stadium

มูตาซ บาร์ชิม เจ้าเวหาแห่งกาตาร์กับคานกระโดดสูงที่ไม่มีจุดสิ้นสุด

15 สิงหาคม 2566

ถ้าให้ไล่รายชื่อยอดนักกรีฑาของทวีปเอเชีย ส่วนใหญ่แล้วคงไม่พ้นนักกีฬาจากจีนหรือญี่ปุ่น แต่ถ้าตีวงเหลือแค่ประเภทลาน เชื่อได้ว่า "มูตาซ บาร์ชิม" ต้องเป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกกล่าวถึง ด้วยดีกรีเหรียญทองโอลิมปิก, แชมป์โลก 3 สมัย เจ้าของสถิติเอเชีย รวมทั้ง 2 เหรียญทองเอเชียนเกมส์

 

อย่างไรก็ตาม บาร์ชิม ยอมรับว่า จุดเริ่มของเขากับการกระโดดสูงไม่ได้น่าจดจำนัก แล้วเจ้าตัวขึ้นไปถึงยอดภูเขาอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไร ติดตามได้ที่นี่

 

 

จากแย่ที่สุดสู่ "ดีที่สุด"

 

ความสำเร็จ, สถิติ และเกียรติยศต่าง ๆ ที่ได้รับ คงไม่ผิดอะไรถ้าเราจะคิดว่า มูตาซ บาร์ชิม คงฉายแววพรสวรรค์มาตั้งแต่เด็ก แต่ความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น

 

บาร์ชิม กำเนิดในครอบครัวที่มีสายเลือดชาวซูดาน โดยได้ชื่อว่า มูตาซ ที่มีความหมายว่า 'ความภาคภูมิใจ' ในภาษาอารบิก และตามรอยคุณพ่อที่เป็นนักกีฬาเดินทนตั้งแต่อายุยังน้อย รวมทั้งมีความสนใจในกรีฑาประเภทลานอย่าง กระโดดไกล และเขย่งก้าวกระโดด แต่ตัดสินใจเอาดีกับกระโดดสูง

 

อย่างไรก็ตาม ความสามารถของเขาเหมือนเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน ซึ่งบาร์ชิมยอมรับว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มบ๊วยเมื่อย้อนกลับไปนึกถึงจุดเริ่มต้น

 

"ช่วงก่อนที่ผมจะอายุ 17 ปี ผลงานของผมจัดอยู่ในกลุ่มที่แย่ที่สุดอยู่เสมอ มีหลาย ๆ คนในกลุ่มเดียวกันที่ทำได้ดีกว่าผม และผมไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองมีความเก่งกาจอะไรเลย" บาร์ชิม ให้สัมภาษณ์กับ Sport 360

 

สำหรับเด็กหลาย ๆ คน อาจจะหันไปเล่นกีฬาประเภทอื่นหรือล้มเลิกความตั้งใจเป็นนักกีฬา แต่ไม่ใช่กับมูตาซที่ได้รับสปิริตความเป็นนักสู้จากพ่อของเขาอย่างเต็มที่

 

"ทุกครั้งที่ล้มเหลว พ่อผมบอกอยู่เสมอว่าให้สู้ต่อไป, ซ้อมให้หนัก และอดทนเข้าไว้ถึงจะสร้างความแตกต่างได้ ดังนั้นผมจึงพยายามต่อไปไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรก็ตาม"

 

ต้องขอบคุณพ่อของเขาในวันนั้น เพราะผลลัพธ์ออกดอกออกผลในที่สุด

 

 

ยอดโค้ชสร้างยอดนักกีฬา

 

ในเดือนกันยายนปี 2009 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอาชีพของบาร์ชิม เมื่อเขาได้ สตานิสลาฟ เชซีร์บา เข้ามาเป็นโค้ชคนใหม่ ซึ่งเจ้าตัวเคยปั้น วาลา โฟลซาดอตตีร์ นักกระโดดค้ำชาวไอซ์แลนด์ให้ครองสถิติโลกกรีฑาในร่มและคว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิกปี 2000 มาแล้ว โดย บาร์ชิม และ เชซีร์บา ร่วมงานกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งราชากระโดดสูงชาวกาตาร์เปิดเผยว่า เชซีร์บา เป็นมากกว่าโค้ช และเหมือนเป็นพ่อคนที่สองของเขาเลยทีเดียว

 

การร่วมงานกันของทั้งคู่ แสดงผลออกมาในเวลาไม่นาน ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2010 บาร์ชิม ทำลายสถิติของประเทศกาตาร์จากการแข่งขันกรีฑาในร่มที่เมืองโกเทนเบิร์กของสวีเดน ก่อนจะก้าวไปคว้าเหรียญทองจากศึกกรีฑาในร่มชิงแชมป์เอเชีย, เหรียญทองเอเชียนเกมส์ และแชมป์โลกรุ่นเยาวชนในปีเดียวกัน  

 

จากนั้นความสำเร็จพุ่งเข้าหาบาร์ชิมไม่มีหยุด และส่งให้กลายเป็นหนึ่งในนักกระโดดสูงที่ดีที่สุดของโลกด้วยดีกรี 3 เหรียญโอลิมปิก (1 เหรียญทองที่โตเกียว, 2 เหรียญเงินจาก ลอนดอน และริโอ), แชมป์โลก 3 สมัยซ้อน (2017, 2019, 2022) รวมทั้งเป็นว่าที่ตำนานร่วมกับ ฮาเวียร์ โซโตมายอร์ เจ้าของสถิติโลกชาวคิวบา, ดีทมาร์ มอเกนเบิร์ก ตำนานชาวเยอรมัน และ สเตฟาน โฮล์ม ของสวีเดน นอกจากนั้นยังคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้อีก 2 สมัย (2010, 2014)

 

ขณะเดียวกัน สถิติดีที่สุดที่เขาทำได้คือ 2.43 เมตร ยังเป็นสถิติของกาตาร์และเอเชีย รวมถึงห่างจากสถิติโลกเพียง 2 เซนติเมตร ซึ่งในประเทศบ้านเกิดของเขาที่ไม่ได้มียอดนักกรีฑาให้เป็นที่จดจำ ทำให้ มูตาซ บาร์ชิม ได้รับการยกย่องและเคารพนับถือมากที่สุดในประเทศ

 

 

คานกระโดดแห่งความสำเร็จที่ไร้จุดสิ้นสุด

 

กับความพยายามที่จะคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 4 ในการแข่งขันที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ความกระหายความสำเร็ของบาร์ชิมยังเป็นเหมือนตอนที่เขาได้ลองกระโดดสูงครั้งแรกเมื่ออายุ 15 ปี

 

"ผมสร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการก้าวไปสู่จุดสูงสุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา แต่ผมยังคงพยายามไขว่คว้ามันมากยิ่งขึ้น กีฬากระโดดสูงคือความหลงใหลของผม และผมอยากทำให้ทุกคนพูดถึงชื่อ มูตาซ บาร์ชิม ทุกครั้งที่คุยเรื่องกีฬาชนิดนี้"  

 

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งเป้าหมายของเขาในปีนี้คือเหรียญทองเอเชียนเกมส์สมัยที่ 3 หลังจากเจอปัญหาบาดเจ็บจนพลาดลงแข่งขันเมื่อปี 2018

 

“เอเชียนเกมส์ที่จีนคืออีกหนึ่งเป้าหมายสูงสุดของผมในปีนี้ ซึ่งสิ่งสำคัญอันดับแรกคือต้องรักษาสภาพร่างกายของตัวเองให้สมบูรณ์ พร้อมด้วยการฝึกซ้อมที่ให้ผลดีที่สุด

 

ถึงแม้หลาย ๆ คน จะจดจำบาร์ชิมได้จากการแชร์เหรียญทองร่วมกับ จานมาร์โก ทัมเบรี่ ในโอลิมปิก "โตเกียว 2020" แต่หากนับความสำเร็จส่วนตัวแล้วเขาคงไม่ต้องแบ่งปันมันกับใคร ซึ่งเคล็ดลับไม่ได้มีอะไรที่เข้าใจยากเลยแม้แต่น้อย

 

"หากคุณหลงใหลในบางสิ่งให้ทำทุกอย่างเพื่อสิ่งนั้น มันอาจจะดูยากและเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าคุณเชื่อมั่นในตัวเองแล้ว บอกได้เลยว่ามันคุ้มค่าอย่างแท้จริง"

 

"ผมจะทำทุกอย่างที่ทำได้ ถ้ามันต้องไปถึงขั้นนั้น ผมจะใส่ความทุ่มเท 120 เปอร์เซ็นต์ เพราะ 100 เปอร์เซ็นต์มันไม่เพียงพออีกต่อไป"


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator