23 สิงหาคม 2566
กีฬา อีกหนึ่งภาพสะท้อนที่เผยถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศของชายและหญิง แต่เดิมปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศแห่งวงการกีฬา มักไม่ค่อยถูกตระหนักถึงเท่าไหร่นัก แต่ในปัจจุบันปัญหานี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากขึ้น รวมทั้งมีการขับเคลื่อนและพัฒนาโดยองค์กรใหญ่ๆ หรือการเรียกร้องจากกลุ่มของนักกีฬาหญิงเอง ส่งผลให้ความเท่าเทียมทางเพศแห่งวงการกีฬาก้าวไปได้ไกลกว่าแต่ก่อนมาก และยังคงก้าวต่อไปเรื่อยๆ
หางโจว 2022 กับความเท่าเทียมทางเพศ
มหกรรมกีฬาแห่งทวีปเอเชียอย่างเอเชียน เกมส์ 2022 ได้ให้ความสำคัญ และกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงอีกหนึ่งขั้นให้กับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการเรียกร้องจากสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียให้มีการตระหนักถึงความสำคัญ และต้องการสนับสนุนนักกีฬาหญิงให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขัน และมีบทบาทมากยิ่งขึ้น จึงไม่มีการแบ่งแยก หรือจำกัดการเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมสำหรับทุกเพศ นั่นหมายความว่านักกีฬาหญิงสามารถเข้าร่วมแข่งขันกีฬาทุกชนิดได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอง ที่จะช่วยยกมาตรฐานการแข่งขัน และสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่านักกีฬาหญิงทั่วเอเชีย
หากจะพูดให้เห็นภาพว่านักกีฬาหญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งเพิ่มขึ้นอย่างไร จะยกตัวอย่างจากกีฬายูโด เมื่อดูจากสถิติจำนวนของผู้เข้าเเข่งขันเอเชียน เกมส์ ในปีที่ผ่าน ๆ มา จะพบว่ามีช่องว่างระหว่างเพศหญิงและเพศชายน้อยลงเรื่อย ๆ โดยเอเชียน เกมส์ 2014 มีจำนวนนักกีฬาชาย 124 นักกีฬาหญิง 81 คน เอเชียน เกมส์ 2018 มีจำนวนนักกีฬาชาย 130 นักกีฬาหญิง 94 คน และเอเชียน เกมส์ ในปีนี้ มีการแข่งขัน 7 พิกัดน้ำหนักเท่ากัน รวมทั้งมีการแข่งประเภททีมผสมอีกด้วย ซึ่งต่อเนื่องมาจาก จาการ์ตา-ปาเล็มบัง เกมส์ ที่มีการแข่งเพศละ 8 อีเวนต์ ทีมผสม 1 อีเวนต์
ความเท่าเทียมที่ไม่ใช่แค่นักกีฬา
สิ่งที่น่าสนใจคือ ไม่ใช่เพียงการเพิ่มบทบาทให้กับเหล่านักกีฬาหญิงเพียงเท่านั้น แต่ยังเพิ่มบทบาทให้กับผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดงาน และมีส่วนในการตัดสินใจมากขึ้นอีกด้วย นับว่าเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมตั้งแต่ระบบรากฐาน โดยมีผู้ผลักดันหญิงคนสำคัญคือ ฮายาด อัลดุลอาซิช อัล คาลิฟา ประธานคณะกรรมการความเท่าเทียมทางเพศของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (OCA) ที่ตั้งใจผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันอย่างมุ่งมั่น โดยเธอได้กล่าวเอาไว้ว่า “ความเท่าเทียมทางเพศนั้น เป็นความรับผิดชอบของทุกคนในสังคม ทั้งเพศชายและเพศหญิง เพื่อที่จะพัฒนาเรื่องนี้ มันไม่ใช่เพียงหน้าของผู้หญิงเท่านั้น” เราจึงมั่นใจได้ว่า การแข่งขันครั้งนี้ จะถูกจัดขึ้นมาอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม โดยกลุ่มคนที่เข้าใจในเรื่องความเสมอภาคทางเพศอย่างถ่องแท้
อีสปอร์ต อีกหนึ่งเวทีของความเสมอภาคในหางโจวเกมส์
อีกหนึ่งเรื่องที่มีส่วนสำคัญอย่างมากกับการเข้ามามีบทบาทของนักกีฬาหญิง ซึ่งเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็อาจพอจะได้ยินกันมาบ้างแล้ว คือเรื่องที่เอเชียน เกมส์ ได้เพิ่มการแข่งขันกีฬา Esports เข้าสู่การแข่งขันอย่างเป็นทางการ มันหมายถึง จะมีการแข่งขันชิงเหรียญ และนับว่าเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง เทียบเท่ากับกีฬาอื่น ๆจริง ๆ ข่าวนี้เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศอย่างไร ก็เพราะในขณะนี้ อุตสาหกรรมแห่งวงการกีฬา Esports ได้มีการพัฒนาและเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงแถบเอเชีย จึงทำให้เกิดนักกีฬา Esports หญิงขึ้นเป็นจำนวนมาก
ฝ่ายจัดเอเชียน เกมส์ 2022 ที่มีความตั้งใจที่จะผลักดันเรื่องความเท่าเทียมนี้ จึงได้ให้การสนับสนุนนักกีฬาหญิง พร้อมทั้งมุ่งเน้นเรื่องความเท่าเทียมในการแข่งขัน Esports อย่างเต็มที่ ทั้งให้การสนับสนุนในเรื่องของทรัพยากรและโอกาส นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งทีมเเบบผสมที่มีทั้งชายและหญิงในทีมเดียวกัน เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันร่วมกัน ซึ่งนี่จะแสดงให้เห็นถึงความสามารถของนักกีฬาหญิง ในการแข่งขันที่เรามักจะเห็นผู้เข้าร่วมแข่งขันเป็นผู้ชายเสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเลย ที่สนใจและชื่นชอบในกีฬา Esports ไม่ต่างกับผู้ชาย หลังจากนี้เราคงจะได้เห็นนักกีฬา Esports หญิงที่มีความสามารถเพิ่มขึ้นอีกมาก และค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของกีฬา Esports ให้กลายเป็นกีฬาที่เหมาะกับทุกเพศ
อันที่จริงแล้ว ไม่ใช่แค่กีฬา Esports เพียงเท่านั้นที่เปิดโอกาสให้นักกีฬาผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่กับอีกกีฬาหลายๆชนิดในเอเชียน เกมส์ ก็เช่นกัน และนี่เป็นอีกหนึ่งการเริ่มต้นในการขับเคลื่อนความเสมอภาคทางเพศครั้งสำคัญ ก่อนที่จะก้าวไปอีกขั้นในการเเข่งขันระดับโลกอย่างโอลิมปิก หวังว่าสักวันหนึ่ง ความเหลื่อมล้ำทางเพศแห่งวงการกีฬาจะหมดไปจนเราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ‘กีฬา เป็นสิ่งที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย’ จริง ๆ
TAG ที่เกี่ยวข้อง