stadium

คบเพลิงและเหรียญรางวัล องค์ประกอบหลักและเอกลักษณ์ของหางโจว 2022

26 กรกฎาคม 2566

การแข่งขันมหกรรมกีฬาในระดับต่างๆ นั้นกิมมิคหรือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยส่วนหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากแฟนกีฬาก็คือคบเพลิงที่จะใช้จุดไฟอันเป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้นของการแข่งขันและเหรียญรางวัลที่นักกีฬาจะได้รับเมื่อเป็นผู้ชนะ สำหรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ปี 2022 ณ เมืองหางโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในระหว่างวันที่ 23 กันยายน - 8 ตุลาคม 2023 นี้ เจ้าภาพได้ทำการเปิดตัวคบเพลิง “ซิน หั่ว” กับเหรียญรางวัล “ชาน ฉ่วย” สู่สายตาชาวเอเชียเป็นที่เรียบร้อยแล้วและก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีเยี่ยม ซึ่งต้องยอมรับเลยครับว่าผู้ออกแบบนั้นสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างงดงามและมีความหมายสมกับการรอคอย

 

บทความนี้จะพาทุกท่านไปพบกับคบเพลิงและเหรียญรางวัลของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2022 หรือหางโจวเกมส์ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราว และความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบกันครับ

 

 

“เปลวไฟนิรันดร์” คบเพลิงประจำหางโจวเกมส์

 

คณะกรรมการจัดการแข่งขันหางโจวเกมส์ได้เปิดตัวคบเพลิงที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Eternal Flame” หรือก็คือ “เปลวไฟนิรันดร์” โดยการออกแบบนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรม “เหลียงจู่” ที่มีจุดกำเนิดเมื่อ 5,000 ปีที่ผ่านมา โดยแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ทางเจ้าภาพเน้นให้ตัวคบเพลิงมีความสง่างามและแฝงไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้งตามแบบฉบับของชาวจีน ตัวฐานของคบเพลิงจะมีลักษณะเป็นลายนูนโดยมีเส้นสายทั้งหมด 8 เส้นเพื่อสื่อถึงแม่น้ำสายหลักทั้ง 8 สายในมณฑลเจ้อเจียง ที่เป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมจีนโบราณ

 

ส่วนหัวของคบเพลิงจะมีลักษณะเป็นแบบ “หยกฉง” ซึ่งเป็นหยกที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมจีนมาอย่างยาวนาน โดยการเลือกใช้หยกฉงที่หัวคบเพลิงนั้นผู้ออกแบบต้องการให้มีการเข้ากันกับชื่อ “เปลวไฟนิรันดร์” ที่สื่อถึงการส่งต่ออารยธรรมจีนจากรุ่นสู่รุ่นจากอดีตมาสู่ปัจจุบันและจะต่อเนื่องไปยังโลกอนาคตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งคบเพลิงนี้มีความสูงอยู่ที่ 730 มิลลิเมตร และน้ำหนักสุทธิ 1,200 กรัม

 

สำหรับคบเพลิง “เปลวไฟนิรันดร์” ได้ถูกจุดอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา ณ สวนต้าโม้เจี่ยวซาน ซากเมืองโบราณเหลียงจู่ ในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งถือว่าเป็นการนับถอยหลัง 100 วันก่อนที่พิธีเปิดหางโจวเกมส์ 2022 จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ สำหรับสาเหตุที่ฝ่ายจัดการแข่งขันเลือกสวนต้าโม้เจี่ยวซาน ซากเมืองโบราณเหลียงจู่ เป็นที่จุดไฟคบเพลิงนั้นก็เพราะชาวจีนมีความเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้เปรียบเสมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่ยุคโบราณ ดังนั้นไฟคบเพลิงที่เริ่มจุด ณ สถานที่แห่งนี้ก็เปรียบเสมือนแสงสว่างที่นำพาอารยธรรมเหลียงจู่ข้ามผ่านกาลเวลามาสู่ปัจจุบันและต่อเนื่องไปยังอนาคต

 

 

เหรียญรางวัล “ชาน ฉ่วย” ที่ระลึกแห่งชัยชนะ

 

เหรียญรางวัล “ชาน ฉ่วย” ที่ออกแบบโดยศาสตราจารย์ จาง จุนเจี๋ย นั้น คือเหรียญรางวัลที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์จะมอบให้กับนักกีฬาที่สามารถยืนอยู่บนโพเดียมอันดับที่ 1-3 เท่านั้น โดยลวดลายของเหรียญรางวัลนี้จะเป็นรูปทะเลสาบและภูเขา และลักษณะรูปทรงของเหรียญ “ชาน ฉ่วย” นี้ได้แรงบันดาลใจจาก “หยกอี้ฉง” ซึ่งเป็นหยกโบราณที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้ในวัฒนธรรมเหลียงจู่โบราณโดยตัวเหรียญจะมีรูปร่างเป็นขอบเหลี่ยมด้านนอกตัวเหรียญส่วนด้านในตัวเหรียญนั้นจะยังคงความเป็นวงกลมไว้เป็นการสะท้อนเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ของเมืองหางโจว

 

ที่ด้านหน้าของเหรียญรางวัล “ชาน ฉ่วย” จะเป็นภูเขาและทะเลสาบ “ซีหู” ที่มีความสวยงามและมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากโดยทะเลสาบแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นบ่อเกิดของบทกวีและนิยายชื่อดังมากมายหลายเรื่องของประเทศจีน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องนางพญางูขาวนั่นเอง โดยหน้าเหรียญ “ชาน ฉ่วย” ที่มีทะเลสาบ “ซีหู” นั้นก็จะมี “สะพานสะบั้นรัก” และโคมไฟที่สร้างเป็นทรงเจดีย์หิน 3 ดวงร่วมอยู่ด้วย ส่วนด้านหลังของเหรียญรางวัล “ชาน ฉ่วย” นั้นจะเป็นสัญลักษณ์ของกีฬาเอเชียนเกมส์ตามธรรมเนียมปฏิบัติ

 

เมื่อทุกท่านอ่านมาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าเราคงมีความรู้สึกไม่ต่างกันนะครับว่าเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้มีความใส่ใจในการสร้างกิมมิคของคบเพลิงและเหรียญรางวัลเป็นอย่างมาก ทุกรายละเอียดล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวและวัฒนธรรมอันมีประวัติศาสตร์ที่แสนยาวนานของประเทศจีนและเมืองหางโจว ผู้ที่ได้ครอบครองเหรียญรางวัลในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนี้นอกจากจะเป็นที่ระลึกถึงชัยชนะในเกมการแข่งขันแล้ว ก็ยังเปรียบเสมือนได้มีส่วนร่วมกับการส่งต่อวัฒนธรรมจีนจากอดีตไปสู่อนาคตอีกด้วย


stadium

author

ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)

ผู้ชื่นชอบการรวบรวมข้อมูลนักกีฬาไทย และหลงไหลในกาแฟ ธรรมชาติ และหมาแมว