21 กรกฎาคม 2566
ตลอดระยะเวลา 65 ปี กับการชิงชัย 16 ครั้งที่วอลเลย์บอลถูกบรรจุให้มีการแข่งขันในมหกรรมเอเชียนเกมส์ โดยมีเพียง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีนและอิหร่าน เป็นเพียง 4 ชาติเท่านั้นที่เคยประสบความสำเร็จคว้าเหรียญทองมาแล้วในอดีต
ส่วนวอลเลย์บอลไทยผลงานดีที่สุดคือการคว้าเหรียญเงินเมื่อ 5 ปีก่อนจากประเภททีมหญิงซึ่งเป็นชุดผสมระหว่าง 7 เซียนและสายเลือดใหม่ ส่วนในปีนี้พวกเธอยกพลบุกแผ่นดินจีนด้วยขุมกำลังชุด New Generation เพื่อเดินหน้าพิชิตความฝันที่ยังทำไม่ได้สำเร็จ
ญี่ปุ่น เบอร์ 1 เอเชียนเกมส์
วอลเลย์บอลถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1895 โดย นายวิลเลียม จี. มอร์แกน ผู้อำนวยการฝ่ายพลศึกษาของสมาคม Y.M.C.A. (Young Men's Christian Association) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เป็นผู้คิดค้น จากนั้นได้มีการเผยแพร่วอลเลย์บอลให้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้นในหลายประเทศเอเชียและทั่วโลก
โดยในปี 1952 สหพันธ์วอลเลย์บอลแห่งเอเชียได้ถูกก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีนายนิชิกาวะ จากญี่ปุ่นเป็นประธาน หลังจากนั้นเพียง 6 ปี จากความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ทำให้วอลเลย์บอลถูกบรรจุเข้าร่วมการแข่งขันในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์เป็นครั้งแรก ในปี 1958 ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในปีดังกล่าวได้จัดให้มีชิงเหรียญรางวัล 2 อีเวนต์ในประเภททีมชาย 6 คน และทีมชาย 9 คน โดยแน่นอนว่าทั้ง 2 เหรียญทองตกเป็นของญี่ปุ่น
ในปี 1962 เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 4 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นประวัติศาสตร์ของวงการลูกยางเอเชีย เพราะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เอเชียนเกมส์บรรจุให้กีฬาชนิดนี้ชิงชัยถึง 4 อีเวนต์ ประกอบด้วย ทีมชาย 6 คน, ทีมชาย 9 คน , ทีมหญิง 6 คนและทีมหญิง 9 คน ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเป็นชาติเดียวที่เหมาครบ 4 เหรียญทองในเอเชียนเกมส์ครั้งเดียว เพราะหลังจากนั้นเป็นต้นมา นับตั้งแต่เอเชียนเกมส์ 1968 ที่ประเทศไทย วอลเลย์บอลถูกหั่นให้เหลือชิงชัยเพียง 2 อีเวนต์ คือประเภททีมชาย 6 คน และทีมหญิง 6 คน เพื่อให้สอดคล้องกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ที่มีชิง 2 เหรียญทอง
ตลอดระยะเวลา 65 ปี ที่กีฬาวอลเลย์บอลบรรจุอยู่ในเอเชียนเกมส์ ญี่ปุ่น เป็นชาติที่ประสบความสำเร็จมาที่สุด โดยคว้าไป 16 เหรียญทอง แบ่งเป็นการคว้าเหรียญทองจากประเภททีมชาย 6 คน 8 เหรียญทอง ทีมหญิง 6 คน 5 เหรียญทอง ทีมชาย 9 คน 2 เหรียญทอง และทีมหญิง 9 คน 1 เหรียญทอง
4 เสือแห่งวงการลูกยางเอเชีย
ในประวัติศาสตร์วอลเลย์บอลเอเชียนเกมส์ มีเพียง 4 ชาติเท่านั้นที่สามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้ โดยญี่ปุ่นนั้นผูกขาดครองความยิ่งใหญ่ทีมชายและทีมหญิงในช่วงปี 1958-1982 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาในประเภททีมชาย เกาหลีใต้ จีน ผลัดกันคว้าแชมป์ 3 สมัย ขณะที่อิหร่านกลายเป็นเสือตัวที่ 4 ที่คว้าเหรียญทองประเภททีมชายใน 2 ครั้งล่าสุด (2014-18)
ขณะที่ประเภททีมหญิง นับตั้งแต่ปี 1982 จีนยกระดับตัวเองขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่แทนญี่ปุ่นแบบเบ็ดเสร็จ คว้าไป 8 เหรียญทองจาก 10 ครั้งหลังสุด และกำลังเดินหน้าโค่นญี่ปุ่นลงจากบัลลังก์เจ้าเหรียญทองต่อไปเรื่อย ๆ
ส่วนเกาหลีใต้สอดแทรกขึ้นคว้าแชมป์ในประเภททีมหญิงได้ 2 สมัย ในปี 1994 ที่ฮิโรชิม่า และ 2014 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ ส่วนญี่ปุ่นนั้นไม่สามารถคว้าแชมป์ทีมหญิงได้อีกเลยนับตั้งแต่เหรียญทองสมัยที่ 5 ในปี 1978
นอกจากเสือ 4 ตัวที่ผลัดกันคว้าแชมป์แล้ว ยังมีอีก 2 ชาติที่เคยก้าวไปถึงรอบชิงชนะเลิศแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ อินเดีย ในประเภททีมชายที่แพ้ญี่ปุ่นเมื่อปี 1962 และทีมชาติไทย ในประเภททีมหญิง ซึ่งแพ้จีนในเอเชียนเกมส์ 2018
สานฝันลูกยางสาวไทยขอเป็นเสือตัวที่ 5 ในเอเชีย
ย้อนดูผลงานของทีมวอลเลย์บอลไทยในเอเชียนเกมส์กันบ้าง ในประเภททีมชายยังไม่เคยคว้าเหรียญรางวัลได้เลย โดยความสำเร็จสูงสุดคือจบอันดับที่ 4 ในปี 2010 ที่ประเทศจีน
ขณะที่ประเภททีมหญิง นับตั้งแต่รุ่นของ ปริม อินทวงศ์ มาจนถึงยุค 7 เซียน ที่นำโดย วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์, อรอุมา สิทธิรักษ์, ปลื้มจิตร์ ถินขาว, นุศรา ต้อมคำ เป็นต้น ผ่านความล้มเหลวมาครั้งแล้วครั้งเล่า จบอันดับ 4 ถึง 3 หน (1986, 1998, 2006) ก่อนจะมาประสบความสำเร็จครั้งแรกด้วยการคว้าเหรียญทองแดงปี 2014 จากนั้น 4 ปีต่อมา พวกเธอได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าเหรียญเงิน ซึ่งเป็นชุดผสมระหว่างประสบการณ์ของ 7 เซียน กับความสดของสายเลือดใหม่อย่าง พิมพิชยา ก๊กรัมย์, อัจฉราพร คงยศ และชัชชุอร โมกศรี เป็นต้น
ส่วนเอเชียนเกมส์ 2022 ที่ประเทศจีน โอกาสในการคว้าเหรียญรางวัลของลูกยางไทยยังคงอยู่ที่ทีมหญิงอีกครั้ง ซึ่งในปีนี้มาด้วยขุมกำลังชุด New Generation แต่พร้อมด้วยประสบการณ์และความสามารถ ท้ายที่สุดแล้วพวกเธอจะสามารถก้าวข้ามยักษ์ใหญ่อย่าง จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อไปคว้าเหรียญทองพร้อมสถาปนาตัวเองเป็นชาติที่ 5 ที่คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้หรือไม่ ร่วมส่งกำลังใจให้พวกเธอได้ระหว่างวันที่ 23 กันยาน ถึงวันที่ 8 ตุลาคมนี้
TAG ที่เกี่ยวข้อง