stadium

5 มาสคอตในความทรงจำของการแข่งขันเอเชียนเกมส์

7 กันยายน 2566

กีฬาเอเชียนเกมส์แต่ละครั้งนอกจากเรื่องราวในสนามแข่งขันจะเป็นที่สนใจและน่าติดตามแล้ว อีกหนึ่งกิมมิคที่สำคัญไม่แพ้กันคือมาสคอตประจำการแข่งขัน อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นตัวตนของประเทศเจ้าภาพ นอกจากนี้มาสคอตยังถูกนำไปผลิตเป็นสินค้าของที่ระลึกประจำการแข่งขันอีกด้วย ซึ่งหากเจ้าภาพสามารถออกแบบมาสคอตได้อย่างมีเอกลักษณ์ สวยงามน่าสะสม ก็จะกลายเป็นรายได้ของฝ่ายจัดการแข่งขันอีกช่องทางหนึ่ง

 

 

สำหรับมาสคอตประจำการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์นั้นเริ่มใช้ในการแข่งขันครั้งที่ 9 ปี 1982 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย อ้างอิงตามการบันทึกข้อมูลของเว็บไซต์สภาคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งเอเชียหรือโอซีเอ (OCA) โดยมาสคอตตัวแรกนี้มีชื่อว่า “อาปู (Appu)” เป็นช้างสีขาวมีสัญลักษณ์เอเชียนเกมส์สีแดงอยู่ที่บริเวณกลางหน้าผาก และหลังจากนั้นเป็นต้นมามาสคอตก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาเอเชียนเกมส์

 

นับจนถึงปัจจุบัน มหกรรมกีฬาแห่งทวีปเอเชียมีมาสคอตออกมามากมายหลายเวอร์ชัน ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์และบ่งบอกถึงตัวตนของเจ้าภาพ แล้วมาสคอตของการแข่งขันครั้งไหนที่ติดตา ตรึงใจบ้าง ติดตามได้ที่นี่

 

 

"ป๊อปโป" กับ "กุ๊กกู" นกพิราบขาวคู่แห่งสันติภาพ

 

มาสคอตประจำการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 ปี 1994 ณ เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ถูกออกแบบโดยเน้นให้มีความเป็นสัญลักษณ์ของเมืองฮิโรชิม่าที่เป็นเมืองแห่งสันติภาพ และมาสคอตดังกล่าวจะต้องสื่อถึงความเป็นเอเชียนเกมส์ที่เน้นเรื่องความสามัคคี ซึ่งในที่สุดแล้ว “ซูซูมุ มัตสึชิตะ” ศิลปินมังงะชื่อดังของญี่ปุ่นผู้รับหน้าที่ในการออกแบบจึงได้สร้างสรรค์ "ป๊อปโป (Poppo)" กับ "กุ๊กกู(Cuccu)" คือนกพิราบขาวคู่ โดย “ป๊อปโป” คือ นกพิราบเพศผู้ใส่ชุดสีฟ้า ส่วน "กุ๊กกู" คือ นกพิราบเพศเมียใส่ชุดสีชมพู เพื่อเป็นตัวแทนที่สื่อถึงสันติภาพและความสามัคคีตามลำดับ

 

 

"ไชโย” มาสคอตแห่งความทรงจำ

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานครประเทศไทย และแน่นอนว่ามาสคอตในครั้งนี้ย่อมเป็นหนึ่งในมาสคอตสุดเจ๋งในใจของใครหลายคนแน่นอนโดยเฉพาะแฟนกีฬาที่ได้รับชมหรืออยู่ในบรรยากาศของการแข่งขันในครั้งนั้น สำหรับมาสคอตของกีฬาเอเชียนเกมส์ที่ประเทศไทยในครั้งนั้นมีชื่อว่า ”ไชโย”

 

“ไชโย” คือช้างใส่เสื้อสีเหลืองกางเกงแดงพร้อมหมวกโบราณ ที่แสนน่ารัก ยิ้มแย้มแจ่มใสเปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรี อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของคนไทย ซึ่งชื่อ “ไชโย” นั้นเป็นการสื่อความหมายถึงความสำเร็จและชัยชนะ และก็ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะสามารถตะโกนคำว่า “ไชโย” ออกมาได้สุดเสียงเพราะเจ้าภาพสามารถผ่านบททดสอบที่แสนท้าทายในการจัดการแข่งขันครั้งนั้นไปได้

 

 

“เชียงเหอ รู่ อี้ เล่อ หยางหยาง” แพะ 5 ตัวอันมีความหมายลึกซึ้ง

 

มาสคอตประจำการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 ปี 2010 ณ เมืองกว่างโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ถูกนำเสนอด้วยแนวคิดที่แปลกใหม่นั่นก็คือการใช้แพะถึง 5 ตัวมาเป็นมาสคอตประจำการแข่งขันเพื่อสื่อถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองเจ้าภาพ โดยแพะแต่ละตัวนั้นจะมีบุคลิกที่แตกต่างกันไปและมีชื่อเรียกตามภาษากวางตุ้งว่า “เล่อ หยางหยาง”, “อาเชียง”, “อาเหอ”, “อารู่” และ “อาอี้”

 

“เล่อ หยางหยาง” แพะตัวสีเหลืองถูกวางตำแหน่งให้เป็นผู้นำของแพะทั้ง 5 ตัวนี้ และเมื่อทั้ง 5 รวมตัวกันจะเกิดเป็นคำว่า “เชียงเหอ รู่ อี้ เล่อ หยางหยาง” ซึ่งสื่อความหมายถึงสันติภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความสุขที่ยิ่งใหญ่ นั่นหมายความว่าการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้จะก่อให้เกิดมิตรภาพและความสุขแก่ประชาชนชาวเอเชีย

 

 

แมวน้ำสามพี่น้อง สัญลักษณ์แห่งสันติภาพระหว่าง 2 เกาหลี

 

"บาราเมะ", "ซุมุโระ" และ "วิชอน" คือพี่น้องแมวน้ำที่เป็นมาสคอตของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17 ปี 2014 ณ เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ โดยมาสคอตทั้ง 3 ตัวนี้จะสื่อถึงสายลม การเต้นรำ และแสงสว่าง โดยมาสคอตทั้ง 3 ตัวยังเปรียบเสมือนสัญลักษณ์การเชื่อมความสัมพันธ์และสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี สำหรับพี่น้องแมวน้ำทั้งสามนี้ "วิชอน" คือพี่คนโต ตามมาด้วย "บาราเมะ" พี่คนรองและ "ซุมุโระ" คือน้องคนสุดท้องและเป็นน้องสาวแสนน่ารักของพี่ชายทั้งสอง

 

 

“บินห์บินห์”, “อาตุง” และ “กาก้า” ความเป็นปึกแผนของชาวเอเชีย

 

มาสคอตประจำการแข่งขันกีฬากีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี 2018 เจ้าภาพอินโดนีเซียได้ทำการเปิดตัว “บินห์บินห์”, “อาตุง” และ “กาก้า” สำหรับ “บินห์บินห์” คือนกปักษาสวรรค์สีเหลือง คล้ายกับนกการเวกอันเป็นนกประจำถิ่นของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่ง “บินห์บินห์” จะใส่เสื้อกั๊กลายผ้าอาสมัตจาก เซาธ์ ปาปัวและทำหน้าที่สื่อความหมายถึงความมีไหวพริบ

 

“อาตุง” คือ กวางบาวีน อาศัยอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศอินโดนีเซีย โดย “อาตุง” จะสวมใส่โสร่งลายผ้าบาติกจากกรุงจาการ์ตา เป็นมาสคอตที่แสดงถึงความรวดเร็ว สู้ไม่มีถอย ส่วนมาสคอตตัวสุดท้ายคือ “กาก้า” แรดท้องถิ่นตัวใหญ่ที่มีอยู่มากในภาคตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย ใส่ผ้าพันคอซองเกทลายดอกไม้ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายแบบชาวปาเลมบังที่มีชื่อเสียง โดย “กาก้า” จะสื่อถึงความแข็งแรง

 

จะเห็นได้ว่าประเทศอินโดนีเซียเจ้าภาพนั้น เลือกใช้มาสคอตที่สื่อถึงภูมิภาคต่างๆ ในประเทศตนเองอันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นปึกแผ่นของประเทศและแผ่ขยายไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียอันกว้างใหญ่นี้

 

ครับและนี่คือ 5 มาสคอตสุดเจ๋งของเอเชียนเกมส์ ที่มีทั้งความน่ารัก สดใส แสดงถึงเอกลักษณ์ของเจ้าภาพอย่างชัดเจน และสื่อความหมายได้อย่างลึกซึ้งตรึงใจ


stadium

author

ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)

ผู้ชื่นชอบการรวบรวมข้อมูลนักกีฬาไทย และหลงไหลในกาแฟ ธรรมชาติ และหมาแมว