stadium

เทนนิส : 2 ทศวรรษ นักหวดไทยไม่เคยไร้เหรียญรางวัลในเอเชียนเกมส์

11 สิงหาคม 2566

ปัจจุบันผลงานของนักเทนนิสไทยในระดับอาชีพอาจจะไม่หวือหวามากนัก แต่ทุกครั้งเมื่อถึงเวลาลงแข่งขันทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่างเอเชียนเกมส์ นักเทนนิสไทยไม่เคยทำให้คนไทยต้องผิดหวัง โดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่เอเชียนเกมส์ ปี 1998 นักหวดไทยไม่เคยคว้าน้ำเหลวกลับบ้านเลยแม้แต่หนเดียว

 

ติดตามเรื่องราวความสำเร็จของนักกีฬาไทยและความเป็นมาของกีฬาเทนนิสในเอเชียนเกมส์พร้อมกันได้ที่นี่

 

 

เทนนิสโบราณใช้ฝ่ามือตีลูกบอล

 

กีฬาเทนนิสถือกำเนิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 11 มีต้นกำเนิดจากการแข่งกีฬาที่ชื่อว่า Jeu de Paume ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นกีฬาที่ใช้ฝ่ามือตีลูกบอลทรงกลม ต่อมากีฬาชนิดนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยประเทศอังกฤษ เปลี่ยนมาใช้แร็กเกตตีลูกบอลแทนฝ่ามือ

 

เทนนิสสมัยใหม่มีต้นกำเนิดในสหราชอาณาจักร ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ใช้ชื่อ "ลอนเทนนิส" มีความเชื่อมโยงอย่างมากกับกีฬาเทนนิสสมัยโบราณ ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น ถูกพัฒนาขึ้นมาจนมีสนามแข่งขันทั้งหมด 3 แบบ มีการเปลี่ยนแปลงจากแข่งขันกันในร่มมาแข่งกันในพื้นที่โล่งแจ้ง มีการจัดแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติ และในปี 1913 ได้มีการก่อตั้งสหพันธ์เทนนิสนานาชาติขึ้นมาเป็นองค์กรเทนนิสสากลทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการดูแลและพัฒนากีฬาเทนนิสให้มีมาตรฐานเดียวกันในทั่วโลก

 

กีฬาเทนนิสถูกบรรจุอยู่ในมหกรรมเอเชียนเกมส์ครั้งแรก ตั้งแต่ปี 1958 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เริ่มต้นชิงเหรียญทองทั้งหมด 5 อีเวนต์ ชายเดี่ยว, หญิงเดี่ยว, ชายคู่, หญิงคู่และคู่ผสม ต่อมาในปี 1962 ได้เพิ่มประเภททีมหญิงและทีมชาย เข้ามาชิงชัยเพิ่มอีก 2 อีเวนต์ รวมเป็น 7 อีเวนต์มาตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยมีเพียงครั้งเดียวคือในปี 1970 ที่กีฬาเทนนิสไม่ถูกจัดให้มีการชิงเหรียญทองในเอเชียนเกมส์

 

 

1 กีฬา พื้นสนาม 3 แบบ

 

เทนนิสเป็นกีฬาชนิดเดียวที่แบ่งคอร์ทหรือพื้นสนามที่ใช้สำหรับทำการแข่งขันออกเป็น 3 ประเภท

 

เริ่มจาก คอร์ทหญ้า (Grass courts) ความนุ่มของพื้นสนามที่มีมากกว่าคอร์ทอื่น ๆ ทำให้บอลจะกระดอนต่ำ แต่มีความเร็วมากที่สุดเนื่องจากความลื่นของพื้นผิวเช่นกัน ใช้แข่งขันกันในรายการ แกรนด์สแลม อย่าง วิมเบิลดัน

 

คอร์ทดินแดง (Red Clay courts) ความเร็วของลูกช้า เนื่องจากบอลกระดอนสูง และเสียความเร็วอย่างมากเมื่อลูกตกกระทบพื้น ถูกสร้างโดยใช้วิธีซ้อนหินและกรวดหลายชนิดหลายชั้นเพื่อให้ระบายน้ำได้ดีก่อนจะปูด้วยดินที่ได้จากการบดอิฐแดง ใช้ในการแข่งขัน แกรนด์ สแลม อย่าง เฟรนช์ โอเพ่น

 

ฮาร์ด คอร์ท (Hard courts) แบรนด์ Laykold พื้นสนามแบบแข็งที่ทำจากวัสดุหลายอย่างทั้ง ยาง, ซิลิกา และอะคริลิค บนฐานยางมะตอยหรือคอนกรีต เป็นฮาร์ดคอร์ทแบรนด์เดียวที่มีเทคโนโลยีป้องกันไอระเหย โดยความเร็วของลูกอยู่ในระดับปานกลาง แต่ก็ยังเร็วกว่าคอร์ทดิน และมีการกระดอนของลูกที่สูงกว่า ซึ่งใช้ใน แกรนด์ สแลม รายการ ยูเอส โอเพ่น

 

ส่วน ฮาร์ด คอร์ท (Hard courts) แบรนด์ GreenSet จะมีความต่างจาก แบรนด์ Laykold โดยพื้นสนามนั้นทำจากอะคริลิค เรซิน และซิลิกา ปูบนฐานรากยางมะตอยหรือคอนกรีต สามารถรองรับแรงกระแทกได้ดี ส่วนความเร็วในการกระดอนของลูกปานกลางถึงช้า ใช้ในการแข่งขันแกรนด์ สแลม ออสเตรเลียน โอเพ่น

 

อ่านความแตกต่างของแต่ละคอร์ทแบบละเอียดได้ที่ >> https://stadiumth.com/columns/detail?id=222&tab=inter

 

 

ญี่ปุ่น ครองเจ้านักหวดลูกสักหลาดเอเชียนเกมส์

 

เป็นอีกชนิดกีฬาที่ประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จมากสุดของทัวร์นาเมนต์ โดยเฉพาะในช่วงแรกที่กีฬาชนิดนี้ถูกบรรจุอยู่ในเอเชียนเกมส์ พวกเขาครองเจ้าเหรียญทองเทนนิสถึง 4 สมัยซ้อน (1958-1974) ก่อนจะหล่นจากบัลลังก์ไปนานถึง 20 ปี และกลับมาครองเจ้าเหรียญทองสมัยที่ 5 ได้อีกครั้งในบ้านของตัวเองเมื่อปี 1984 ที่ฮิโรชิม่า และนั่นนับเป็นการปิดฉากความยิ่งใหญ่ของเทนนิสญี่ปุ่นในเอเชียนเกมส์​ เพราะหลังจากนั้นเอเชียนเกมส์อีก 6 ครั้ง ญี่ปุ่นไม่เคยจบด้วยการคว้าเหรียญทองได้มากที่สุดอีกเลย

 

อย่างไรก็ตามความสำเร็จที่นักหวดจากแดนปลาดิบทำได้ทั้งหมด 27 เหรียญทอง ยังทิ้งห่างเกาหลีใต้ที่ครองเจ้าเหรียญทองเทนนิส 4 ครั้ง อันดับ 2 อยู่ 9 เหรียญทอง ด้านผลงานของนักเทนนิสไทยในเอเชียนเกมส์ถือว่าไม่ธรรมดา รั้งอันดับ 7 ของทัวร์นาเมนต์ จากผลงาน 5 เหรียญทอง 6 เหรียญเงินและ 10 เหรียญทองแดง

 

 

1998-2018 เทนนิสไทยคว้าเหรียญกลับบ้านตลอด

 

สำหรับเหรียญทองแรกของไทยทำได้ในปี 1978 ที่กรุงเทพมหานคร โดยได้จากจารึก เฮงรัศมี และสุธาสินี ศิริกายะ 2 ตำนานเทนนิสไทยในประเภทคู่ผสม หลังจากนั้นไทยก็ห่างหายจากการคว้าเหรียญทองในเอเชียนเกมส์ไปนานถึง 20 ปี ก่อนจะมาทำได้อีกครั้งที่กรุงเทพฯ ปี 1998 จากประเภทชายคู่ เป็นผลงานของ นราธร และ ภราดร 2 พี่น้องตระกูลศรีชาพันธุ์

 

ส่วนอีก 3 เหรียญทองของไทยได้จาก ภราดร ศรีชาพันธุ์ ประเภทชายเดี่ยว ปี 2002 ที่ปูซาน เกาหลีใต้, ดนัย อุดมโชค เหรียญทอง ประเภทชายเดี่ยว ปี 2006 ทีโดฮา กาตาร์ และเหรียญทองล่าสุดจากประเภทหญิงคู่ ลักษิกา คำขำ - แทมมารีน ธนสุกาญจน์ ปี 2014 ที่อินชอน เกาหลีใต้

 

ความสำเร็จตลอด 20 ปี ถึงแม้ว่าความนิยมในประเทศไทยมีขึ้นมีลง แต่ผลงานของนักกีฬาไทยก็ไม่เคยไร้เหรียญรางวัลเลยตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา หรือจนถึงเอเชียนเกมส์ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2018 และหากนับผลงานเอเชียนเกมส์ 6 ครั้งหลังสุด มีเพียงปี 2010 ครั้งเดียวเท่านั้นที่นักเทนนิสไปไม่ถึงรอบชิงชนะเลิศ โดยได้ 2 เหรียญทองแดงกลับบ้าน

 

ส่วนในเอเชียนเกมส์ 2022 หรือหางโจวเกมส์ เทนนิสบรรจุชิงชัยทั้งหมด 7 เหรียญทอง จากอีเวนต์ ชายเดี่ยว, หญิงเดี่ยว, ชายคู่, หญิงคู่, คู่ผสม, ทีมชายและทีมหญิง โดยทีมเทนนิสไทยจะยังสานต่อความสำเร็จในเอเชียนเกมส์อีกครั้งได้หรือไม่ อย่าลืมส่งกำลังใจเชียร์นักกีฬาไทยได้ระหว่างวันที่ 23 กันยายน ถึง 8 ตุลาคมนี้


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ