stadium

มวยสากล : กีฬาที่ตัดสินด้วยกำปั้น แต่ยังหาจุดลงตัวไม่เจอ

28 กรกฎาคม 2566

จากความสำเร็จของนักกีฬาไทยในทุกมหกรรมกีฬา ทำให้มวยสากลเป็นกีฬาที่มักจะได้รับความสนใจจากกองเชียร์บ้านเราทุกครั้ง อย่างไรก็ตามรู้หรือไม่ว่านับตั้งแต่กีฬาชนิดนี้ถูกบรรจุอยู่ในเอเชียนเกมส์ครั้งแรกในปี 1954 มวยสากลยังคงหาจุดลงตัวในการแข่งขันไม่เจอเลยตลอดระยะเวลาเกือบ 70 ปีที่ผ่านมา

 

 

กีฬาที่ตัดสินด้วยกำปั้น แต่ยังหาจุดลงตัวไม่เจอ

 

มวยสากล ได้รับการบรรจุอยู่ในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์มาตั้งแต่ปี 1954 หรือเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 2 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ จนถึงปัจจุบัน โดยเป็นกีฬาที่มีการปรับเปลี่ยนกฎกติกาอยู่บ่อยครั้ง ในช่วงต้นใช้กติกานับคะแนนระบบ 10 แต้มเหมือนมวยสากลอาชีพ กรรมการให้คะแนน 3 คน ก่อนจะเพิ่มเป็น 5 คน จากนั้นในช่วง 1990 ได้มีการนำเฮดการ์ดเข้ามาใช้กับนักกีฬาเพื่อป้องกันศีรษะ 

 

แต่ด้วยปัญหาความอื้อฉาวเรื่องความโปร่งใสในการตัดสินให้คะแนนที่ยังคงแก้ไม่ตก ทำให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการนับคะแนนอีกครั้ง จากระบบ 10 แต้มมานับแต้มตามจำนวนหมัดที่เข้าเป้า โดยตัดสินจากกรรมการ 5 คนข้างสนามแต่ต้องกดให้คะแนนพร้อมกันอย่างน้อย 3 คน มีการโชว์แต้มแบบเรียลไทม์บนสกอร์บอร์ดในสนาม ข้อดีคือเราได้เห็นมวยฝีมือหรือลีลาการชกที่สวยงามเต็มไปด้วยแท็กติกและเทคนิค

 

แม้ว่าจะมีความสนุกและใสสะอาดเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถทำให้ถูกใจกับทุกฝ่าย ยังมีเสียงวิจารณ์เกิดขึ้นถึงความสนุกที่ลดน้อยลงไป เพราะเมื่อนักกีฬาเห็นแต้มทำให้ในยกสุดท้าย นักชกที่มีคะแนนนำมักใช้ฟุตเวิร์กวนหนีคู่แข่งไปทั่วสนาม ขณะที่เรื่องอื้อฉาวจากการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมก็ยังไม่ถูกแก้ไขอย่างชัดเจน ทำให้ต้องกลับไปให้คะแนนเหมือนมวยสากลอาชีพเหมือนเดิม และจากปัญหาเรื่องการตัดสินที่ไม่โปร่งใสรวมถึงการคอรัปชั่นขององค์กรทำให้มวยสากลยังเป็นกีฬาถูกกังขา ซึ่งไม่รู้เลยว่าจะลบล้างข้อครหาต่าง ๆ ได้เมื่อไหร่

 

 

เดิมพันด้วยตั๋วโอลิมปิก 2024 

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับมวยสากลในเอเชียนเกมส์ หางโจวเกมส์ หนนี้เข้มข้นและน่าติดตามมากยิ่งขึ้น เนื่องจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้กำหนดให้เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 เป็นรายการ​โอลิมปิก 2024 รอบคัดเลือก ทวีปเอเชีย และยังเป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้มีการปรับเปลี่ยนจำนวนอีเวนต์ที่ชิงชัยในเอเชียนเกมส์จากเดิมผู้ชายแข่ง 8 รุ่น ผู้หญิง 5 รุ่น ปรับเปลี่ยนมาเป็น​ ผู้ชายชิง 7 รุ่น และผู้หญิง 6 รุ่น โดยยังแข่งกัน 13 รุ่นเท่าเดิมแต่ปรับรุ่นน้ำหนักเพื่อให้ตรงกับอีเวนต์ใน ปารีส 2024

 

สำหรับมวยสากลชายนั้นทั้ง 7 รุ่น มีโควตาโอลิมปิกเกมส์ 2024 ให้รุ่นละ 2 โควตา โดย 2 นักชกที่ผ่านเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศจะได้ตั๋วโอลิมปิกเกมส์ 2024 ทันที ขณะที่มวยสากลหญิง 6 รุ่น แบ่งเป็น 4 รุ่นที่จะได้โควตาโอลิมปิกรุ่นละ 4 ที่นั่ง ประกอบด้วย รุ่น 50 กก., รุ่น 54 กก., รุ่น 57 กก. และรุ่น 60 กก. ส่วนอีก 2 รุ่นได้แก่ รุ่น 66 กก. และรุ่น 75 กก. จะได้โควตาโอลิมปิก 2024 รุ่นละ 2 โควตา

 

 

หมายเลขหนึ่งตลอดกาล : เกาหลีใต้

 

อาจจะเหลือเชื่อไปสักนิดหากจะบอกว่าเกาหลีใต้คือชาติที่มีผลงานดีที่สุดในเอเชียนเกมส์ โดยตลอดการแข่งขัน 17 ครั้ง นักชกจากแดนกิมจิคว้าเหรียญทองไปมากที่สุด 59 เหรียญทองมากกว่าอันดับที่ 2 อย่างประเทศไทยถึง 39 เหรียญทอง และยังครองเจ้าเหรียญทองในเอเชียนเกมส์ไปถึง 8 สมัยติดต่อกัน เรียกได้ว่าผูกขาดความยิ่งใหญ่ในเอเชียตั้งแต่ปี 1962-1990 

 

ผลงานระดับมาสเตอร์พีซของเกาหลีใต้ในเอเชียนเกมส์คือเหมา 12 เหรียญทองจาก 12 อีเวนต์ที่ชิงชัยในเอเชียนเกมส์ ปี 1986 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ กลายเป็นข่าวใหญ่ดังกระหึ่มไปทั้งโลก อย่างไรก็ตามยุคสมัยของพวกเขาก็จบลง นับตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 33 ปีแล้วที่เกาหลีใต้ไม่สามารถกลับไปทวงบัลลังก์เจ้าเหรียญทองในเอเชียนเกมส์ได้อีกเลย โดย 3 จาก 7 หนหลังสุดพวกเขาไม่สามารถคว้าเหรียญทองได้ด้วยซ้ำ

 

ขณะที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จมากที่สุดเป็นอันดับ 2 คว้าไปทั้งหมด 20 เหรียญทอง โดยหนเดียวที่นักชกไทยครองเจ้าเหรียญทองได้เกิดขึ้นในเอเชียนเกมส์ 1998 ที่กรุงเทพมหาคร ซึ่งนักกีฬาในชุดนั้นมี สมรักษ์ คำสิงห์, สุบรรณ พันโนน, ประมวลศักดิ์ โพธิ์สุวรรณ เป็นต้น

 

การพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุซเบกิสถานและคาซัคสถาน เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เกาหลีใต้ผลงานตกลงไป ความแข็งแกร่งทางด้านสรีระที่มีทั้งความสูงใหญ่และแข็งแรงตามแบบฉบับยุโรป รวมถึงชั้นเชิงมวยที่ถูกฝึกมาอย่างดีทำให้ปัจจุบัน 2 ชาติจากเอเชียกลางก้าวขึ้นมาเป็นหมายเลข 1 ในเอเชียแล้ว โดยเฉพาะอุซเบกิสถานนั้นครองเจ้าเหรียญทองได้ถึง 3 ครั้งจากเอเชียนเกมส์ 5 ครั้งหลังสุด ซึ่งรวมถึงปี 2018 ที่กวาดไปถึง 5 เหรียญทองจาก 10 รุ่นที่มีชิงชัย และในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 พวกเขายังคงเป็นตัวเต็งที่จะคว้าเหรียญทองได้มากที่สุดอีกครั้ง

 

 

กำปั้นไทย ขอลบความผิดหวังจากปี 2018

 

เอเชียนเกมส์ครั้งนี้ มวยสากลทีมชาติไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 12 รุ่น แบ่งเป็น นักชกชาย 6 รุ่น ประกอบด้วย รุ่น 51 กก. ธิติสรรค์ ปั้นโหมด, รุ่น 57 กก. รุตชกาญจน์ จันทร์ตรง, รุ่น 63.5 กก. บรรจง สินศิริ, รุ่น 71 กก. พีระภัทร์ เยี๊ยะสูงเนิน, รุ่น 80 กก. วีระพล จงจอหอ และรุ่น 92 กก. จักรพงษ์ ยมโคตร

 

ขณะที่นักชกหญิงส่งแข่ง 6 รุ่น ประกอบด้วย รุ่น 50 กก. จุฑามาศ รักสัตย์, รุ่น 54 กก. จุฑามาศ จิตพงศ์, รุ่น 57 กก. พรทิพย์ บัวป่า, รุ่น 60 กก. ธนัญญา สมนึก, รุ่น 66 กก. จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง และรุ่น 75 กก. ใบสน มณีก้อน

 

นักกีฬาชุดนี้มีเพียง จุฑามาศ รักสัตย์ และ รุตชกาญจน์ จันทร์ตรง เพียง 2 คนที่เคยผ่านเอเชียนเกมส์ 2018 มาแล้ว อย่างไรก็ตามขุมกำลังขุดนี้ถือเป็นสายเลือดใหม่ที่มีประสบการณ์ ได้รับโอกาสมาตลอดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนความหวังการคว้าเหรียญทองในปีนี้ บรรจง สินศิริ มีดีกรีแชมป์เอเชียคนล่าสุดในรุ่น 67 กก. ชาย แต่การลดน้ำหนักลงมาถึง 3.5 กก. เช่นเดียวกับ จักรพงษ์ ยมโคตร ที่เป็นแชมป์เอเชียในรุ่น 86 กก. แต่เอเชียนเกมส์ต้องเพิ่มน้ำหนักขึ้นมาแข่งถึง 6 กก. จะส่งผลต่อการลุ้นแชมป์หรือไม่ต้องติดตาม 

 

ขณะที่มวยหญิงถือว่ามีลุ้นกันถ้วนหน้า จุฑามาศ จิตพงศ์, ใบสน มณีก้อน มีประสบการณ์ผ่านโอลิมปิกเกมส์มาแล้ว แถมผลงานในชิงแชมป์เอเชียล่าสุดก็ติดเหรียญรางวัล และเป็นความหวังของกำปั้นไทยในการลบความผิดหวัง ในเอเชียนเกมส์​ หลังจากที่ปี 2018 ขุนพลเสื้อกล้ามไทยไม่สามารถคว้าเหรียญทองติดมือกลับบ้านได้เลย


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ