stadium

ที่มาที่ไปของสัญลักษณ์และคำขวัญ เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19

12 กรกฎาคม 2566

สิ่งหนึ่งที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาในทุกระดับนั่นก็คือการนำเสนอสัญลักษณ์และคำขวัญประจำการแข่งขันในแต่ละครั้ง และสำหรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ปี 2022 ณ เมืองหางโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่กำลังจะถึงนี้ ทางเจ้าภาพได้นำเสนอ ‘Tides Surging’ สัญลักษณ์ประจำการแข่งขันที่ถูกออกแบบขึ้นมาจากเส้นโค้งที่สื่อถึงการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวได้ถูกเปิดเผยในพิธีการเปิดตัวที่สำนักงานใหญ่ของ หางโจว เค้าท์เจอร์ เรดิโอ เทเลวิชั่น กรุ๊ป (Hangzhou Culture Radio Television Group) เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี 2018 ที่ผ่านมา

 

 

‘Tides Surging’ สัญลักษณ์แห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

 

สัญลักษณ์ ‘Tides Surging’ ถูกออกแบบให้มีความคล้ายคลึงกับใบพัด ลู่วิ่ง คลื่นวิทยุและแม่น้ำเฉียนถัง (Qiantang) ซึ่งเป็นแม่น้ำที่อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศจีนในมณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) โดยแม่น้ำสายดังกล่าวจะไหลลงทะเลจีนตะวันออกที่อ่าวหางโจว (Hangzhou Bay) ซึ่งแม่น้ำสายนี้มีปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สำคัญและมีชื่อเสียงในหมู่นักท่องเที่ยวนั่นก็คือ “ปรากฏการณ์คลื่นยักษ์เฉียนถัง” ที่มีความสูงและความแรงติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกโดยจะเกิดขึ้นเพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น สำหรับปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นก็เกิดจากคลื่นในทะเลซัดขึ้นมาในแม่น้ำบริเวณปากแม่น้ำจนทำให้เกิดพลังแห่งธรรมชาติดังกล่าว

 

คณะกรรมการจัดการแข่งขันระบุว่าตราสัญลักษณ์ประจำการแข่งขันที่ออกแบบขึ้นมานี้จะเน้นที่การสะท้อนถึงความเป็นสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะตัวของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งด้วยความเป็นจีนนั้นทำให้สามารถรวบรวมและประสานยุคสมัยต่างๆ เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว มีความเป็นเอกภาพ มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งตรงกับแนวทางการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ที่พัฒนาขึ้นมาโดยสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียหรือโอซีเอ (OCA) 

 

 

“Heart to Heart, @Future” ความเป็นหนึ่งเดียวในการสร้างอนาคตร่วมกันของชาวเอเชีย

 

สำหรับคำขวัญหรือม็อตโต้ประจำการแข่งขันกีฬาเอชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ปี 2022 นี้มีใจความว่า “Heart to Heart, @Future” หรือ “ใจถึงใจ @อนาคต” เป็นการสื่อถึงความสามารถในยุคดิจิทัลที่เชื่อมโยงผู้คนจากภูมิภาคต่างๆ ของทวีปเอเชียอันกว้างใหญ่เข้าด้วยกันผ่านการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้ คำขวัญดังกล่าวเน้นความเป็นประโยคที่สั้นกระชับ ชัดเจน และทันสมัย ซึ่งเป็นแนวคิดการใช้ชีวิตของชาวเอเชียในยุคปัจจุบัน

 

“Heart to Heart” เป็นข้อความที่สื่อถึงประเทศในทวีปเอเชียที่มีความเชื่อมโยงกันทั้งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ผู้คนในทวีปแห่งนี้จะมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ส่วนคำว่า “@Future” เป็นสื่อความหมายถึงการผสานเข้าด้วยกันของพลังแห่งเทคโนโลยีดิจิทัลกับผู้คนชาวเอเชียที่มีความมุ่งมั่น มีแรงบันดาลใจที่จะสร้างอนาคตข้างหน้าที่ดีกว่าร่วมกัน มีความเชื่อมั่นในกันและกัน ซึ่งเมื่อรวมกันเป็นคำขวัญดังกล่าวแล้วนั้นก็สามารถสะท้อนวิสัยทัศน์ของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ที่ต้องการเห็นทวีปเอเชียร่วมกันพัฒนาและสนับสนุน มหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ไปด้วยกันได้อย่างสมบูรณ์


stadium

author

ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)

ผู้ชื่นชอบการรวบรวมข้อมูลนักกีฬาไทย และหลงไหลในกาแฟ ธรรมชาติ และหมาแมว