stadium

แบดมินตัน : ยุคทองขนไก่ไทยกับโอกาสซิวเหรียญทองเอเชียนเกมส์ในรอบ 57 ปี

14 กรกฎาคม 2566

แม้ว่าจะเป็นกีฬาที่ได้รับความสนใจจากแฟนกีฬาชาวไทย เพราะมีซูเปอร์สตาร์ประดับวงการเป็นที่รู้จักให้กองเชียร์ได้ติดตาม แต่ทว่าความสำเร็จในเอเชียนเกมส์ยังคงเป็นเพียงเส้นขนานกับทัพขนไก่ไทยมากว่า 50 ปี

 

อย่างไรก็ตามเอเชียนเกมส์ 2022 ด้วยขุมกำลังของแบดมินตันไทยที่ค่อนข้างแข็งแกร่งกว่าที่ผ่านมา ทำให้ในปีนี้มีโอกาสไม่น้อยที่เราจะปลดล็อกความสำเร็จที่รอคอย

 

 

วิวัฒนาการของแบดมินตัน

 

แบดมินตัน บรรจุอยู่ในเอเชียนเกมส์ในฐานะกีฬาสาธิตครั้งแรกในปี 1958 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะได้รับบรรจุให้มีการชิงชัยครั้งแรกในอีก 4 ปีต่อมา ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งในครั้งแรกนั้นมีเพียง 9 ชาติที่เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ในปีนั้นมีการชิงเหรียญรางวัลทั้งหมด 6 ประเภท ชายเดี่ยว ชายคู่ หญิงเดี่ยว หญิงคู่ ทีมชายและทีมหญิง 

 

จากความนิยมที่สูงขึ้น ทำให้เอเชียนเกมส์ในอีก 4 ปีต่อมาในปี 1966 ได้บรรจุประเภทคู่ผสมให้มีการชิงเหรียญทองเพิ่มอีก 1 อีเวนต์ และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาแบดมินตันชิงเหรียญทอง 7 อีเวนต์ตลอดมา ส่วนกติกาการนับคะแนนก็ยึดโยงจากสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ ตั้งแต่ 11 แต้ม ปรับมาเป็น 15 แต้ม และ 21 แต้มในปัจจุบัน

 

 

จีน แกร่งทั่วแผ่น ครองบัลลังก์เอเชีย

 

เป็นอีกชนิดกีฬาที่จีนเป็นเบอร์ 1 ในทวีปเอเชีย พวกเขาคว้าเหรียญทองแบดมินตันในเอเชียนเกมส์ไปแล้ว 43 เหรียญทองจาก 12 ครั้งที่พวกเขาเข้าร่วมการแข่งขันในปี 1974 เป็นการกอบโกยความสำเร็จได้มากที่สุดเหนือคู่แข่งในทวีปเดียวกัน ทิ้งห่างอินโดนีเซียอันดับ 2 มากถึง 15 เหรียญทองเลยทีเดียว

 

ไม่เพียงเท่านั้นนักแบดจีนยังตอกย้ำความเป็นหมายเลขหนึ่งในวงการขนไก่ด้วยการครองเจ้าเหรียญทองในเอเชียนเกมส์ได้ถึง 9 ครั้ง และหากนับเฉพาะในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาคว้าตำแหน่งเจ้าเหรียญทองในเอเชียนเกมส์ได้ตลอด 4 หนหลังสุดหรือนับตั้งแต่โดฮาเกมส์ ปี 2006 ที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นต้นมา

 

หลังจบโอลิมปิกเกมส์ 2016 แม้ว่าแบดมินตันจีนเข้าสู่ยุคผลัดใบ หลิน ตัน, เฉิน หลง, หวัง อี้ฮาน, ลี เสี่ยวเร่ย, จาง หนาน, จ้าว หยุนเร่ย ต่างก็เริ่มอำลาวงการ แต่ด้วยความแข็งแกร่งของจีนซึ่งเป็นที่รู้กันดี พวกเขาใช้เวลาเพียงแค่ปีเศษๆ ในการผลักดันและสร้างนักแบดรุ่นใหม่ขึ้นมาประดับวงการได้อีกครั้ง ในช่วง 7  ปีที่ผ่านมา ชื่อของ ​เฉิน ยู่เฟย, เจีย ยี่ฟาน, เฉิน ชิงเฉิน, หวง หย่าฉง, เจิ้ง ซื่อเหว่ย ชื่อเหล่านี้ต่างก็ก้าวขึ้นไปถึงมือ 1 ของโลกกันมาแล้ว และเป็นกำลังสำคัญของจีนในยุคปัจจุบันที่ทำให้นักตบลูกขนไก่จากแดนมังกรครองเจ้าเหรียญทองทั้งในเอเชียนเกมส์ 2018 และโอลิมปิกเกมส์ 2020 

 

 

คู่แข่งแย่งเหรียญจีนและไทย

 

ญี่ปุ่น ถือเป็นคู่ต่อกรที่ศักยภาพใกล้เคียงกับมังกรจีนมากที่สุด ปัจจุบันพวกเขามีสตาร์ประดับวงการขนไก่โลกอยู่ครบทั้ง 5 ประเภท อากาเนะ ยามากูชิ มือ 1 ของโลกหญิงเดี่ยว, โคได นาราโอกะ มือ 3 ของโลกจากชายเดี่ยว, ทากูโระ โฮกิ กับ ยูโกะ โคบายาชิ จากชายคู่ ส่วนคู่ผสมอย่าง ยูตะ วาตานาเบะ กับ อริสะ ฮิกาชิโนะ ก็แข็งแกร่งสุด ๆ ในประเภทคู่ผสม ส่วนประเภทหญิงคู่ก็เบียดกันอยู่ถึง 3 คู่ในตำแหน่งท็อป 10 ของโลก ทุกคนที่เอ่ยมาทั้งหมดนี้ ต่างประสบความสำเร็จในรายการระดับ เวิลด์ ทัวร์ แทบจะทุกสัปดาห์ 

 

แต่ในทางกลับกัน ยามลงแข่งกีฬาระดับมหกรรมพวกเขากลับทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวัง ย้อนกลับไปในเอเชียนเกมส์ 2018 ญี่ปุ่นทำได้เพียง 1 เหรียญทองจากประเภททีมหญิง ส่วนโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ ก็คว้าน้ำเหลวชนิดแบบหมดคำแก้ตัว ทั้ง ๆ ที่ถูกคาดหมายว่าจะมีอย่างน้อย 2-3 เหรียญทอง เอเชียนเกมส์ครั้งนี้จึงเป็นบทพิสูจน์ของทัพขนไก่จากแดนอาทิตย์อุทัยอีกครั้ง

 

ด้านความแข็งแกร่งของอินโดนีเซียก็ยังเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะนักกีฬาชายของพวกเขาที่มักจะแสดงผลงานออกมาได้อย่างโดดเด่น เมื่อลงแข่งรายการระดับมหกรรมกีฬา ชายคู่ของพวกเขาครองเหรียญทองเอเชียนเกมส์มา 3 สมัยติดแล้ว ชายเดี่ยว โจนาธาน คริสตี้ ก็เป็นแชมป์เก่า และยังมี แอนโทนี่ กินติ้ง ที่กลับมาทำผลงานได้ดีอีกครั้ง หรือแม้แต่ เกรกอเรีย มาริสก้า ตุนจุง ในประเภทหญิงเดี่ยวก็พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนขึ้นมาติดท็อป 8 ของโลกแล้ว

 

เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่แกร่งมากในประเภททีมหญิง อัน เซยอง มือ 2 ของโลกที่กำลังอยู่ในฟอร์มพีคสุด ๆ ประเภทหญิงคู่ก็มีนักกีฬาติดท็อป 5 ของโลกอยู่ 2 คู่ และท็อป 10 โลกถึง 3 คู่ นอกเหนือจาก 3 ประเทศที่กล่าวมากแล้ว ยังมีอินเดียและไต้หวัน ที่เป็นขวากหนามสำคัญในการลุ้นความสำเร็จของขนไก่จีนและไทยในเอเชียนเกมส์ 2022

 

 

โอกาสของขนไก่ไทย

 

ย้อนดูความสำเร็จของแบดมินตันไทยกันบ้าง เข้าร่วมเอเชียนเกมส์ครบทั้ง 15 ครั้ง ทำผลงานได้ 1 เหรียญทอง 11 เหรียญเงิน 15 เหรียญทองแดง โดยเหรียญทองประวัติศาสตร์ที่ทำได้นั้นต้องย้อนกลับไป 57 ปีก่อน ได้จากประเภททีมชายในปี 1966 ที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ นำทัพโดย เจริญ วรรธนะสิน ตำนานขนไก่ไทย

 

ส่วนผลงานเอเชียนเกมส์ 3 ครั้งล่าสุด กว่างโจวเกมส์ 2010 เป็นปีที่ทัพขนไก่ไทยใกล้เคียงกับเหรียญทองมากที่สุด แต่ก็ยังไปไม่ถึงฝัน โดยประเภททีมหญิงไทยไปแพ้จีนในรอบชิงฯ 0-3 คู่ ขณะที่ปี 2014 ไม่มีเหรียญรางวัล ผลงานใกล้เคียง รัชนก อินทนนท์ จบเส้นทางเพียงรอบก่อนรองชนะเลิศ และครั้งล่าสุดปี 2018 ได้มา 1 เหรียญทองแดงจากทีมหญิง

 

ส่วนเอเชียนเกมส์ 2022 ขุมกำลังของทัพแบดมินตันไทยถือว่าแข็งแกร่งที่สุดในรอบหลายปีเลยก็ว่าได้ ในประเภทชายเดี่ยว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ฟอร์มดีวันดีคืน หากตัด วิคเตอร์ อเซลเซ่น มือ 1 ของโลกที่ไม่ได้อยู่ในทวีปเอเชียแล้ว คู่แข่งที่เหลือถือว่า กุลวุฒิ สู้ได้และเคยเอาชนะมาได้หมดทุกคนแล้ว มีภาษีดีทีเดียวกับการลุ้นเหรียญทองในปีนี้

 

ประเภทหญิงเดี่ยว รัชนก อินทนนท์ ก็ดูจะค่อยๆ เรียกฟอร์มเก่งและความมั่นใจกลับมาได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยระดับฝีมือของเธอแล้วจะกาชื่อเธอออกจากสารบบลุ้นแชมป์ไม่ได้เลย ประเภทคู่ผสม "บาส" เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ "ปอป้อ" ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ยังคงเป็นท็อป 4 ที่พร้อมชนะได้ทุกคนเหมือนเดิม หรือแม้แต่ในประเภทหญิงคู่ "กิ๊ฟ" จงกลพรรณ กิติธรากุล - "วิว" รวินดา ประจงใจ และคู่พี่น้อง "มูนา" เบญญาภา กับ "อันนา" นันทน์กาญจน์ เอี่ยมสอาด ก็พร้อมสอดแทรกขึ้นไปลุ้นเหรียญรางวัลด้วยเช่นกัน

 

ภารกิจนี้จะสำเร็จหรือไม่ อย่าลืมติดตามเชียร์ไทยในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 หรือ หางโจว 2022 ระหว่างวันที่ 23 กันยายน ถึง 8 ตุลาคม 2023 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ