stadium

5 สุดยอดนักกีฬาชายระดับตำนานในเอเชียนเกมส์

27 กรกฎาคม 2566

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์แต่ละครั้งล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายมีทั้งความประทับใจ สมหวัง ผิดหวังคละเคล้าปะปนกันไป ทุกชัยชนะที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่แค่ชัยชนะของตัวนักกีฬาเท่านั้นแต่มันเปรียบเสมือนชัยชนะของคนทั้งประเทศ เมื่อเป็นแบบนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยครับถ้าจะบอกว่าในทุกการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์จะมีฮีโร่ของประเทศเกิดขึ้นเสมอ และฮีโร่เหล่านี้หลายคนก็กลายเป็นตำนานของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ในเวลาต่อมา สำหรับการจะเป็นตำนานได้นั้นมันมีหลายปัจจัย ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญก็คือการที่นักกีฬาคนดังกล่าวสามารถสร้างผลงานในกีฬาเอเชียนเกมส์ได้อย่างต่อเนื่องและสามารถต่อยอดไปสู่เวทีการแข่งขันในระดับโลกอย่างเช่นชิงแชมป์โลกหรือโอลิมปิกเกมส์ได้

 

บทความนี้ผมจึงมีความตั้งใจที่จะนำเสนอเรื่องราวของ 5 นักกีฬาชายที่จัดได้ว่าเป็นตำนานของการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ทั้ง 5 คนคือนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ของชาวเอเชียและสามารถต่อยอดผลงานของตัวเองไปสู่ระดับโลกได้ เราไปรู้จักเรื่องราวของเหล่าตำนานนักกีฬาชายในกีฬาเอเชียนเกมส์กันครับ

 

 

ยอดนักแบดมินตันแดนอิเหนา “เทาฟิค ฮิดายัต”

 

ใครที่ติดตามวงการลูกขนไก่ในช่วงยุค 2000 เป็นต้นมาต้องคุ้นชื่อของ “เทาฟิค ฮิดายัต” ยอดนักแบดมินตันประเภทชายเดี่ยวของประเทศอินโดนีเซีย นอกจากเทาฟิคจะคว้าแชมป์การแข่งขันแบดมินตันระดับอาชีพได้มากมายหลายรายการแล้ว เจ้าตัวยังเป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ ปี 2004 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซและแชมป์ไอบีเอฟ เวิลด์ แชมเปียนชิพ ปี 2005  อีกด้วย แต่เชื่อหรือไม่ครับว่ากว่าที่ “เทาฟิค ฮิดายัต” จะไปสร้างผลงานได้กระฉ่อนโลกลูกขนไก่ได้แบบนั้น เจ้าตัวก็ผ่านการสร้างผลงานในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์มาก่อนจนกลายเป็นระดับตำนานของมหกรรมกีฬานี้เช่นกัน

 

เทาฟิคนั้นถูกดันขึ้นมาจากรุ่นเยาวชนสู่ทีมชาติอินโดนีเซียชุดใหญ่ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย และสามารถคว้าเหรียญทองได้จากการแข่งขันประเภททีมชายซึ่งเทาฟิคไม่ได้มาในฐานะตัวสำรองหรือตัวประกอบนะครับเพราะเจ้าตัวมีโอกาสลงสนามทุกนัดและสามารถทำผลงานได้อย่างน่าพึงพอใจโดยผลงานเด่นก็คือการปราบ “หลัว อี้กัง” ของทีมชาติจีนในรอบชิงชนะเลิศเก็บคะแนนสำคัญให้กับทีมชาติอินโดนีเซียก่อนที่ในท้ายที่สุดทีมอิเหนาก็สามารถคว้าเหรียญทองไปครองได้สำเร็จ

 

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งถัดมาในปี 2002 “เทาฟิค ฮิดายัต” สามารถพาตัวเองขึ้นไปยืนอยู่บนจุดสูงสุดของโพเดียมอีกครั้งแต่ในครั้งนี้เจ้าตัวสามารถคว้าเหรียญทองประเภทชายเดี่ยวมาครองได้อย่างยิ่งใหญ่เมื่อสามารถปราบ “ซอน ซังมู” และ “ลี ฮุน อิล” สองนักแบดมินตันขวัญใจเจ้าภาพเกาหลีใต้ได้ในรอบรองชนะเลิศและชิงชนะเลิศตามลำดับ ขณะที่ในการแข่งขันประเภททีมชายนั้น เทาฟิคก็เป็นกำลังสำคัญพาทีมชาติอินโดนีเซียคว้าเหรียญเงินไปครอง

 

ปี 2006 ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เทาฟิคยังคงเข้าร่วมการแข่งขันอีกครั้งโดยพกดีกรีเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2004 และแชมป์โลกหรือไอบีเอฟ เวิลด์ แชมเปียนชิพ ปี 2005 ติดตัวมาด้วย โดยในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวที่เจ้าตัวเป็นแชมป์เก่านั้นก็ยากที่จะมีใครมาหยุดยั้งความร้อนแรงได้ เทาฟิคสามารถเอาชนะ “หลิน ตัน” ยอดนักแบดมินตันทีมชาติจีนไปได้ในรอบชิงชนะเลิศและคว้าเหรียญทองประเทศชายเดี่ยวไปครองได้เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน ส่วนในประเภททีมนั้นเทาฟิคพาทีมชาติอินโดนีเซียคว้าเหรียญทองแดงไปครอง

 

จากนั้นอีก 4 ปีถัดมาในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 ปี 2010 ณ เมืองกว่างโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน “เทาฟิค ฮิดายัต” ลงแข่งขันเอเชียนเกมส์อีกครั้งและตั้งความหวังว่าจะเป็นแชมป์ชายเดี่ยวให้ได้ 3 สมัยติดต่อกัน แต่ความฝันก็ต้องมาจบลงที่รอบก่อนรองชนะเลิศเท่านั้น ขณะที่ในการแข่งขันประเภททีมชายเทาฟิคก็สามารถคว้าเหรียญทองแดงร่วมกับทีมชาติอินโดนีเซียมาครองเป็นเหรียญเอเชียนเกมส์เหรียญสุดท้ายของเจ้าตัว

 

 

“หลิน ตัน” ผู้สานต่อตำนานแบดมินตันชายเดี่ยวจากแดนมังกร

 

หากประเทศอินโดนีเซียมี “เทาฟิค ฮิดายัต” เป็นตำนานเอเชียนเกมส์ในกีฬาแบดมินตัน ประเทศจีนก็มี “หลิน ตัน” เป็นนักกีฬาระดับตำนานเช่นกันและไม่ใช่แค่ในระดับเอเชียนเกมส์นะครับ “หลิน ตัน” นี่ถือว่าเป็นนักกีฬาระดับตำนานของโลกใบนี้เลยก็ว่าได้ เจ้าตัวครองเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ในแบดมินตันประเภทชายเดี่ยว 2 สมัยปี 2008 และ 2012 รวมทั้งการเป็นแชมป์โลกประเภทบุคคลอีก 5 สมัย ขณะที่ในประเภททีมก็เป็นแชมป์โลกโธมัส คัพ 6 สมัยและสุธีรมาน คัพ 5 สมัย เรียกได้ว่าในยุคทองของ “หลิน ตัน” นั้นเจ้าตัวจัดว่าไร้เทียมทาน

 

และแน่นอนว่า “หลิน ตัน” นั้นก็คืออีกหนึ่งตำนานนักกีฬาชายในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์เช่นกัน โดย “หลิน ตัน” เริ่มต้นคว้าเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ได้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 2002 ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ โดยได้เหรียญทองแดงในการแข่งขันประเภททีมชาย จากนั้นในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งถัดมาที่ประเทศกาตาร์ เจ้าตัวก็สามารถว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกจากการแข่งขันประเภททีมชาย ที่ทีมชาติจีนสามารถเอาชนะทีมชาติเกาหลีใต้ไปได้ในรอบชิงชนะเลิศ โดยผลงานเด่นของ “หลิน ตัน” คือการเอาชนะ “เทาฟิค ฮิดายัต” ในการพบกันระหว่างทีมชาติจีนและทีมชาติอินโดนีเซียได้ถึง 2 ครั้งในรอบแรกและรอบรองชนะเลิศ ส่วนในประเภทชายเดี่ยวนั้นเจ้าตัวได้เหรียญเงินไปครองแบบน่าเสียดายเมื่อโดนเทาฟิคเอาคืนไปได้ในรอบชิงชนะเลิศ

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 ปี 2010 ณ เมืองกว่างโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ถึงเวลาที่ “หลิน ตัน” จะสร้างตำนานเอเชียนเกมส์อย่างเต็มตัวโดยเจ้าตัวพกดีกรีเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2008 ลงสนามแข่งขันและก็สามารถพาทีมชาติจีนคว้าเหรียญทองในการแข่งขันประเภททีมมาครองได้อีกสมัยด้วยสถิติส่วนตัวของ “หลิน ตัน” ที่สามารถเอาชนะคู่แข่งได้ทุกนัดที่ลงสนาม ส่วนในประเภทชายเดี่ยวนั้นเจ้าตัวต้องโคจรมาพบกับ “เทพลี” ลี ชอง เหว่ย ยอดนักแบดมินตันของมาเลเซียในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งเป็นการรีแมตช์รอบชิงชนะเลิศโอลิมปิกเกมส์ 2008 ซึ่ง “หลิน ตัน” ก็สามารถโค่น “ลี ชอง เหว่ย” ลงได้อีกครั้งคว้าเหรียญทองแบดมินตันประเภทชายเดี่ยวในกีฬาเอเชียนเกมส์ไปครองได้สำเร็จเป็นสมัยแรก

 

จากนั้นในอีก 4 ปีถัดมาในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17 ปี 2014 ณ เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ “หลิน ตัน” ก็สามารถป้องกันแชมป์ประเภทชายเดี่ยวได้สำเร็จโดยสามารถเอาชนะคู่ปรับอย่าง “ลี ชอง เหว่ย” ไปได้ในรอบรองชนะเลิศก่อนจะมาเอาชนะ “เฉิน หลง” เพื่อนร่วมชาติได้ในรอบชิงชนะเลิศ ส่วนการแข่งขันในประเภททีมชายกลับเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เจ้าตัวได้เพียงเหรียญเงินร่วมกับทีมชาติจีนเท่านั้น และล่าสุดในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี 2018 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย “หลิน ตัน” ที่สามารถคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ประเภทชายเดี่ยวและทีมชายไปครองได้แล้วอย่างละ 2 สมัย ก็กลับมาทำหน้าที่เป็นตัวสำรองในประเภททีมชายอีกครั้ง

 

ถึงแม้ว่าในเอเชียนเกมส์ 2018 นั้น เจ้าตัวจะไม่ได้ลงสนามแข่งขันเลยก็ตามแต่ก็ถือว่ามีส่วนร่วมกับทีมในการคว้าเหรียญทองไปครองได้สำเร็จ เป็นเหรียญทองเหรียญที่ 3 ในประเภททีมชายที่เจ้าตัวได้รับและสร้างตำนานคว้าเหรียญทองในกีฬาเอเชียนเกมส์ไปได้ทั้งสิ้น 5 เหรียญ

 

 

“หลิว เซียง” ตำนานเหรียญทองวิ่งข้ามรั้ว 3 สมัยซ้อน

 

“หลิว เซียง” เป็นนักกรีฑาประเภทวิ่งข้ามรั้ว 110 เมตรชาย ของประเทศจีนที่มีชื่อเสียงในระดับโลกเมื่อเจ้าตัวสามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ปี 2004 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ได้อย่างเซอร์ไพรส์ชาวโลก พร้อมทั้งยังสามารถทำลายสถิติโลกและสถิติโอลิมปิกเกมส์ได้อีกด้วย ซึ่งแน่นอนครับว่าไม่ใช่จู่ๆ “หลิว เซียง” จะโด่งดังไปในระดับโลกได้เลยทันที ในทางกลับกันเจ้าตัวนั้นก็สั่งสมผลงานในระดับทวีปและนานาชาติมาพอสมควรซึ่งหนึ่งในผลงานที่โดดเด่นและเป็นระดับตำนานของรายการแข่งขันก็คือการที่ “หลิว เซียง” สามารถคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้ 3 สมัยติดต่อกันจากรายการวิ่งข้ามรั้ว 110 เมตรชาย

 

“หลิว เซียง” เริ่มต้นการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งแรกในปี 2002 ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดย ณ เวลานั้นเจ้าตัวในวัย 19 ปีสามารถวิ่งทำเวลาได้ 14.08 วินาทีในรอบคัดเลือก ก่อนที่ในรอบชิงชนะเลิศจะสามารถทำเวลาได้ 13.27 วินาที คว้าเหรียญทองไปครองได้สำเร็จและสามารถทำลายสถิติเอเชียนเกมส์ลงได้อีกด้วย และผลงานดังกล่าวก็เป็นเริ่มต้นในการสร้างชื่อเสียงของเจ้าตัว

 

หลังจากได้เหรียญทองในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2002 แล้ว “หลิว เซียง” ก็สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ระดับโลกได้อย่างยอดเยี่ยมเมื่อสามารถคว้าเหรียญทองแดงการแข่งกรีฑาชิงแชมป์โลก ปี 2005 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสต่อด้วยการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2004 ในปีถัดมาส่งให้เจ้าตัวมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ลมบนของวงการกรีฑาโลก

 

ปี 2006 “หลิว เซียง” เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ในฐานะแชมป์เก่ารายการวิ่งข้ามรั้ว 110 เมตรและก็สามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมเมื่อเจ้าตัวสามารถคว้าเหรียญทองไปครองด้วยเวลา 13.15 วินาที ทำลายสถิติเอเชียนเกมส์ที่ตัวเองทำเอาไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้วลงได้สำเร็จ ซึ่งหลังจาก “หลิว เซียง” สามารถคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้ 2 สมัยติดต่อกัน ในปีถัดมาเจ้าตัวก็ขึ้นถึงจุดสูงสุดอีกครั้งเมื่อสามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกได้เป็นครั้งแรก ทำให้ “หลิว เซียง” กลายเป็นนักกีฬาประวัติศาสตร์เมื่อสามารถครองเหรียญทองได้ทั้ง โอลิมปิกเกมส์, กรีฑาชิงแชมป์โลก และเอเชียนเกมส์

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 ปี 2010 ณ เมืองกว่างโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากที่ “หลิว เซียง” รักษาอาการบาดเจ็บที่เกิดจากโอลิมเกมส์ 2008 จนหายดี เจ้าตัวก็มุ่งมั่นที่จะคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ให้ได้เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน “หลิว เซียง” ทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างหนักซึ่งผลจากความพยายามก็บังเกิดผลเมื่อเจ้าตัวสามารถวิ่งได้อย่างไร้คู่แข่งทำเวลาไปได้ 13.09 วินาที คว้าเหรียญทองไปครองพร้อมทำลายสถิติเอเชียนเกมส์ลงอีกครั้ง จนเป็นอีกหนึ่งตำนานที่ทุกคนกล่าวถึง

 

 

“ปาร์ค แทฮวาน” ราชาฟรีสไตล์ พลังโสม

 

หลังจากเราได้รู้จักนักกีฬาชายระดับตำนานของเอเชียนเกมส์มาแล้ว 3 คนจากกีฬาแบดมินตันและกรีฑา สำหรับตำนานคนที่ 4 นี้ผมขออนุญาตพาไปรู้จักกับตำนานนักว่ายน้ำชาวเกาหลีใต้กันบ้างครับ ซึ่งเขาก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนักกีฬาคนนั้นก็คือ “ปาร์ค แทฮวาน” นั่นเอง

 

“ปาร์ค แทฮวาน” เป็นนักว่ายน้ำทีมชาติเกาหลีใต้ จัดได้ว่าเป็นนักกีฬาระดับตำนานของมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์อีกคนหนึ่ง เจ้าตัวสามารถสร้างความสำเร็จให้กับทีมชาติเกาหลีใต้ได้อย่างมากมาย และก็สามารถต่อยอดความสำเร็จจากเวทีการแข่งขันระดับทวีปไปสู่การคว้าเหรียญรางวัลในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ได้สำเร็จ โดย “ปาร์ค แทฮวาน” นั้นเริ่มต้นสร้างผลงานในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ปี 2006 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ โดยเจ้าตัวสามารถคว้ามาได้ 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงินและ 3 เหรียญทองแดง โดยทั้ง 3 เหรียญทองที่ได้จากการแข่งขันในครั้งนั้นก็ได้จากว่ายน้ำประเภทฟรีสไตล์ 200 เมตร, 400 เมตร และ 1,500 เมตร ซึ่ง “ปาร์ค แทฮวาน” สามารถเอาชนะยอดนักว่ายน้ำทีมชาติจีนอย่าง “จาง หลิน” ไปได้ทั้ง 3 รายการ

 

หลังจากที่ “ปาร์ค แทฮวาน” ประสบความสำเร็จในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2006 แล้วนั้นเจ้าตัวก็มุ่งมั่นทุ่มเทพัฒนาฝีมืออย่างหนักจนสามารถก้าวไปถึงการคว้าเหรียญทองฟรีสไตล์ 400 เมตร ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 29 ปี 2008 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งดังกล่าวเจ้าตัวยังได้มาอีก 1 เหรียญเงินจากรายการฟรีสไตล์ 200 เมตร โดยพ่ายแพ้ให้กับสุดยอดนักว่ายน้ำของโลกอย่าง “ไมเคิล เฟลป์ส” ไปแบบน่าเสียดาย

 

การประสบความสำเร็จของ “ปาร์ค แทฮวาน” ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์และโอลิมปิกเกมส์ที่ผ่านมาทำให้ชื่อเสียงของเจ้าตัวมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 ปี 2010 ณ เมืองกว่างโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เจ้าตัวถูกจับตามมองว่าจะสามารถรักษามาตรฐานผลงานให้ดีอย่างที่ผ่านมาได้หรือไม่ ว่ากันว่าการเป็นแชมป์นั้นยากแล้วแต่การป้องกันแชมป์ให้ได้เป็นสิ่งที่ยากกว่าหลายเท่านัก แต่นั่นกลับเป็นแรงผลักดันในการมุ่งมั่นทุ่มเทฝึกซ้อมของเจ้าตัว และผลลัพธ์ของความมุ่งมั่นทุ่มเทนั้นก็ออกดอกออกผลเมื่อเจ้าตัวสามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้ 3 เหรียญจากการแข่งขันในรายการฟรีสไตล์ 100 เมตร, ฟรีสไตล์ 200 เมตร และฟรีสไตล์ 400 เมตร

 

หลังจากจบการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ปี 2010 แล้ว อีก 2 ปีถัดมาในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 30 ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร “ปาร์ค แทฮวาน” ก็สามารถทำได้อีก 2 เหรียญเงินจากรายการฟรีสไตล์ 200 เมตร และฟรีสไตล์ 400 เมตร สร้างตำนานเป็นอีกนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเกาหลีใต้รวมทั้งยังเป็นอีกหนึ่งตำนานนักกีฬาชายในเอเชียนเกมส์

 

 

“โคสุเกะ คิทาจิมะ” ฉลามหนุ่มจากแดนอาทิตย์อุทัย

 

สำหรับนักกีฬาชายตำนานเอเชียนเกมส์คนสุดท้ายคงจะเป็นใครไปเสียไม่ได้นอกจาก “โคสุเกะ คิทาจิมะ” นักว่ายน้ำทีมชาติญี่ปุ่น ราชาท่ากบ ผู้คว้า 4 เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ กับ 7 เหรียญทองเอเชียนเกมส์ เป็นนักกีฬาอีกคนที่สามารถสร้างผลงานระดับตำนานในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์และสามารถต่อยอดไปสู่เวทีการแข่งขันระดับโลกได้ โดยเจ้าตัวเริ่มต้นสร้างผลงานในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 2002 ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ซึ่ง โคสุเกะสามารถคว้ามาได้ 3 เหรียญทอง เริ่มจากรายการท่ากบ 100 เมตร ที่เจ้าตัวเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 1:00.45 นาที ทำลายสถิติเอเชียนเกมส์ลงได้สำเร็จ จากนั้นรายการท่ากบ 200 เมตรโคสุเกะคว้าเหรียญทองได้ด้วยเวลา 2:09.97 นาที ซึ่งเป็นสถิติโลกใหม่ ณ เวลานั้น ส่วนอีกเหรียญทองเจ้าตัวได้มาจากประเภททีมในรายการผลัดผสม 4x100 เมตร

 

หลังจาก “โคสุเกะ คิทาจิมะ” สร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจในเอเชียนเกมส์ 2002 เจ้าตัวก็สามารถต่อยอดผลงานในระดับโลกได้โดยการคว้าเหรียญทองได้ 2 เหรียญในการแข่งขันว่ายน้ำชิงแชมป์โลก ปี 2003 ณ กรุงบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน โดยได้จากรายการท่ากบ 100 เมตรและ 200 เมตร โดยสามารถทำลายสถิติโลกได้ทั้ง 2 รายการจากนั้นในปีถัดมา “โคสุเกะ คิทาจิมะ” ก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ได้จาก 2 รายการดังกล่าวและพ่วงมาด้วย 1 เหรียญทองแดงจากทีมผลัดผสม 4x100 เมตร

 

โคสุเกะแม้จะไปสู่เวทีการแข่งขันระดับโลกแล้วเจ้าตัวก็ยังคงมุ่งมั่น ทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ เจ้าตัวต้องการรักษามาตรฐานให้ได้ในทุกสนามแข่งขัน จากนั้นเจ้าตัวก็เข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ปี 2006 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ และโคสุเกะก็สามารถสร้างผลงานที่น่าประทับใจได้อีกครั้งเมื่อสามารถคว้ามาได้ 3 เหรียญทองกับ 1 เหรียญเงิน โดยเหรียญทองนั้นก็ได้จากการป้องกันแชมป์ได้ทั้ง 3 รายการ คือ ท่ากบ 100 เมตร, 200 เมตร และทีมผลัดผสม 4x100 เมตร ส่วนเหรียญเงินในครั้งนั้นเจ้าตัวได้จากรายการท่ากบ 50 เมตร

 

อีก 2 ปีถัดมาในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2008 โคสุเกะสามารถคว้าเหรียญทองได้อีกจากการแข่งขันรายการท่ากบ 100 เมตรและ 200 เมตร พ่วงมาด้วย 1 เหรียญทองแดงจากทีมผลัดผสม 4x100 เมตร ก่อนที่ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2010 เจ้าตัวก็คว้าเหรียญทองสุดท้ายในเอเชียนเกมส์ได้จากรายการทีมผลัดผสม 4x100 เมตร และก็ไปได้เหรียญเงินในรายการเดียวกันนี้ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 30 ปี 2012 ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร เป็นการปิดฉากผลงานระดับตำนานเอเชียนเกมส์และโอลิมปิกเกมส์อย่างสมบูรณ์

 

ครับทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ 5 นักกีฬาชายที่จัดได้ว่าเป็นระดับตำนานของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ทั้ง 5 คนคือนักกีฬาที่สามารถสร้างผลงานและพิสูจน์ตัวเองได้ทั้งในเวทีการแข่งขันระดับทวีปและระดับโลก เป็นนักกีฬาที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในประเทศและชาวเอเชีย เป็นนักกีฬาที่ควรค่าแก่การจารึกไว้ให้เป็นตำนานเอเชียนเกมส์ตลอดไป


stadium

author

ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)

ผู้ชื่นชอบการรวบรวมข้อมูลนักกีฬาไทย และหลงไหลในกาแฟ ธรรมชาติ และหมาแมว