5 สิงหาคม 2566
หลายๆคนคงรู้จักกับการเต้น B-Boy หรือโดยทั่วไปจะเรียกกันในชื่อ Breakdance (เบรกแดนซ์)ในอดีตที่จะมีคนสนใจเพียงกลุ่มคนจำนวนน้อย ส่วนใหญ่เรามั่กจะเห็นคนที่ชื่นชอบไปรวมตัวกันเต้นตามห้างสรรพสินค้า ซึ่ง ชิน “ชินวุฒิ จันทตรัตน์” คือหนึ่งในนั้นที่หลงใหลการเต้นมาตั้งแต่แรกเริ่ม เขาอยู่ตั้งแต่ยุคที่มีบีบอยเต้นอยู่แค่ประมาณ 10 กว่าคน บนตึกบุญครองชั้น 7 ในช่วงที่อินเทอร์เน็ตก็ไม่ทั่วถึง การจะแกะท่าเต้นในเวลานั้นต้องศึกษาจากม้วนเทป วีดีโอ เป็นส่วนใหญ่ จนวันนึงสามารถก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์มาได้มากมายไม่ว่าจะเป็น แชมป์ “Battle of the Year Thailand " และ " Battle of the year South East Asia "
Stadium th จึงอยากพาผู้อ่านไปพบเรื่องราวของเขาตลอด 24 ปีกับการเต้นบีบอย รวมไปถึงเรื่องที่ใครหลายๆคนไม่เคยรู้เกี่ยวกับเบรกแดนซ์
สตาร์ทจากความอยากเอาชนะใจตัวเอง
บีบอย เกิดช่วงในปี 1970 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา คำว่า บีบอย มาจากคำว่า เบรกบอย (break boy) โดยจะเต้นทั้งในแนวเพลงฮิปฮอป, ฟังค์ และ แนวเพลงอื่น ๆ มั่กเป็นดนตรีรีมิกซ์ ที่คั่นระหว่างเพลงพัก ซึ่งจุดเริ่มต้นของชินมาจากการได้เห็นมิวสิควีดีโอตามห้างทั่วไป แล้วเกิดแรงบรรดาลใจที่อยากทำเหมือนคนในจอได้บ้าง
“การเริ่มต้นการเต้นของผมมาจากความท้าทายของตัวเองล้วนๆเลยครับ ที่อยากจะทำท่าได้ เพราะว่าตอนลองมันทำไม่ได้ พยายามก็อปปี้ แต่ว่าก็ยังทำไม่ได้อยู่ดีในตอนนั้น และเราก็รู้สึกแค้นใจว่าทำไมถึงทำไม่ได้นะ ผมก็เลยฝึกทดลองหาวิธีทำมันมาเรื่อยๆครับ”
ซึ่งหากเริ่มนับจากวันแรกที่เข้าสู่วงการ ปัจจุบันเขาอยู่กับการเต้นบีบอยมา 24 ปีได้แล้ว ชินย้อนความเล่าให้ฟังถึงความลำบากในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังเข้าถึงไม่ง่ายแบบทุกวันนี้
“ในยุคนั้นต้องบอกว่าอินเทอร์เน็ตยังไม่ค่อยเร็วเนอะ การเข้าถึงก็จะยากหน่อย ผมก็จะดูจากดอคคิวเมนทารี่ เวลาเราเสิร์จมาก็จะเป็นเอกสารภาษาอังกฤษยาวๆ แล้วเราก็ต้องมานั่งเปิดดิกชันนารี่แปลเอาครับ พอจะดูรูปหรือวีดีโอก็จะได้เป็นไฟล์ด็อทจิ๊บ นั่นคือดีที่สุดแล้วในตอนนั้น อีกวิธีหนึ่ง ผมก็จะดูจากเอ็มวีแล้วจำ รวมทั้งในเกมส์สมัยก่อนมันจะมีเกมส์เต้น เวลาชนะน็อกมันก็จะมีตัวที่เต้นเบรกแดนซ์ได้ เราก็จะเอาตัวนั้นมาสโลว์ แล้วก็มานั่งดูว่ามันทำยังไงนะ (หัวเราะ)”
วันนี้ที่รอคอยเมื่อ บีบอย บรรจุเป็นกีฬา
หลังจากโลกและยุคสมัยใหม่ได้มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ รวมถึงการเต้นบีบอย จากที่หลายคนมองว่าเป็นการเต้นไปเรื่อยๆเอาแค่ความสนุก จะเป็นวันที่ถูกแสงสปอร์ตไลท์ส่องมาถึง ด้วยการเติบโตของกลุ่มคนที่ชื่นชอบการเต้นจากทั่วทุกมุมโลก จึงมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นและกลายเป็นเทรนด์ที่ผู้คนให้ความสนใจ และถูกบรรจุเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาในที่สุด
“วันที่รู้ข่าวเรื่องนี้ ผมก็รู้สึกดีใจกับเด็กรุ่นใหม่ๆ หากเปรียบเทียบกับยุคผมเมื่อ 20 ปีที่แล้วมันก็คือแค่การเต้นเฉยๆ แต่พอผ่านมาเรื่อยๆ ก็เริ่มมีการแข่งขันที่สูงขึ้น จนกลายเป็นกีฬาแบบไม่ได้ตั้งใจ แต่สุดท้ายมันก็คือแด๊นสปอร์ตครับ พอปรับมาเป็นกีฬาก็จะมีเรื่องความเป๊ะในบางอย่าง ในด้านของคุณภาพด้วยเพราะมันเป็นเรื่องของร่างกาย มีความยากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งผมก็คิดว่ามันดีนะ สำหรับเด็กๆเยาวชนที่พึ่งเริ่มต้น มันจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสให้กับพวกเขาได้ปล่อยของตรงนี้ได้”
ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีของวงการเบรกแดนซ์เมืองไทยหลังจากนี้ คงจะเป็นอีกหนึ่งเวทีให้กับคนล่าฝันที่รักในการเต้น ไม่แน่ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นเด็กไทยก้าวไปสู่ระดับสากลก็เป็นได้
เหรียญเงินแรกในนามทีมชาติ
และหลังจากที่บีบอยได้บรรจุลงเป็นกีฬาเรียบร้อยแล้ว ชินก็ได้โอกาสไปเป็นตัวแทนทีมชาติไทย ที่ได้ออกไปแข่งทัวร์นาเมตน์ครั้งแรกในศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ประเทศกัมพูชา และสามารถคว้าเหรียญเงินให้แก่ประเทศไทย
“นี่เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผมที่ได้ไปแข่งในนามทีมชาติ ในรูปแบบสปอร์ตจริงๆ รู้สึกว่ามันแปลกดี พื้นที่มันก็จะโล่งๆ ไม่ชินสักเท่าไหร่ เพราะปกติเวลาไปเต้นทั่วไปก็จะมีคนอยู่ล้อมๆกัน ไม่ไกลจากวงเต้นสักเท่าไหร่ แต่ครั้งนี้มันมีความเป็นทางก่อนของมันอยู่พอเป็นกีฬา ที่ผมไม่ได้รู้สึกเหมือนการแข่งขันแบบที่ผ่านๆมา จะมีกรรมการนั่งห่างๆคอยเป็นผู้ตัดสิน ก็เป็นความรู้สึกที่แปลกใหม่ดีครับ”
เป็นครั้งแรกที่ทีมไทยรวมถึงชินได้เข้าร่วมกับแข่งขันซีเกมส์สำหรับบีบอย และถึงแม้จะคว้าเหรียญเงินมาครองแต่กลับไม่ใช่สิ่งที่ตัวเขาเองพอใจสักเท่าไหร่
“ผมอาจจะไม่ค่อยพอใจในตัวเองสักเท่าไหร่ เพราะว่าเหมือนยังไม่รู้วิธีการทำคะแนนอย่างเต็มที่ด้วย เนื่องจากเป็นการลงแข่งครั้งแรก ในด้านกฏกติกา เหมือนมันเคลียร์มาประมาณนึง แต่ผมอาจจะยังเคลียร์ไม่หมด รวมทั้งการเตรียมตัวก่อนไปแข่งของผมอาจจะยังไม่ดีพอ เพราะช่วงท้ายแรงผมตก พอเข้าไปถึงรอบชิงมันเหนื่อย เพราะว่าเต้นไม่มีพักด้วย ก็พยายามกัดฟันสู้อย่างเต็มที่ครับ ปล่อยไปสุดเท่าที่ซ้อมมาแล้วจริงๆ”
ทางเดินที่ไม่มีวันสิ้นสุด
แม้ปัจจุบันชิน จะอายุ 37 ปีแล้ว แต่ด้วยความเก๋าที่อยู่ในวงการนี้มาอย่างยาวนานเหตุผลเพียงสั้นๆเพราะว่ายังสนุกกับมันอยู่ เราจึงได้ตั้งคำถามแบบเบสิคสุดๆถามเขาไปว่า เป้าหมายสูงสุดในการเต้นบีบอย อยู่ที่จุดไหน และคำตอบที่ได้ก็คือ..
“จริงๆเป้าหมายของผมมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆครับ พอผมโตขึ้นมันก็ปรับเปลี่ยนตามวัย ด้วยความที่เราเต้นมา 20 กว่าปีเนอะ มันก็จะมีจุดที่เราทำได้แล้ว แล้วก็จะถามตัวเองต่อว่า เราจะไปจุดไหนต่อดีอ่ะ ซึ่งผมก็จะเป็นแบบนี้มาตลอดครับสำหรับที่ผ่านมา เหมือนมันยังไม่มีจุดสิ้นสุด อย่างรอบเนี่ยที่กำลังจะไปแข่งเอเชียนเกมส์ ผมก็อยากจะไปให้ถึงรอบชิง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำได้มั้ยนะ เพราะเอเชียนเกมส์เปรียบเสมือนกับเราแข่งกับคนทั้งโลก ไม่ต่างกับการแข่งเวิลด์ไฟนอลเลย เพราะส่วนใหญ่แชมป์โลกนี่มาจากคนเอเชียเกือบหมด”
“ส่วนตัวผมไม่ได้กดดันเรื่องการจะไปแข่งเอเชียนเกมส์ครั้งนี้เลย ปกติก็ไปแข่งบ่อยอยู่แล้ว อีกอย่างบีบอยมันคือการอยู่กับตัวเอง จะแพ้หรือชนะขึ้นอยู่กับตัวคุณเองเท่านั้น ผมกลับรู้สึกดีใจด้วยซ้ำสำหรับโอกาสในครั้งนี้ ผมรู้สึกว่าได้รับเกียรติซะมากกว่า ทั้งครอบครัวและเพื่อนๆต่างก็พากันมาดีใจด้วย เพราะไม่ใช่ว่าใครๆที่จะได้ลงแข่งเอเชียนเกมส์ ซึ่งผมก็จะพยายามทำอย่างเต็มที่แน่นอนครับ” ชิน กล่าวทิ้งท้าย
TAG ที่เกี่ยวข้อง