7 กรกฎาคม 2566
หนึ่งในกีฬาที่สร้างปรากฎการณ์ให้กับวงการกีฬาไทยในปัจจุบัน ปลุกปั้นนักกีฬาประสบความสำเร็จเป็นทั้งแชมป์โลกและแชมป์โอลิมปิกเกมส์มาแล้ว ขณะเดียวกันในเวทีเอเชียนเกมส์ เหล่าจอมเตะจากประเทศไทยก็สามารถคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์มาได้ถึง 4 สมัยติดต่อกัน พร้อมยืนหยัดอยู่ในระดับแถวหน้าของวงการเทควันโดเอเชียอีกด้วย
กีฬาเก่าแก่กว่าพันปี
ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.taekwondothai.com/rules ของสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยระบุถึงจุดกำเนิดของกีฬาเทควันโดเอาไว้ว่า กีฬาชนิดนี้ถูกค้นพบมาตั้งแต่เมื่อสมัย 1,000 ปีก่อน หรือนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ประกาศเอกราชจากประเทศญี่ปุ่น โดยอาจารย์ ซอง คุก ดี แห่งสำนัก Teakyondo ต้องการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างกีฬาเทควันโดและกีฬาคาราเต้ของญี่ปุ่น โดยได้สาธิตการเล่นเทควันโดต่อหน้า นาย Syngman Rhee ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของเขา และเหตุการณ์นี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่ศิลปะป้องกันตัวเทควันโดถูกเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนชาวเกาหลีใต้
ต่อมากีฬาเทควันโดเริ่มได้รับความนิยมในเกาหลีใต้มากขึ้นเรื่อยๆ มีโรงฝึกเทควันโดทั่วประเทศ จนกระทั่งในช่วงปี 1950-1953 เกาหลีใต้ได้เริ่มเผยแพร่ให้โลกได้รู้กีฬาเทควันโดมากยิ่งขึ้น มีการส่งผู้ฝึกสอนและผู้เชี่ยวชาญกว่า 2,000 8o ไปเผยแพร่ให้ชาวต่างชาติได้รู้จักเทควันโดกว่า 100 ประเทศทั่วโลก จากนั้นปี 1971 เกาหลีใต้ได้บรรจุให้เทควันโดเป็นศิลปะป้องกันตัวประจำชาติเกาหลี และได้ก่อตั้งศูนย์เทควันโดแห่งชาติ Kukkiwon ที่กรุงโซลเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทควันโดแบบครบวงจร
2 ปีถัดมา วันที่ 28 พฤษภาคม 1973 สหพันธ์เทควันโดสากล (The World Taekwondo Federation หรือ WTF) ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลประเทศสมาชิกกว่า 108 ประเทศ และปีเดียวกันนี้เอง ก็ได้มีการเริ่มแข่งขันชิงแชมป์เทควันโดระดับโลกขึ้นและได้จัดแข่งเป็นประจำทุก 2 ปีตลอดมา จากวันแรกที่มีสมาชิกเพียง 50 ประเทศ ถึงวันนี้เทควันโดได้รับความนิยมมากขึ้นจนมีสมาชิกมากถึง 195 ประเทศ โดยมีนาย Un Yong Kim เป็นประธานสหพันธ์คนแรก เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบรรจุกีฬาเทควันโดไว้ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งแรกในปี 1974 และกีฬาโอลิมปิกครั้งแรก ปี 2000 ยาวจนถึงปัจจุบัน
พัฒนาการของเทควันโด เทคโนโลยีเซฟชีวิต
ตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปี นับตั้งแต่ถูกบรรจุเข้าสู่มหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ เทควันโดได้มีพัฒนาการมาไกลมากๆ จากกีฬาที่ใช้สายตาตัดสิน ชุดแข่งขันก็เป็นเพียงชุดแนบเนื้อธรรมดา แถมผลการตัดสินหลายต่อหลายครั้งยังสร้างความกังขาให้กับนักกีฬาหรือผู้ชม จนเกิดเหตุการณ์ดราม่ามากมายจนถึงขั้นเกือบถูกถอดออกจากโอลิมปิกเกมส์มาแล้ว
2 เหตุการณ์ที่เป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลก โอลิมปิก 2008 อังเคล วาโลเดีย มาตอส จอมเตะคอสตาริกา ใช้เท้าเตะเข้าไปที่ใบหน้าของ ชาร์เคียร์ เชลบัต ผู้ตัดสินจนเลือดกลบปาก หลังถูกผู้ตัดสินชาวสวีดิชปรับแพ้จากการฟาวล์ทางเทคนิคเนื่องจากใช้เวลานอกเกิน 1 นาที ก่อนที่ อังเคล และโค้ช ลีอูดิส กอนซาเลส จะถูกสหพันธ์เทควันโดนานาชาติประณามพร้อมลงโทษแบนตลอดชีวิต รวมไปถึงเหตุการณ์เอเชียนเกมส์ 2010 หยาง ซูชุน จากไต้หวัน ใช้กลโกงด้วยการแอบติดเซนเซอร์ไว้ที่ถุงเท้าเพื่อช่วยในการทำคะแนนให้ง่ายขึ้น
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องระดมสมองเพื่อหาทางพัฒนา ช่วยกันคิดค้นกติกา และการให้คะแนนใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและความเป็นธรรมกับตัวนักกีฬา ในปี 2012 มีการนำเกราะไฟฟ้าเข้ามาช่วยในการตัดสินเป็นครั้งแรกในโอลิมปิกที่ลอนดอน และรายการเดียวกันนี้เองยังได้มีการนำเทคโนโลยีช่วยตัดสินด้วยภาพช้า (Instant Replay) เพิ่มเข้ามาช่วยในการตัดสิน โดยจะถูกใช้ต่อเมื่อโค้ชมีข้อสงสัยจากการตัดสิน ให้ชูการ์ดเป็นสัญญาณการขอย้อนดูเหตุการณ์เพื่อพิจารณาการให้คะแนนใหม่อีกครั้ง
หรือแม้แต่ล่าสุดได้มีการปรับวิธีการนับคะแนนใหม่ จากเดิมที่นับแต้มรวม 3 ยก ใครทำคะแนนได้มากกว่าเป็นฝ่ายชนะ เปลี่ยนมานับคะแนนแบบหาผู้ชนะเป็นยกๆ โดยผู้ชนะ 2 ใน 3 ยกถือเป็นผู้ชนะ การปรับเปลี่ยนกติกาการนับคะแนนในครั้งนี้หวังจะเพิ่มความน่าสนใจและความเข้มข้นในการแข่งขันให้มากขึ้นตลอดการต่อสู้ทั้ง 3 ยก
เอเชียนเกมส์ ภารกิจเรียกศรัทธาของเกาหลีใต้
จากการเป็นชาติที่คิดค้นกีฬาชนิดนี้ขึ้นมา ทำให้ความสำเร็จในภาพรวมของทุกๆ มหกรรมกีฬาไม่ว่าจะเอเชียนเกมส์หรือโอลิมปิกเกมส์ จอมเตะจากเกาหลีใต้มักจะครองเจ้าเหรียญทองเทควันโดมาโดยตลอด
แม้ว่าหลายๆ ชาติจะมีการสร้างนักกีฬาขึ้นมาสู้เพื่อช่วงชิงความสำเร็จ แต่ว่าเกาหลีใต้เองก็ไม่เคยหยุดพัฒนาเช่นกัน โดยพวกเขากวาดไปถึง 58 เหรียญทองในเอเชียนเกมส์ มากกว่าอิหร่านอันดับ 2 ถึง 4 เท่า
อย่างไรก็ตามในปี 2021 โอลิมปิกเกมส์ ที่ประเทศญี่ปุ่น ในที่สุดความล้มเหลวก็เกิดขึ้นกับเกาหลีใต้ เมื่อพวกเขาไม่สามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้เลยแม้แต่เหรียญเดียว นับเป็นผลงานย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ถือเป็นการเสียหน้ายกใหญ่ของชาติต้นตำรับที่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่งในเอเชียนเกมส์ 2022 จอมเตะจากแดนกิมจิกลับมาพร้อมความพยายามที่หวังจะทวงคืนความสำเร็จ เพื่อกอบกู้ศรัทธาและพิสูจน์ให้คนในชาติได้เห็นว่า ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในกรุงโตเกียวเป็นเพียงอุบัติเหตุในเกมกีฬาเท่านั้น
“เทนนิส” พาณิภัค นำทัพจอมเตะไทยลุ้นทองเอเชียนเกมส์สมัยที่ 4 ติดต่อกัน
ในส่วนของจอมเตะไทยผลงานในเอเชียนเกมส์ที่ผ่านมาจัดอยู่ในระดับท็อป 5 ของเอเชีย โดยคว้าไป 4 เหรียญทองจากเอเชียนเกมส์ 3 หนหลังสุด ในปี 2010 ได้มา 2 เหรียญทองจาก ชัชวาล ขาวละออ และ สริตา ผ่องศรี จากนั้นปี 2014 ได้จาก ชนาธิป ซ้อนขํา และพาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ในปี 2018
ส่วนเอเชียนเกมส์ 2022 ที่ประเทศจีน จอมเตะไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 8 คน แบ่งเป็นชาย 4 คน และหญิง 4 คน โดยมี "โค้ชเช" ชัชชัย เช เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน
นักกีฬาทั้ง 8 คน ประกอบด้วย "ฮามัน" ธนกฤต ยอดรักษ์ รุ่น 58 กก. ชาย, "หยู" บัลลังก์ ทับทิมแดง ในรุ่น 63 กก. ชาย , "โช" ชายชล โช รุ่น 68 กก. ชาย, "แจ๊ค" แจ๊ค วูดี้ เมอเซอร์ รุ่น 80 กก.ชาย, "เทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ รุ่น 49 กก. หญิง, "แนท" ชุติกาญจน์ จงกลรัตนวัฒนา รุ่น 53 กก.หญิง, "นก" พรรณนภา หาญสุจินต์ รุ่น 57 กก.หญิง, "ใบเตย" ศศิกานต์ ทองจันทร์ รุ่น 67 กก.หญิง
ร่วมส่งกำลังใจให้ทัพจอมเตะไทยต่อสู้เพื่อความสำเร็จใน “หางโจว 2022” หากพวกเขาคว้าเหรียญทองมาครองก็จะเป็นการคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้เป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน ความหวังสูงสุดในครั้งนี้ยังอยู่ที่ “เทนนิส” พาณิภัค แชมป์เก่าและเป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์คนล่าสุด ซึ่งถ้าหากเธอสามารถป้องกันแชมป์เอาไว้ได้ จะทำให้เธอกลายเป็นจอมเตะไทยคนแรกที่คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้ถึง 2 สมัย และยังจะทำให้เหรียญทองในรุ่น 49 กก. หญิง เป็นประเทศไทยเป็นหนที่ 3 ติดต่อกัน
นอกจากนี้ "หยู" บัลลังก์ จอมเตะชายวัย 18 ปี ยังมีลุ้นสอดแทรกคว้าเหรียญทองด้วยเช่นกัน หลังก่อนหน้านี้เขาเพิ่งสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการคว้ารองแชมป์โลก 2023 ที่อาเซอร์ไบจานมาหมาดๆ
TAG ที่เกี่ยวข้อง