์ให้กับตัวเองเท่านั้น ความรู้สึกเสียดาย ผิดหวัง เจ็บใจ ยังตามติดเจ้าตัวอยู่ตลอดเวลาก่อนถึงการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งถัดไป

 

 

"Third Time Lucky" สำนวนที่เป็นจริงสำหรับ “อมรเทพ แววแสง”

 

หลังจากที่พี่หมูต้องผิดหวังจากการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์มาแล้วถึงสองครั้งสองครา เจ้าตัวก็กลับมาเปลี่ยนแปลงระบบการฝึกซ้อมใหม่ มีการตระเวนแข่งขันในระดับนานาชาติมากขึ้น มีการนำเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬาและจิตวิทยาเข้ามา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับตัวเองให้ทันกับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 ที่ประเทศไทยของเราจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เรียกได้ว่าแม้พี่หมูจะต้องพบกับความผิดหวังแต่ก็ไม่จมปลักอยู่กับมัน

 

“ในยุคนั้นท่าน ชัยรัตน์ คำนวณ เป็นนายกสมาคมกีฬายิมนาสติก ท่านก็วางแผนว่าเราต้องตระเวนแข่งขันเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากขึ้น ท่านจัดโปรแกรมการฝึกซ้อมใหม่มีการเอาวิทยาศาสตร์การกีฬาและจิตวิทยาเข้ามา ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีใครทำนะครับ”

 

“การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นมีผลมากนะ ผมมีระบบการฝึกซ้อมที่ดีขึ้น มีอาการบาดเจ็บลดลง และมีสมาธิที่ดีขึ้นมาก มันเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จเลยก็ว่าได้”

 

อมรเทพ แววแสง เริ่มพัฒนาฝีมือขึ้นไปอีกระดับจนนักกีฬาด้วยกันต่างเรียกเจ้าตัวว่า “มิสเตอร์ริง” อันแสดงถึงความเก่งกาจในการเล่นอุปกรณ์ห่วงในยุคนั้น พี่หมูสามารถคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันยิมนาสติกชิงแชมป์เอเชียหรือเอเชียน อาร์ทิสติค ยิมนาสติก แชมเปียนชิพส์ (Asian Artistic Gymnastics Championships) ในปี 1996 โดยพ่ายแพ้ 2 นักกีฬาจีนเจ้าภาพและหนึ่งในนั้นคือ “หวง ซู” คู่ปรับคนสำคัญ จากนั้นในปีถัดมาพี่หมูก็ได้มีโอกาสไปแข่งขันในรายการใหญ่อย่างยิมนาสติกชิงแชมป์โลกหรือเวิลด์ อาร์ทิสติค ยิมนาสติก แชมเปียนชิพส์ (World Artistic Gymnastics Championships) ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์

 

“เพื่อนนักกีฬาด้วยกันจะรู้ดีว่าผมนั้นถนัดในประเภทห่วงนะ ผมได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชียก็มาจากประเภทนี้ ช่วงนั้นผมเตรียมความพร้อมสำหรับเอเชียนเกมส์เป็นอย่างดี มีโอกาสไปแข่งขันยิมนาสติกชิงแชมป์โลกที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และถ้าจำไม่ผิดผมได้อันดับที่ 9 ของโลกเลยนะ”

 

“เอเชียนเกมส์ 98 ผมเตรียมตัวฝึกซ้อมมาอย่างดี ลงแข่งขันเก็บประสบการณ์มาตลอดทุกระดับทั้งชิงแชมป์โลกและชิงแชมป์เอเชีย หรือรายการระดับนานาชาติทั้งแพนแปซิฟิคเกมส์ ไชน่า คัพ พบเจอนักกีฬาหลากหลาย แพ้ชนะกันมาหมดแล้ว ผมไม่มีอะไรต้องกลัวหรือกังวลมีแต่เป้าหมายที่จะคว้าเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ให้ได้เท่านั้น”

 

ก็อย่างที่พี่หมูกล่าวมานั่นแหละครับสำหรับเจ้าตัวแล้วทุกอย่างมันพร้อมมาหมดแล้ว เจ้าตัวยกระดับตัวเองจนสามารถคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันยิมนาสติกชิงแชมป์เอเชียมาได้ การแข่งขันยิมนาสติกชิงแชมป์โลกก็ได้ไปสัมผัสเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาแล้ว ทุกอย่างมันถูกปูทางมาเพื่อสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ในบ้านของตัวเอง ซึ่งคู่แข่งขันสำคัญในตอนนั้นก็คงหนีไม่พ้น “หวง ซู” จากประเทศจีนเจ้าของเหรียญเงินชิงแชมป์เอเชีย และ “โยชิฮิโร่ ไซโตะ” จากประเทศญี่ปุ่นเจ้าของอันดับ 8 ในประเภทห่วงของยิมนาสติกชิงแชมป์โลก 2 นักยิมนาสติกที่ขับเคี่ยวกันมาตลอดในรายการระดับนานาชาติ

 

แต่การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 นั้น มันคือวันของ “หมู” อมรเทพ แววแสง อย่างแท้จริงเมื่อเจ้าตัวเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมและทำคะแนนไปได้ 9.80 คะแนน เอาชนะทั้ง “หวง ซู” และ “โยชิฮิโร่ ไซโตะ” ก้าวขึ้นไปคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ และยังไม่มีใครทำได้มาจนทุกวันนี้  

 

“ผมจำบรรยากาศวันนั้นได้ดีเลยครับ ช่วงนั้นเวลาซ้อมก็มีคนเข้ามาให้กำลังใจมากมาย มันทำให้ผมรู้สึกภูมิใจมาก ในวันแข่งผมสามารถคว้าเหรียญทองได้แบบไม่มีใครคาดคิด เขาคาดการณ์กันว่าที่อิมแพคอารีน่า ในวันนั้นทีมชาติไทยน่าจะได้เหรียญทองจากมวยสากลสมัครเล่นเพราะแข่งขันวันเดียวกัน แต่ผมดันมาตัดหน้าไปซะก่อน”

 

 

ชีวิตหลังคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์

 

หลังจากที่พี่หมูสามารถคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์จากยิมนาสติกประเภทห่วงในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 มาครองได้แล้วนั้น เจ้าตัวก็หยุดเล่นให้ทีมชาติไทยไปหลายปี จนกลับมาอีกครั้งในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 21 ปี 2001 ที่ประเทศมาเลเซียด้วยความจำเป็น และแม้เจ้าตัวจะสามารถทำผลงานด้วยการคว้าเหรียญทองประเภทห่วงเป็นการส่งท้ายมหกรรมกีฬาของชาวอาเซียนได้สำเร็จ แต่พี่หมูก็มีสิ่งที่ต้องแลก

 

“หลังจากคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 98 ได้แล้ว ผมรู้สึกหมดพลังเลยนะ เพราะเราได้ทุ่มเททุกอย่างไปหมดแล้ว มีเท่าไหร่ใส่หมด แล้วมีอาการบาดเจ็บติดตัวมาด้วย อีกทั้งสมาคมยิมนาสติกแห่งประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งผู้บริหารและโค้ช ผมก็เลยตัดสินใจเลิกเล่นก่อนการคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์”

 

“จริงๆ ผมเสียดายนะถ้านึกย้อนกลับไป แต่สมัยนั้นผมดันไปยึดติดกับความรู้สึกที่ว่าพอมีการเปลี่ยนแปลงแล้วต่อไปใครจะดูแลเรา ใครจะสนับสนุนเรา เขายังต้องการเราอยู่หรือ คำถามเหล่านี้มันรบกวนจิตใจตลอดครับเลยตัดสินใจพักการเล่นทีมชาติไว้ก่อน จนการแข่งขันซีเกมส์ 2001 ที่ประเทศมาเลเซียผมก็ได้กลับเข้ามาอีกครั้งด้วยความจำเป็น ตอนนั้นผมอยู่ในกลุ่มสตาฟฟ์โค้ชมาแล้วเป็นปี แต่ด้วยความที่ศักยภาพของนักกีฬาในตอนนั้นยังไม่อาจพัฒนาขึ้นมาได้ทัน ผมจึงถูกผลักดันให้กลับมาลงสนามอีกครั้ง”

 

“ตอนนั้นเวลาผมจำกัดมากนะครับ การเข้ามาแทนที่ในช่วงก่อนถึงการแข่งขันไม่นานมันมีความเสี่ยงสูงแต่ก็ต้องทำเพื่อจะรักษาเหรียญทองเอาไว้ แม้ผมจะได้เหรียญทองจากประเภทห่วงมาครองได้เป็นเหรียญส่งท้าย แต่ผมก็มีอาการบาดเจ็บที่หัวไหล่ติดตัวมาด้วย”

 

ครับก็อย่างที่พี่หมูกล่าวไปชีวิตหลังจากคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 1998 ได้แล้วเจ้าตัวก็ผันตัวไปเป็นโค้ชก่อนจะถูกผลักดันให้กลับมาลงสนามอีกครั้ง ซึ่งแม้จะทำผลงานได้เป็นที่น่าพอใจแต่พี่หมูก็มีอาการบาดเจ็บติดตัวมาด้วย และอาการบาดเจ็บนี้จะส่งผลอย่างไรต่อไปกันนะ

 

 

การจากลาทีมชาติไทยด้วยความเดียวดายและเจ็บปวด

 

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 2002 ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ชื่อของ อมรเทพ แววแสง ก็กลับเข้ามาสู่ทีมชาติไทยอีกครั้ง เพราะเจ้าตัวมีผลงานเป็นถึงแชมป์เก่านั่นจึงทำให้ทางสมาคมยิมนาสติกแห่งประเทศไทยตัดสินใจส่งพี่หมูลงทำการแข่งขันอีกครั้ง

 

“การจะเข้าร่วมเอเชียนเกมส์มีเกณฑ์อยู่ครับ เช่น คุณต้องเคยได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันครั้งก่อนหน้านี้ หรือเคยได้เหรียญรางวัลในรายการสำคัญ หรือมีผลงานที่ส่งไปแข่งขันแล้วสามารถหวังเหรียญรางวัลได้ ซึ่งแน่นอนว่าผมก็เข้ากฎเกณฑ์แทบทุกข้อทางสมาคมจึงส่งชื่อผมไปอีกครั้ง”

 

“ผมมีอาการบาดเจ็บที่หัวไหล่รบกวนมาตั้งแต่การแข่งซีเกมส์ปีก่อนหน้านั้น แต่ก็รักษาจนอาการตีขึ้นมาก สามารถฝึกซ้อมได้ตามปกติ ผมเองก็มีความมั่นใจนะว่าจะคว้าเหรียญรางวัลได้ แต่ก่อนการแข่งขันแค่ 2 วันอาการบาดเจ็บก็กลับมาอีก อาจจะเกิดจากความเครียด หรือที่นอนที่บ้านพักนักกีฬา ผมทำทุกทางนะฉีดยาก็แล้วแต่มันก็ไม่หาย”

 

“อีกทั้งการไปแข่งเอเชียนเกมส์ครั้งนั้นด้วยงบประมาณที่จำกัดทำให้ผมไม่มีผู้จัดการทีมหรือทีมงานคอยดูแล ต้องทำทุกอย่างเองแม้แต่ประชุมการแข่งขัน ซึ่งในตอนนั้นเกิดมีการเปลี่ยนแปลงเวลาแข่งขันแบบกะทันหัน ทำให้ผมไม่สามารถวอร์มร่างกายได้ทัน พอขึ้นไปเล่นมันก็มีอาการบาดเจ็บอีกจนไปต่อไม่ไหวเล่นไปได้แค่ 3 ท่าเท่านั้น”

 

“นั่นคือจุดจบของอมรเทพครับ ผมสร้างความผิดหวังให้กับคนไทย พี่ๆ สื่อมวลชน สมาคมยิมนาสติกแห่งประเทศไทย แต่ไม่มีใครเคยรับรู้เบื้องหลังความล้มเหลวในครั้งนั้น ผมได้แต่แบกรับเอาไว้และเดินออกจากทีมชาติไทยไปอย่างเงียบๆ”

 

ครับและนี่คือเรื่องราวของ “หมู” อมรเทพ แววแสง นักยิมนาสติกทีมชาติไทย ที่สามารถคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ประวัติศาสตร์มาครองได้จากประเภทห่วง นักกีฬาที่เป็นฮีโร่ของใครหลายคน เส้นทางชีวิตที่เลือกเดินได้โดยใช้กีฬานำพาชีวิตไปสู่จุดสูงสุด แม้ในตอนจบอาจเป็นการจากลาด้วยความผิดหวัง แต่ผมก็ไม่อยากให้ทุกคนลืมเลือนเขาครับ


stadium

author

ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)

ผู้ชื่นชอบการรวบรวมข้อมูลนักกีฬาไทย และหลงไหลในกาแฟ ธรรมชาติ และหมาแมว