18 สิงหาคม 2566
ถึงแม้ว่ากีฬาเทเบิลเทนนิสจะมีต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ แต่ปัจจุบันนักกีฬาจากเมืองผู้ดีแทบไม่เป็นที่รู้จักเลยในเวทีระดับโลก ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นนักกีฬาจากทวีปเอเชียที่ครองความยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะประเทศจีนที่ผูกขาดความสำเร็จแบบเบ็ดเสร็จทุกรายการ ซึ่งเวทีเอเชียนเกมส์ พวกเขาครองเจ้าเหรียญทองกีฬาชนิดนี้มาอย่างยาวนานเกือบ 5 ทศวรรษ
ต้นกำเนิดบนเกาะอังกฤษ
เทเบิลเทนนิส หรือ ปิงปอง ถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1890 หรือ พ.ศ. 2433 เริ่มต้นยังเป็นเพียงกิจกรรมสันทนาการของชนชั้นสูงเท่านั้น ซึ่งมักจะเล่นกันภายในครอบครัวหลังรับประทานอาหารมื้อค่ำ ใช้เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านเป็นเส้นกั้นเขตแบ่งแดน บ้างก็ว่าใช้กล่องซิการ์แกะสลักเป็นไม้ตี โดยจุกแชมเปญถูกหยิบมาใช้เป็นลูกบอล บ้างก็ว่าไม้ตีนั้นห่อหุ้มด้วยหนังสัตว์ ลูกทำจากเซลลูลอยด์ หรือบ้างข้อมูลยังบ่งชี้ว่าในอดีตมีการใช้หัวจุกก๊อกน้ำมาเป็นลูกบอล เรียกว่า Gosima อย่างไรก็ตามไม่ว่าวัสดุที่ใช้จะเป็นอย่างไร แต่ที่ยืนยันตรงกันก็คือ เหตุผลที่เรียกกีฬาชนิดนี้ว่า ‘ปิงปอง’ นั้นมาจากเสียงลูกที่กระทบกับไม้เกิดเป็นเสียง ‘ปิก-ป๊อก’ นั่นเอง
ต่อมากีฬาปิงปองได้ถูกพัฒนาขึ้นและมีการเผยแพร่ไปยังหลายประเทศในทวีปยุโรป ในปี 1900 เริ่มมีการใช้ไม้ปิงปองติดยางเม็ดแทนหนังสัตว์ จากนั้นในปี 1922 ได้มีการเปลี่ยนชื่อจากกีฬาปิงปองเป็น เทเบิลเทนนิส เนื่องจากในสมัยนั้นมีบริษัทค้าขายเครื่องกีฬาได้จดทะเบียนการค้าโดยใช้ชื่อว่า ปิงปอง ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนชื่อกีฬาเป็นเทเบิลเทนนิสแทน
จากความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นไปทั่วทุกมุมโลก ทำให้ในอีก 4 ปีต่อมา สหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติได้ถูกก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและพัฒนากีฬาลูกเด้งของโลก โดยมีนายอีวอร์ มองตากู อดีตผู้กำกับภาพยนตร์และนักกีฬาปิงปองชาวอังกฤษ ดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์เป็นคนแรก และในปีเดียวกันการแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลกยังได้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1926 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ในปี 1950 เทเบิลเทนนิส เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่หันมาให้ความสนใจในกีฬาเทเบิลเทนนิสกันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมถูกผลักดันจนได้รับการบรรจุอยู่ในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 3 ในปี 1958 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยมีการชิงชัยทั้งหมด 7 อีเวนต์ ประกอบด้วย ชายเดี่ยว, หญิงเดี่ยว, ชายคู่, หญิงคู่, คู่ผสม, ทีมชายและทีมหญิง
จีน ผูกขาดความสำเร็จเกือบ 5 ทศวรรษ
เทเบิลเทนนิสบรรจุในเอเชียนเกมส์มาตลอดระยะเวลา 65 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1958 มาจนถึงปัจจุบัน โดยญี่ปุ่นเป็นชาติแรกที่ครองเจ้าเหรียญทองยาวติดต่อกันถึง 3 สมัย (1958-1966) อย่างไรก็ตามความยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นต้องสิ้นสุดลง เมื่อจีนส่งนักกีฬาเทเบิลเทนนิสเข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งแรก ปี 1970 ที่กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ซึ่งในครั้งนั้นจีนคว้าไป 6 เหรียญทองจาก 7 อีเวนต์ที่มาชิงชัย และนั่นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของนักกีฬาจากแดนมังกร เพราะพวกเขาครองเจ้าเหรียญทองกีฬาชนิดนี้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งหมด 12 สมัยโดยไม่มีพลาดเลยสักครั้ง และมีถึง 3 ครั้งในเอเชียนเกมส์ ที่จีนกวาดเหรียญทองไว้ในมือเพียงชาติเดียว คือในปี 1978 ที่กรุงเทพ, 2010 ที่เมืองกว่างโจว และปี 2018 ที่กรุงจากาตาร์
หากนับรวมเอเชียนเกมส์ 15 สมัยที่มีการชิงชัยเทเบิลเทนนิส จีนคว้าเหรียญทองไปแล้ว 66 เหรียญทอง ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างญี่ปุ่นแบบไม่เห็นฝุ่น จำนวน 46 เหรียญทอง หรือมากกว่าถึง 3 เท่า ขณะที่เวียดนามเป็นเพียงชาติเดียวจากภูมิภาคอาเซียนที่เคยคว้าเหรียญทองกีฬาปิงปอง โดยทำได้ในปี 1958 ขณะเดียวกันสิงคโปร์และอินโดนีเซียยังเป็นอีก 2 ชาติจากอาเซียนที่ได้สัมผัสเหรียญรางวัลกีฬาชนิดนี้ในเอเชียนเกมส์มาแล้ว
ไขความลับทำไมจีนถึงผูกขาดความสำเร็จกีฬาเทเบิลเทนนิส
https://stadiumth.com/olympic/highlight/detail?id=291&tab=worldspotlight
อีกก้าวเดียวได้เหรียญ ลูกเด้งไทยผลงานดีสุดรอบควอเตอร์ ไฟนอล
เทเบิลเทนนิสไทยทำได้เพียงแค่เฉียดเข้าใกล้เหรียญรางวัลเท่านั้น โดยผลงานที่ดีสุดคือการผ่านเข้ารอบควอเตอร์ ไฟนอล หรือก่อนรองชนะเลิศ ในปี 2010 “กวางโจวเกมส์” ที่ประเทศจีน จากผลงานของประเภททีมหญิง ซึ่งในครั้งนั้นนักกีฬาไทย ประกอบด้วย อนิศรา เมืองสุข, นันทนา คำวงศ์, สุธาสินี เสวตรบุตร, ธิดาพร วงศ์บุญ และพรรัตน์ รูปสูง เดินทางมาถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย และหากเอาชนะเกาหลีใต้ได้ก็จะการันตีเหรียญทองแดงเป็นอย่างน้อย เพียงแต่ว่าผลลัพธ์ไม่เป็นอย่างที่ฝัน เพราะทีมสาวไทยเป็นฝ่ายแพ้เกาหลีใต้ไป 0-3 คู่
ยุคทองปิงปองไทย บทพิสูจน์ในเวทีระดับทวีป
สมาคมเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 1957 หรือปี พ.ศ. 2500 โดยมีวัตถุเพื่อส่งเสริมและพัฒนากีฬาเทเบิลเทนนิสในประเทศไทยแบบครบวงจรไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ สันทนาการ และการพัฒนานักกีฬาและบุคคลากรให้มีคุณภาพไปสู่ระดับสากล
ในอดีตเรื่องความสำเร็จในเอเชียนเกมส์คงอาจจะเร็วไปเกินไปนัก ที่เราจะคาดหวังกันเหรียญรางวัล เพราะลำพังแค่การจะคว้าเหรียญทองซีเกมส์ให้ได้สักเหรียญ สำหรับนักกีฬาไทยก็ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ แล้ว แต่ทว่าในปัจจุบัน จากความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นและการสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐและเอกชน ทำให้นักกีฬาไทยถูกส่งออกไปเล่นลีกอาชีพในต่างประเทศตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ เพิ่มมากขึ้น สร้างโอกาสให้กับเด็กไทยได้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ทั้งการได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการพบคู่แข่งที่หลากหลาย การพบเจอระดับการแข่งขันที่สูงกว่าในประเทศไทยแบบทุกสัปดาห์ การได้เรียนรู้จากการความพ่ายแพ้ต่อคู่แข่งที่อยู่เหนือกว่า ค้นหาวิธีการเอาชนะในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ เด็ก ๆ ยังได้เรียนรู้เรื่องความอดทนจากการใช้ชีวิตลำพังในต่างแดน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนหล่อหลอมให้นักกีฬาไทยมีพัฒนาการขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่มีนักกีฬาเพียงหยิบมือจะได้รับโอกาสแบบทุกวันนี้
ผลลัพธ์จากความตั้งใจพัฒนากันอย่างจริงจัง ทำให้วงการเทเบิลเทนนิสไทยเข้าสู่ “ยุคทอง” หรือโกลเด้น เจเนอเรชั่น หรือดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา ในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา นักกีฬาไทยคว้า 9 เหรียญทองจากซีเกมส์ 5 สมัย (2015-2023) เบียดสิงคโปร์ลงมาและขึ้นไปครองเจ้าอาเซียนในซีเกมส์ 2021 นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของวงเทเบิลเทนนิสไทยในระดับนานาชาติ
ขุมกำลังชุดนี้นำทัพโดย ‘หญิง’ สุธาสินี เสวตรบุตร มือตบสาวแห่งยุค ผู้สร้างความสำเร็จและขีดเขียนเรื่องราวระดับประวัติศาสตร์ให้กับวงการเทเบิลเทนนิสไทยมานับครั้งไม่ถ้วน ผนึกกำลังร่วมกับ ‘ทิพย์’ อรวรรณ พาระนัง และ ‘ไบร์ท’ ภาดาศักดิ์ ตันวิริยะเวชกุล คว้าแชมป์ซีเกมส์รวมถึงแชมป์รายการเก็บคะแนนสะสมมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนที่ได้ไปเล่นในลีกต่างประเทศ อาทิ ‘แตงโม’ ธมลวรรณ เขตเขื่อน, ‘บัว’ จิณห์นิภา เสวตรบุตร
หรือกลุ่มผู้เล่นดาวรุ่งที่กำลังก้าวขึ้นมา ‘การ์ตูน’ วรรณวิสาข์ เอื้อวิริยะโยธิน, ‘เป็ด’ ศรายุทธ ตันเจริญ เป็น 2 คนที่ได้สัมผัสกับความสำเร็จซีเกมส์แล้ว ขณะเดียวกันยังมีดาวรุ่งที่อายุต่ำกว่า 15 ปีอย่าง ‘ไอซ์’ ภัตศราภรณ์ วงศ์ละคร ที่คว้าแชมป์เอเชียมาได้แล้ว รอเป็นความหวังของวงการในทศวรรษถัดไป
จริงอยู่ว่าเราไม่อาจไม่ใช่ตัวเต็งที่จะหยิบเหรียญรางวัลในเอเชียนเกมส์ 2022 แต่ชีวิตจะมีอะไรที่น่าท้าทายตัวเองไปมากกว่าการมองเป้าหมายให้สูงเข้าไว้ และเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ สำหรับเทเบิลเทนนิสจะแข่งขันกันระหว่างวันที่ 22 กันยายน ถึง 2 ตุลาคมนี้ ซึ่งในปีนี้จะมีชิงเหรียญทองทั้งหมด 7 อีเวนต์ นับเป็นโอกาสที่ดีของลูกเด้งไทยจะได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร เอเชียนเกมส์ครั้งจะเป็นครั้งที่นักกีฬาทำผลงานได้ดีที่สุดอย่างแน่นอน
TAG ที่เกี่ยวข้อง