stadium

อีสปอร์ต : เอเชียนเกมส์ย่างก้าวสำคัญของวงการเกมปูทางสู่โอลิมปิก

1 กันยายน 2566

หลังจากประสบความสำเร็จจากการเป็นกีฬาสาธิตในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ 5 ปีก่อน ทำให้ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่จะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 23 กันยายนนี้ อีสปอร์ต จึงเป็น 1 ใน 2 ชนิดกีฬาน้องใหม่ที่ถูกบรรจุให้มีการชิงเหรียญรางวัลเป็นครั้งแรก

 

 

เป็นมากกว่าเกม

 

กีฬาอีสปอร์ต หรือ (Electronic Sports) เป็นกีฬาอิเลคโทรนิคส์แข่งขันกันในรูปแบบของวิดิโอเกม เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี 1974 ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นการแข่งขันเกม "สเปซวอร์" (Spacewar) จากนั้นอีก 2 ปีถัดมาโลกก็ได้รู้จักกับเกมตู้ หรือเกมแนว Arcade ที่ผลิตโดยเซก้า ผู้ผลิตเกมส์เจ้าดังของญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยนั้น

 

การเติบโตของอีสปอร์ตยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง รูปแบบของเกมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในปี 1988 อินเตอร์เน็ตได้เริ่มเข้ามามีบทบาทกับวงการเกมมากขึ้น โดย Netrek ถือเป็นเกมออนไลน์เกมแรกที่จัดการแข่งขัน และนี่คือย่างก้าวสำคัญที่ทำให้อีสปอร์ตพัฒนาขึ้นแบบก้าวกระโดด ผู้พัฒนาเกมนั้นผลิตแนวเกมที่หลากหลายลงบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้ง คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือและเกมคอนโซล 

 

มีการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ตลอดจนการแข่งขันแบบทัวร์นาเมนต์ชิงเงินรางวัล หรือระบบลีกอาชีพในระดับ สมัครเล่น, กึ่งอาชีพ และแบบมืออาชีพ มีการจัดการบริหารสโมสรในรูปแบบของมืออาชีพ มีกลุ่มแฟนคลับเฉพาะทีมและที่สำคัญคือมีสร้างอะคาเดมีของแต่สโมสรรวมไปถึงการถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านออนไลน์ สร้างรายได้มหาศาลไม่แพ้กีฬาใดในโลก

 

ขณะเดียวกันเหตุผลที่อีสปอร์ตเป็นมากกว่าการเล่นเกมทั่วไป เพราะนอกจากอุปกรณ์กีฬา (เมาส์, คีย์บอร์ด, หูฟัง, จอยคอนโทรล​ ฯลฯ) ที่ต้องมีคุณภาพระดับสูงแล้ว นักกีฬาก็ต้องปฏิบัติตัวตามแบบนักกีฬามืออาชีพ ไม่ใช่การเล่นเกมเพื่อผ่อนคลาย แต่ต้องมีการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ทำงานเป็นทีม คิด วิเคราะห์ เพื่อวางแผนพาทีมบรรลุเป้าหมาย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งจำเป็นและไม่แตกต่างไปจากการเล่นกีฬาชนิดอื่น ๆ 

 

สำหรับอีสปอร์ต ในทวีปเอเชียถูกเสนอให้เป็นกีฬาครั้งแรกในปี 2003 โดยเป็นชนิดกีฬาลำดับที่ 99 ก่อนจะถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นลำดับที่ 78 ในปี 2008 และในปี 2018 ถูกบรรจุให้เป็นกีฬาสาธิตในเอเชียนเกมส์เป็นครั้งแรก

 

ในส่วนของประเทศไทย เริ่มมีการพยายามผลักดันให้เป็นกีฬาครั้งแรกเมื่อปี 2013 มีการก่อตั้งสมาคมไทยอีสปอร์ตขึ้น พร้อมเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์อีสปอร์ตนานาชาติ และได้มีการส่งนักกีฬาไปแข่งขันในระดับนานาขาติในนามของทีมชาติไทย กระทั่งในปี 2017 การพยายามผลักดันเป็นผลสำเร็จ หลังได้รับการเห็นชอบจากการกีฬาแห่งประเทศไทยและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รับรองให้อีสปอร์ตเป็นกีฬา พร้อมมีการเปลี่ยนชื่อจากสมาคมไทยอีสปอร์ตเป็นสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย

 

 

จากกีฬาสาธิตสู่การชิงเหรียญเต็มรูปแบบ

 

กีฬาอีสปอร์ตในเอเชียนเกมส์ ​ครั้งที่ 19 จะเป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุให้มีการชิงเหรียญรางวัล หลังจากเมื่อ 5 ปีก่อนที่อินโดนีเซีย อีสปอร์ต ถูกกำหนดให้เป็นเพียงกีฬาสาธิต

 

สำหรับโปรแกรมของกีฬาอีสปอร์ต จะแข่งขันกันที่หางโจว อีสปอร์ตส์ เซ็นเตอร์  ระหว่างวันที่ 24 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม ชิงชัยทั้งหมด 7 เหรียญทอง จาก 7 เกม ประกอบด้วย ฟีฟ่าออนไลน์ 4, เอโอวี, พับจี โมบาย, สตรีท ไฟต์เตอร์, โดต้า 2, ดรีม ทรี คิงดอมส์ 2 และ ลีก ออฟ เลเจนด์ โดยรูปแบบการเล่นของแต่เกมส์เป็นอย่างไร ขออธิบายพอสังเขป

 

ฟีฟ่าออนไลน์ 4 : เป็นเกมส์แนวกีฬาฟุตบอลที่มีความสมจริงทั้งภาพและเสียง รวมไปถึงนักเตะ, สโมสร รวมถึงกฎกติที่ใช้ในการแข่งขันก็อ้างอิงมาจากฟุตบอลในชีวิตจริง 

 

เอโอวี : ย่อมาจาก Arena of Valor หรือที่ในบ้านเราเรียกว่า ROV เป็นเกมส์แนว MOBA (Multiplayer Online Battle Arena) บนมือถือ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเล่นง่ายและใช้เวลาไม่นาน แข่งขันกันเป็นทีม 5 คน ใช้กลยุทธ์และการทำงานเป็นทีม เพื่อโจมตีป้อมหลักฝ่ายตรงข้ามได้ก่อนเป็นผู้ชนะ ได้รับความนิยมในทวีปเอเชียอย่าง ไต้หวัน เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย แต่ในเวอร์ชั่นเอเชียนเกมส์นั้นจะเป็นการรวมกันของ 2 เกมอย่าง Arena of Valor และ Honor of Kings ที่มีรูปแบบการเล่นเหมือนกัน ต่างกันเพียงแค่ตัวละคร โดยในเวอร์ชั่นเอเชียนเกมส์จะผสมฮีโร่ของทั้ง 2 เกมส์เข้าด้วยกัน

 

พับจี โมบาย : เกมแนว MOBA ที่พัฒนามาจาก PC เป็นเกมแนว Battle Royale ผู้เล่นต่อสู้กับผู้เล่นคนอื่นเพื่อหาผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น เริ่มต้นผู้เล่นจะมาเพียงตัวเปล่าถูกส่งลงไปบนเกาะ ไปตามหาอาวุธบนเกาะ ซึ่งตัวเกมจะสุ่มกระจายอาวุธและไอเทมที่จำเป็นต้องใช้ไปทั่วแผนที่เพื่อให้ผู้เล่นได้เก็บเพื่อความแข็งแกร่งสำหรับการเอาตัวรอด

 

สตรีท ไฟต์เตอร์ : เป็นเกมต่อสู้ในตำนาน เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่ายจะเลือกตัวละครในเกมส์มาเพื่อต่อสู้กันแบบ 1-1 โดยใช้ท่าไม้ตายและทักษะของตัวละคร

 

โดต้า 2 : ต้นแบบเกมส์ MOBA แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ทีมและมีสมาชิกร่วมทีม 5 คน เลือกตัวละครมาเพื่อต่อสู้และตีป้อม คล้าย ๆ กับ เอโอวี แตกต่างกันที่ตัวละครและแพลตฟอร์มที่ใช้แข่งขัน แต่โดต้า 2 จะแข่งขันกันผ่านคอมพิวเตอร์

 

ดรีม ทรี คิงดอมส์ 2 : เป็นเกมแนว MOBA ผสม RPG ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศจีน และคงไม่น่าแปลกใจถ้าหากว่าเหรียญทองจะเป็นของเจ้าภาพ เนื่องจากตัวละครในเกมส์นั้นมาจากวรรณคดีสามก๊ก ซึ่งแต่ละตัวก็มีทักษะความสามารถที่แตกต่างกัน โดยรูปแบบการแข่งขันนั้นมีทั้งแบบ ​5 ต่อ 5 และ 10 ต่อ 10 และเพื่อให้ภารกิจสำเร็จนั้นจะต้องอาศัยการวางกลยุทธ์และอาศัยทีมเวิร์คตามสไตล์เกมส์ MOBA 

 

ลีก ออฟ เลเจนด์ : หรือ LoL เป็นเกมแนว MOBA ที่ได้รับความนิยมในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป ก่อนจะกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก โดยตัวเกมนั้นออกแบบให้มุมมองของผู้เล่นเป็นบุคคลที่ 3 โดยผู้เล่นจะทำการเลือกแชมเปี้ยน (Champion) ซึ่งเป็นตัวละครที่จะถูกบังคับโดยผู้เล่นเองและจะแบ่งเป็น 2 ทีม ทีมละ 5 คน โดยมีเป้าหมายที่จะบุกเข้าไปทำลายฐานทัพหรือ Nexus ของฝ่ายตรงข้าม 

 

 

อีสปอร์ตไทย ลุ้น 3 เกมส์ ตั้งเป้า 1 เหรียญทอง

 

ในส่วนของสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าไว้ที่ 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน

 

ความหวังสูงสุดอยู่ที่เกมส์ฟีฟ่า ออนไลน์ 4 ได้ผู้เล่นตัวหลักอย่าง “TDKeane” หรือ “คีน” ธีเดช ทรงสายสกุล โปรเพลเยอร์ชื่อดังระดับแชมป์โลก นำทัพไปลุ้นเหรียญทอง โดยคู่แข่งสำคัญคือ เกาหลีใต้

 

นอกจากนี้ยังมีลุ้นจากอีก 2 เกมส์ จาก พับจี โมบาย ทีมไทยใช้ผู้เล่นจากทีมแวมไพร์ อีสปอร์ต ที่เพิ่งคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 2 ได้เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ส่วนอีกหนึ่งความหวังมาจากเกมส์ เอโอวี หรือ อาโอวี ใช้ผู้เล่นจากทีมเบค่อน ไทม์ แต่ละคนล้วนมีประสบการณ์ในระดับโลกมาแล้ว

 

ไม่ว่าผลงานในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ของนักกีฬาอีสปอร์ตทีมชาติไทยจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่ากระแสตอบรับให้ครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งประวัติศาสตร์ของวงการอีสปอร์ตในทัวร์นาเมนต์ระดับทวีปเพื่อปูทางไปสู่โอลิมปิกอย่างแน่นอน


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ