stadium

ย้อนรอยผลงานนักกีฬาไทยในเอเชียนเกมส์ ยุคหลัง

13 กรกฎาคม 2566

จากบทความที่ผ่านมาเราได้ไปย้อนรอยถึงผลงานของนักกีฬาทีมชาติไทยในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 10 ปี 1986 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้มาแล้ว บทความนี้จะพาทุกท่านไปย้อนถึงผลงานของนักกีฬาทีมชาติไทยในยุค 90 จนถึงการแข่งขันครั้งปัจจุบันกันครับ

 

หลังจากทัพนักกีฬาทีมชาติไทยสามารถสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมช่วงการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 1-10 โดยเฉพาะผลงานในยามที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันทั้ง 3 ครั้ง โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาก็คือวงการกีฬาของประเทศไทยมีการพัฒนาขึ้นแบบก้าวกระโดดหลายชนิดกีฬาสามารถต่อยอดไปสร้างผลงานในระดับโอลิมปิกเกมส์ได้ โดยเฉพาะมวยสากลสมัครเล่นที่ก้าวไปคว้าเหรียญรางวัลมาครองได้แทบทุกครั้ง และอีกหลายชนิดกีฬาสามารถผ่านเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ได้เช่นกัน

 

แต่ใช่ว่าประเทศไทยจะพัฒนาอยู่ชาติเดียวนะครับ การจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์มาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ครั้งก็เป็นการช่วยพัฒนาประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียเช่นกัน หลายประเทศสามารถพัฒนานักกีฬาของตนเองไปสู่เวทีการแข่งขันระดับโลก และเมื่อเป็นเช่นนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ถึงเวลาของการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ทุกประเทศก็จะเอาจริงเอาจังและพัฒนาศักยภาพนักกีฬาของตนเองขึ้นไปอีก ทำให้ทีมชาติไทยต้องพบกับความยากลำบากในการล่าเหรียญรางวัลสร้างผลงานอยู่ไม่น้อย

 

บทความนี้จะพาทุกท่านไปพบกับผลงานความสำเร็จของนักกีฬาทีมชาติไทยในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่ 11 ปี 1990 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จนถึงครั้งล่าสุดกันครับ เราลองไปดูกันว่ามีนักกีฬาทีมชาติไทยคนใดบ้างที่สามารถฝ่าฟันจนคว้าเหรียญทองสร้างชื่อเสียงได้

 

 

มวยสากลสมัครเล่นกีฬาแห่งความหวัง และการสร้างประวัติศาสตร์ของว่ายน้ำไทย

 

หลังจากที่ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยต้องประสบกับความยากลำบากในการคว้าเหรียญทองการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาในยุค 80 เมื่อเข้าสู่การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 11 ปี 1990 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็เหมือนว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะยังไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้น ทีมชาติไทยสามารถคว้ามาได้เพียง 2 เหรียญทอง 7 เหรียญเงิน และ 8 เหรียญทองแดงเท่านั้น โดย 2 เหรียญทองก็มาจาก “ไรแมน บุญถม” และ “ชัยณรงค์ กันหา” ในกีฬามวยสากลสมัครเล่นรุ่นเฟเธอร์เวตและเวลเตอร์เวตตามลำดับ

 

ขณะที่การแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งถัดมา ที่เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ในปี 1994 นั้น ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยก็คว้ามาได้ 3 เหรียญทอง 9 เหรียญเงิน 13 เหรียญทองแดง โดย “สมรักษ์ คำสิงห์” นักมวยอัจฉริยะเชิงชกสวยงามสามารถคว้าเหรียญทองในรุ่นเฟเธอร์เวตมาครองได้ จากนั้นก็เป็น “รัฐพงศ์ ศิริสานนท์” ที่ถูกประกาศให้ขยับอันดับมาได้เหรียญทองจากการแข่งขันว่ายน้ำประเภทเดี่ยวผสม 200 เมตรชายและเดี่ยวผสม 400 เมตรชาย พร้อมทั้งการทำลายสถิติเอเชียนเกมส์ทั้ง 2 รายการ โดยสาเหตุที่ได้ขยับขึ้นมาได้เหรียญทองนั้นก็เพราะว่านักว่ายน้ำจีนที่ได้เหรียญทองไปก่อนหน้านี้ไม่ผ่านการตรวจสารกระตุ้น

 

จะเห็นเลยนะครับว่ามวยสากลสมัครเล่นนั้นเป็นกีฬาที่เป็นพระเอกกู้หน้าทัพนักกีฬาทีมชาติไทยในวันที่เหรียญทองหายากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลังจากจบการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 ปี 1994 แล้วนั้นในครั้งต่อไปประเทศไทยของเราจะต้องเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอีกครั้ง เราไปดูกันครับว่าผลงานของทีมชาติไทยเวลาลงสนามในบ้านของตัวเองจะเป็นอย่างไร

 

 

สร้างประวัติศาสตร์วงการกีฬาไทย

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 จัดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยอีกครั้ง เป็นการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวเอเชียเป็นสมัยที่ 4 และการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ก็นับว่ามีความสำคัญกับวงการกีฬาไทยอย่างมาก หลายชนิดกีฬาได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพให้สามารถสร้างผลงานในบ้านของตนเอง ซึ่งการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้นับว่าเป็นการสร้างรากฐานให้วงการกีฬาไทยมาจนทุกวันนี้

 

ด้านผลงานของทีมชาติไทยนั้นมวยสากลสมัครก็ยังเป็นพระเอกเมื่อสามารถคว้ามาได้ถึง 5 เหรียญทองจาก “สุบรรณ พันโนน” รุ่นไลต์ฟลายเวต, “ประมวลศักดิ์ โพธิ์สุวรรณ” รุ่นฟลายเวต, “สมรักษ์ คำสิงห์” รุ่นเฟเธอร์เวต, “พงษ์สิทธิ์ เวียงวิเศษ” รุ่นไลต์เวต และ “ภาคภูมิ แจ้งโพธิ์นาค” รุ่นเวลเตอร์เวต นับเป็นผลงานระดับเอเชียที่ยิ่งใหญ่จนเป็นที่กล่าวถึงและยอมรับมาจนทุกวันนี้

 

นอกจากมวยสากลสมัครเล่นที่เป็นพระเอกแล้ว อีกหลายชนิดกีฬาก็กลับมาคว้าเหรียญทองให้กับทีมชาติไทยได้หลังจากผลงานแผ่วไปก่อนหน้านี้เช่นเรือใบและวินเซิร์ฟที่สามารถกลับมาทำผลงานได้ 3 เหรียญทองจาก “อรัญ หอมระรื่น” ประเภทมิสทรัล ไลต์, “สุไฮมี มูฮัมหมัดกาเซ็ม” ประเภทเรซบอร์ด เฮฟวี่ และ “ดำรงศักดิ์ วงศ์ทิม” ประเภทซุปเปอร์มด ยิงปืนก็เป็นอีกชนิดกีฬาที่สามารถกลับมาคว้าเหรียญทองได้อีกครั้งเช่นกันโดยในครั้งนี้กีฬายิงปืนสามารถคว้าไปได้ 3 เหรียญทองจากปืนยาวท่านอนประเภททีมชาย (นพรัตน์ ยาวิลาศประดิษฐ์, เทวฤทธิ์ มัจฉาชีพ, สมาน จงสุข), ปืนยาวอัดลมประเภททีมชาย (คมกริช ฆ้องนำโชค, สมาน จงสุข, เทวฤทธิ์ มัจฉาชีพ) และปืนยาวอัดลมประเภททีมหญิง (นวลวรรณ เกิดสำราญ, ธัญญรัตน์ ภู่ภิรมย์ชัยกุล, จรินทร แดงเปี่ยม)

 

ด้านจักรยานที่ผลงานเงียบหายไปพักใหญ่ก็มาฟื้นคืนชีพในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ โดยมี “พรรณรงค์ คงสมุทร์” ประเภทดาวน์ฮิลล์บุคคลชาย และ “บานนา คำฟู” ประเภทถนนบุคคลหญิง เป็น 2 ฮีโร่ที่คว้าเหรียญทองมาครองได้อย่างพลิกความคาดหมายเรียกว่าเกินความคาดหวังของแฟนกีฬาชาวไปพอสมควรกับ 2 เหรียญทองนี้

 

สำหรับกีฬาที่ทำได้ 1 เหรียญทองก็ได้แก่ว่ายน้ำจาก “ต่อลาภ เสฏฐโสธร” ประเภทฟรีสไตล์ 400 เมตรชาย, โบว์ลิ่ง ประเภททีมชาย 3 คน (กฤชวัชร์ จำปาขาว, เสรี เครือสิงห์, ประเสริฐ พันธุรัตน์), ขี่ม้าจากประเภททีมอีเวนต์ติ้ง (เฟื่องวิช อนิรุทธเทวา, วิทัย ลายถมยา, มานะ สอนกระโทก, ณกร กมลศิริ), ยิมนาสติกจาก “อมรเทพ แววแสง” ประเภทห่วง, เทนนิสจากประเภทชายคู่โดยการจับคู่กันของ 2 พี่น้องตระกูลศรีชาพันธุ์ซึ่งก็คือภราดรกับนราธร และวอลเลย์บอลชายหาดประเภททีมหญิงจาก “มนัสนันท์ แพงขะ” กับ “รัตนาภรณ์ อาลัยสุข” เรียกว่าแทบทุกเหรียญทองที่ได้มานั้นคือเหรียญประวัติศาสตร์แทบทั้งสิ้น อย่างยิมนาสติกก็ยังไม่สามารถมีเหรียญทองได้มาจนทุกวันนี้

 

ส่วนเซปักตะกร้อก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่โกยเหรียญทองให้กับทัพนักกีฬาทีมชาติไทย โดยสามารถคว้ามาได้ 5 เหรียญทองจากเซปักตะกร้อประเภททีมเดี่ยวชาย, ทีมชุดชาย และทีมชุดหญิง ขณะที่ตระกร้อวงไทยก็สามารถคว้าเหรียญทองมาได้ทั้งประเภททีมชายและทีมหญิง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกเลยนะครับที่ทีมชาติไทยได้เหรียญทองจากกีฬาตะกร้อในเอเชียนเกมส์ เพราะ 2 ครั้งก่อนหน้านี้ทีมชาติไทยเคยได้เพียงเหรียญเงินเท่านั้นเพราะต้องปราชัยให้กับคู่ปรับอย่าง “เสือเหลือง” มาเลเซีย

 

 

บูซานเกมส์ผลงานต่างแดนที่ต้องจดจำ

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 2002 ณ เมืองบูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยยังสามารถทำผลงานได้ดีต่อเนื่องจากการเป็นเจ้าภาพเมื่อ 4 ปีก่อน โดยในครั้งนี้ไทยสามารถคว้ามาได้ 14 เหรียญทอง 19 เหรียญเงินและ 10 เหรียญทองแดง โดยกรีฑาสามารถคว้าเหรียญทองประเภทวิ่งผลัด 4x100 เมตรชายมาครองได้อย่างยิ่งใหญ่โดยนักกีฬาชุดนั้นได้แก่ “เหรียญชัย สีหะวงษ์”, “วิษณุ โสภานิช”, “เอกชัย จันทนะ” และ “สิทธิชัย สุวรประทีป” ขณะที่เทนนิสก็เป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่ได้รับการจับตามองซึ่ง “ซุปเปอร์บอล” ภราดร ศรีชาพันธุ์ ก็ไม่ทำให้ผิดหวังสามารถคว้าเหรียญทองในประเภทชายเดี่ยวมาครองได้ โดยยุคสมัยนั้น ภราดรเริ่มสร้างผลงานในระดับอาชีพอย่างเอทีพี ทัวร์ (ATP Tour) จนมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกไปแล้ว

 

ด้านบิลเลียดและสนุกเกอร์ก็สามารถคว้าเหรียญทองได้เป็นครั้งแรกโดยทำผลงานไปได้ถึง 2 เหรียญทองจาก “ประพฤติ ชัยธนสกุล” หรือ “รมย์ สุรินทร์” ในการแข่งขันบิลเลียดประเภทบุคคลชาย และรมย์ สุรินทร์ก็จับคู่กับ “มงคล กั้นฝากลาง” หรือ “ตึ๊ก โคราช” คว้าเหรียญทองบิลเลียดประเภทชายคู่มาครองได้อีกเหรียญ ขณะที่ยิงปืนก็ได้นักกีฬาจอมเก๋าอย่าง “โอภาส เรืองปัญญาวุฒิ” กลับมาคว้าเหรียญทองได้ในรอบ 16 ปีจากการแข่งขันปืนสั้นมาตรฐานบุคคลชาย โดยเหรียญทองของโอภาสนั้นนับว่าเป็นเหรียญเซอร์ไพรส์ที่ไม่คิดว่าจะได้ เนื่องจากเจ้าตัวมีอายุมากและไม่ใช่ตัวเต็งของการแข่งขันเลยด้วยซ้ำ

 

กีฬาขี่ม้าก็เป็นอีกชนิดกีฬาที่สมารถคว้าเหรียญทองได้อีกครั้งแต่ในครั้งนี้ได้จาก “พงษ์สิริ บรรลือวงศ์” ในการแข่งขันประเภทอีเวนต์ติ้งบุคคลชาย ซึ่งเหรียญนี้ก็ทำให้ชื่อเสียงของ “ปูไข่” เป็นที่โด่งดังทั้งในวงการกีฬาและวงการบันเทิง ขณะที่มวยสากลสมัครเล่นก็ได้ “สมจิตร จงจอหอ” กู้หน้าคว้าเหรียญทองโทนได้จากรุ่นฟลายเวตเรียกว่าหวิดเสียหน้าแล้วทั้งที่เมื่อ 4 ปีก่อนยังเป็นกีฬาฮีโร่อยู่เลย และมีเรื่องที่น่าสนใจคือในภายหลังนั้น 2 นักกีฬาทั้งพงษ์สิริและสมจิตรก็เข้าสู่วงการบันเทิงตามกันไป โดย “ปูไข่” พงษ์สิริ บรรลือวงศ์ หันหลังให้กับวงการขี่ม้าหลังจากจบโอลิมปิกเกมส์ในปี 2004 ขณะที่สมจิตรสามารถคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกเกมส์ 2008 ได้สำเร็จก่อนจะแขวนนวมและเข้าสู่วงการบันเทิงตามไป

 

วูซูกลายเป็นกีฬาที่ได้เหรียญทองแบบคาดไม่ถึงและก็สามารถคว้ามาได้ถึง 2 เหรียญทองจาก “สรรชัย ชมพูพวง” รุ่น 56 กิโลกรัมและ “อังคาร ชมพูพวง” รุ่น 65 กิโลกรัม ส่วนเซปักตะกร้อก็ยังเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่โกยเหรียญทองให้กับทัพนักกีฬาทีมชาติไทย โดยสามารถคว้ามาได้ 5 เหรียญทองเท่ากับครั้งที่ผ่านมาโดยได้จากจากเซปักตะกร้อประเภททีมเดี่ยวชาย, ทีมชุดชาย, ทีมเดี่ยวหญิง และทีมชุดหญิง ขณะที่ตระกร้อวงไทยก็สามารถคว้าเหรียญทองมาได้จากประเภททีมหญิง ส่วนตระกร้อวงชายทำได้เพียงเหรียญเงินเมื่อต้องแพ้ให้กับเกาหลีใต้เจ้าภาพไปแบบงงๆ

 

 

ผลงานยังยอดเยี่ยมบนดินแดนทะเลทราย

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ปี 2006 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยไทยยังคงรักษามาตรฐานผลงานที่ยอดเยี่ยมเอาไว้ได้ โดยสามารถคว้ามาได้ 13 เหรียญทอง 15 เหรียญเงินและ 26 เหรียญทองแดง โดยเซปักตะกร้อยังคงเป็นกีฬาที่ทำเหรียญทองให้กับทัพนักกีฬาทีมชาติไทยได้อย่างต่อเนื่องโดยในครั้งนี้สามารถคว้าเหรียญทองไปได้ 4 เหรียญทองจากประเภทตระกร้อคู่ชาย, ทีมเดี่ยวชาย, ทีมชุดชาย และทีมเดี่ยวหญิง ขณะที่กรีฑาก็สามารถทำผลงานได้ยอดเยี่ยมเมื่อทีมวิ่งผลัด 4x100 เมตรชายสามารถป้องกันแชมป์ได้ โดยนักวิ่งในชุดนั้นได้แก่ “เสกสรร วงศ์สละ”, “วัชระ สอนดี”, “เอกชัย จันทะนะ” และ “สิทธิชัย สุวรประทีป” โดยทำเวลาได้ 39.21 วินาทีเท่ากับทีมชาติญี่ปุ่นจนต้องตัดสินกันด้วยภาพถ่าย ขณะที่ “บัวบาน ผามั่ง” ก็สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองจากกีฬาพุ่งแลนหญิงมาครองได้แบบพลิกความคาดหมาย เรียกได้ว่าผลงานของกรีฑาไทยในครั้งนั้นความสำเร็จยังคงติดตามาจนทุกวันนี้

 

ส่วนการแข่งขันเทนนิสประเภทชายเดี่ยวแม้ “ภราดร ศรีชาพันธุ์” เจ้าของเหรียญทองในครั้งที่แล้วจะไม่อาจป้องกันแชมป์ได้แต่ไทยก็มี “ดนัย อุดมโชค” ที่สามารถคว้าเหรียญทองในประเภทนี้ไปครองได้ ด้วยการโค่น “ลี ฮุง เต็ก” จากเกาหลีใต้ไปอย่างสนุก และทำให้ “ลี ฮุง เต็ก” ต้องพ่ายแพ้แก่นักเทนนิสไทยในรอบชิงชนะเลิศประเภทชายเดี่ยวถึง 2 สมัยติดต่อกัน สำหรับ “ปิ๊ก” หรือ “ดนัย อุดมโชค” นั้นถือว่าเป็นรอง “ลี ฮุง เต็ก” พอสมควรแต่อาศัยแรงฮึด มุ่งมั่นและใจสู้จึงสามารถพลิกเกมเอาชนะมาได้

 

ด้านกีฬาเพาะกายก็สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้เป็นครั้งแรกจาก “สิทธิ เจริญฤทธิ์” ในการแข่งขันเพาะกายรุ่น 80 กิโลกรัมชาย เช่นเดียวกับยกน้ำหนักที่ “ปวีณา ทองสุก” เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2004 ก็สามารถสร้างผลงานคว้าเหรียญทองในการแข่งขันยกน้ำหนัก รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 63 กิโลกรัมหญิง โดยถึงแม้เจ้าตัวจะมีอาการบาดเจ็บแต่ก็สามารถยกน้ำหนักรวมได้ 252 กิโลกรัม เอาชนะ “กั๋ว หาว อุยหยาง” จอมพลังจากจีนที่ยกได้ 247 กิโลกรัม สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักยกน้ำหนักหญิงคนแรกของไทยที่คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์

 

สำหรับยิงปืนก็ยังคงรักษามาตรฐานเอาไว้ได้อีกครั้งโดยสามารถคว้ามาได้ 1 เหรียญทองจากประเภทปืนยาวท่านอน 50 เมตร ทีมหญิง (ธัญลักษณ์ โชติพิบูลศิลป์, สุภมาส วันแก้ว, ปรมาภรณ์ พงษ์เหล่าขำ) เช่นเดียวกับบิลเลียดที่ก็สามารถคว้าเหรียญทองได้ในประเภทชายคู่ป้องกันแชมป์ไว้ได้จากฝีมือของ “ประพฤติ ชัยธนสกุล” ที่เปลี่ยนมาจับคู่กับ “อุดร ไข่มุก”

 

กีฬาเรือใบก็ยังเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่สามารถคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ให้กับทัพนักกีฬาทีมชาติไทยได้เช่นกันโดยคว้ามาได้ 1 เหรียญทองในประเภทโฮบี้ 16 จาก “ดำรงศักดิ์ วงศ์ทิม” ที่จับคู่กับ “ศักดิ์ดา วงศ์ทิม” สามารถทำคะแนนนำในทุกรอบของการแข่งขัน ขณะที่มวยสากลสมัครเล่นก็ได้ “มนัส บุญจำนงค์” ฮีโร่โอลิมปิกเกมส์ 2004 มากู้ชื่อให้ทัพกำปั้นไทยด้วยการคว้าเหรียญทองในรุ่นไลต์เวลเตอร์เวตไปครองได้ และส่งให้มนัสยังคงเป็นฮีโร่สำหรับแฟนกีฬาชาวไทยอย่างต่อเนื่อง

 

 

รักษามาตรฐานที่กว่างโจว

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 ปี 2010 ณ เมืองกว่างโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยก็ยังคงสามารถรักษามาตรฐานไว้ได้เมื่อสามารถคว้าเหรียญทองไปครองได้ทั้งสิ้น 11 เหรียญทอง 9 เหรียญเงิน 32 เหรียญทองแดง ผลงานจำนวนเหรียญทองอาจลดลงจากเดิมแต่ก็ต้องยอมรับนะครับว่าเอเชียนเกมส์ในยุคสมัยนี้แต่ละชาติเริ่มมีพัฒนาการอย่างน่ากลัว แต่ละเหรียญที่ได้มานั้นนักกีฬาต้องต่อสู้กับคู่แข่งมากฝีมือทั้งสิ้น

 

เริ่มจากประเอกอย่างเซปักตะกร้อที่ยังคงเป็นกีฬาที่กวาดเหรียญทองไปได้มากที่สุดคือ 4 เหรียญทองจากประเภททีมเดี่ยวชาย ทีมชุดชาย ทีมเดี่ยวหญิง และทีมชุดหญิง ตามมาด้วยเรือใบและวินเซิร์ฟที่สามารถคว้ามาได้ 3 เหรียญทองจาก “นพเก้า พูนพัฒน์” ประเภทออปติมิสต์หญิง, “กีระติ บัวลง” ประเภทโอเพ่น เลเซอร์เรเดียล และ “ดำรงศักดิ์ วงศ์ทิม” กับ “ศักดิ์ดา วงศ์ทิม” ประเภทโอเพ่น โฮบี้ 16 เป็น 2 ชนิดกีฬาที่ยังรักษามาตรฐานเอาไว้ได้

 

ด้านเทควันโดก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้เป็นครั้งแรกโดยในครั้งนี้ได้มา 2 เหรียญทองจาก “สริตา ผ่องศรี” จากรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 53 กิโลกรัมหญิง และ “ชัชวาล ขาวละออ” จากรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 54 กิโลกรัมชายขณะกรีฑาและมวยสากลสมัครเล่นก็ยังสามารถรักษามาตรฐานคว้ามาได้ 1 เหรียญทองโดยกรีฑาได้จากทีมวิ่งผลัด 4x100 เมตรหญิง (จุฑามาศ ถาวรเจริญ, ภัสสร จักษุนิลกร, นงนุช แสนราช, อรนุช กล่อมดี) ส่วนมวยสากลสมัครเล่นก็ได้จาก “วรพจน์ เพชรขุ้ม” ในรุ่นแบนตัมเวตที่สามารถเอาชนะนักชกเจ้าภาพได้ในรอบชิงชนะเลิศชนิดสะใจกองเชียร์เช่นเดียวกับวิ่งผลัด 4x100 เมตรหญิง ที่ตามเจ้าภาพจนมาถึง 50 เมตรสุดท้ายที่ นงนุช แสนราช ระเบิดพลังวิ่งแซงรวบเจ้าภาพเข้าเส้นชัยไปแบบเหลือเชื่อ

 

 

อินชอนเกมส์ มาตรฐานที่ต่อยอดสู่โอลิมปิก

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17 ปี 2014 ณ เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ เป็นอีกครั้งที่ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยยังคงสามารถรักษาผลงานให้อยู่มาตรฐานโดยเฉพาะกีฬาที่มีการแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ จักรยานสามารถคว้าได้ 2 เหรียญทองจาก “จุฑาธิป มณีพันธุ์” ประเภทจักรยานถนนบุคคลหญิง และ “อะแมนดา มิลเดรด คาร์” ประเภทบีเอ็มเอ็กซ์บุคคลหญิง ซึ่งในภายหลังนักกีฬาทั้งคู่ก็สามารถต่อยอดสู่เวทีโอลิมปิกเกมส์ได้ เช่นเดียวกับ “ชนาธิป ซ้อนขำ” เจ้าของเหรียญทองแดงเทควันโดในโอลิมปิเกมส์ 2012 ก็สามารถกลับมาคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้สำเร็จในการแข่งขันเทควันโด รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัมหญิง ขณะที่มวยสากลสมัครเล่น “วุฒิชัย มาสุข” สามารถเอาชนะ “ลิม ฮอน ชุล” นักชกเจ้าภาพไปแบบเบล็ดเสร็จเด็ดขาดคว้าเหรียญทองไปครอง

 

ด้านเซปักตะกร้อก็ยังสามารถรักษามาตรฐานคว้า 4 เหรียญทองมาครองได้จากอีเวนต์หลักอย่างทีมเดี่ยวชาย ทีมชุดชาย ทีมเดี่ยวหญิง และทีมชุดหญิง โบว์ลิ่งกลับมาคว้าเหรียญทองได้อีกครั้งจากผลงานของ “ญาณพล ลาภอาภารัตน์” ในประเภทบุคคลชาย ด้านกอล์ฟก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองได้จากประเภททีมหญิง (เบญญาภา นิภัทร์โสภณ, สุภมาส แสงจันทร์, บุษบากร สุขพันธ์) เดียวกับ “แทมมารีน ธนสุกาญจน์” ที่ประสบความสำเร็จคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้เสียที หลังจากเคยได้ไป 2 เหรียญเงินในประเภทหญิงเดี่ยวเมื่อปี 1998 และ 2002 โดยในครั้งนี้ แทมมารีน ธนสุกาญจน์ สามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้ในประเภทหญิงคู่โดยจับคู่กับ “ลักษิกา คำขำ” ปิดฉากการรอคอยเหรียญทองเอเชียนเกมส์มาอย่างยาวนาน

 

ขณะที่เรือใบยังคงเป็นกีฬาที่รักษามาตรฐานได้โดยเก็บมาได้ 1 เหรียญทองจาก “นพเก้า พูนพัฒน์” กับ “นิชาภา ไหวไว” ในประเภทเรือทเวนตี้ไนเนอร์ ซึ่งบทสรุปของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17 ปี 2014 ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยคว้ามาได้ 12 เหรียญทอง 7 เหรียญเงิน และ 28 เหรียญทองแดง

 

 

กีฬาโอลิมปิกอีเวนต์ไม่ทำงาน ทัพไทยได้ไป 11 เหรียญทอง

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี 2018 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งคือการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งลาสุดทัพนักกีฬาทีมชาติไทยสามารถคว้ามาได้ 11 เหรียญทอง 16 เหรียญเงิน และ 46 เหรียญทองแดง ซึ่งหากพิจารณาแต่ตัวเลขจำนวนเหรียญทองแล้วก็อาจไม่ได้ดูแตกต่างหรือมีอะไรน่ากังวลใจจากผลการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งก่อนหน้านี้มากนัก

 

แต่ถ้าพิจารณาลงไปในรายละเอียดแล้วจะพบว่าไทยเรานั้นได้เพียง 3 เหรียญทองจากประเภทกีฬาที่มีแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์เท่านั้นโดยทั้ง 3 เหรียญทองนั้นได้แก่ “พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” จากเทควันโดหญิงรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม “สุธิยา จิวเฉลิมมิตร” จากยิงเป้าบินประเภทสกีตบุคคลหญิง และ “จาย อังค์สุธาสาวิทย์” จากจักรยานคิรินบุคคลชาย ที่เจ้าตัวสามารถโค่นแชมป์โลกและเหรียญทองแดงโอลิมปิกอย่าง “อัซซุล ฮัสนี อาวัง” จากมาเลเซียลงได้

 

ขณะที่อีก 8 เหรียญทองนั้นทัพนักกีฬาทีมชาติไทยได้มาจากเซปักตะกร้อ 4 เหรียญทองจากประเภทตะกร้อคู่ทีมชาย ทีมชุดชาย ทีมเดี่ยวหญิง และทีมควอแดรนท์หญิง, พาราไกลดิ้ง 2 เหรียญทองจาก “นันท์ณภัส ภุชฌงค์” ประเภทเป้าแม่นยำบุคคลหญิง และประเภทเป้าแม่นยำทีมหญิงที่มี “นันท์ณภัส ภุชฌงค์”, “จันทิกา ใจสนุก” และ “นฤภร วาทะยา” ร่วมกันคว้าเหรียญทองมาคล้องคอ ด้านเทควันโดพุมเช่ ก็ทำได้ 1 เหรียญทองจากประเภททีมหญิง (เพ็ญกัญญา ไพศาลเกียรติกุล, อรนวีย์ ศรีสหกิจ, กชวรรณ ชมชื่น) เช่นเดียวกับเจ็ตสกีที่ได้เหรียญทองประวัติศาสตร์จาก “อรรถพล คุณสา” ในประเภทเรือนั่ง 1,100 ซีซี

 

นับเป็นผลงานที่ทำได้ไม่ดีนักหากมองแยกตามรายชนิดกีฬาที่มีการจัดการแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ แต่โดยภาพรวมกีฬาสากลทั้งหมดก็ยังไม่มีอะไรเสียหาย

 

ครับทั้งหมดนี้คือผลงานของนักกีฬาทีมชาติไทยบางส่วนที่ร่วมกันสร้างไว้ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ตั้งแต่ครั้งที่ 11 ปี 1990 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จนถึงครั้งที่ 18 ปี 2018 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด จะเห็นว่าหลายชนิดกีฬาก็สามารถต่อยอดไปสู่การแข่งขันในระดับที่สูงขึ้นได้ แต่อีกหลายชนิดกีฬาผลงานก็เริ่มหดหายไป เรามาร่วมกันลุ้นกันต่อครับว่าการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ปี 2022 ณ เมืองหางโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งนี้ผลงานของทัพนักกีฬาทีมชาติไทยจะเป็นเช่นไร


stadium

author

ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)

ผู้ชื่นชอบการรวบรวมข้อมูลนักกีฬาไทย และหลงไหลในกาแฟ ธรรมชาติ และหมาแมว