stadium

ย้อนรอยผลงานนักกีฬาไทยในเอเชียนเกมส์ ยุคแรก

6 กรกฎาคม 2566

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์เริ่มต้นจัดการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 1951 โดยจัดการแข่งขันกันที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และมีการจัดการแข่งขันกันทุก 4 ปีซึ่งนับถึงปัจจุบัน (ปี 2023) ก็จัดการแข่งขันกันมาแล้วกว่า 18 ครั้ง และครั้งที่ 19 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ก็กำลังจะเริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 23 กันยายน ถึง 8 ตุลาคม ปี 2023 นี้

 

สำหรับประเทศไทยนั้นส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์มาตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งล่าสุดเมื่อปี 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ และแน่นอนว่าการแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่กำลังจะมาถึงนี้ทัพนักกีฬาไทยก็จะลงสนามไล่ล่าความสำเร็จอีกครั้ง เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องบทความนี้จะพาทุกท่านไปย้อนดูผลงานของทัพนักกีฬาไทยตั้งแต่การแข่งขันครั้งแรกในปี 1951 จนถึงการแข่งขันครั้งที่ 10 ปี 1986 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ว่าครึ่งทางแรกนั้นผลงานความสำเร็จของทีมชาติไทยในเวทีมหกรรมกีฬาระดับเอเชียเป็นเช่นไร และมีเหตุการณ์ใดเกินขึ้นบ้าง เชิญติดตามกันได้เลยครับ

 

 

สองครั้งแรกไร้เหรียญรางวัล

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 1 ปี 1951 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย นั้น ประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 17 คนโดยเป็นนักกีฬาชายทั้งหมด ซึ่งในการเข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนั้นทีมชาติไทยไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลมาครองได้แม้แต่เหรียญเดียว เช่นเดียวกันกับการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งต่อมาที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี 1954 ทัพนักกีฬาไทยก็ยังคงไม่อาจคว้าเหรียญรางวัลมาครองได้เช่นกัน

 

เหรียญรางวัลแรก ณ แดนอาทิตย์อุทัย

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 3 ปี 1958 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมทำการแข่งขันทั้งสิ้น 44 คน โดยเป็นนักกีฬาชาย 40 คน และเป็นครั้งแรกที่ไทยส่งนักกีฬาหญิงเข้าร่วมการแข่งมหกรรมกีฬานี้ โดยส่งจำนวนทั้งสิ้น 4 คน

 

โดยทัพนักกีฬาไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์มาครองได้เป็นครั้งแรกจาก “อมร ยุกตะนันทน์” ในการแข่งขันยิงปืน ประเภทปืนสั้นยิงช้า 50 เมตรบุคคลชาย โดย อมร ยุกตะนันทน์ สามารถคว้าเหรียญเงินมาครองได้สำเร็จ นอกจากนี้ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนั้นทัพนักกีฬาไทยยังสามารถคว้ามาได้อีก 3 เหรียญทองแดงจาก “กมล ตันหะชุน” จากยิงปืนประเภทปืนสั้นยิงเร็ว “สืบ จุณฑเกาศล” จากมวยสากลสมัครเล่นรุ่นไลต์เวลเตอร์เวต และ “ทองไส เทพธานี” จากมวยสากลสมัครเล่นรุ่นเวลเตอร์เวต

 

สัมพันธ์ พยนต์รัตน์

 

สิ้นสุดการรอคอยเหรียญทองเอเชียนเกมส์

 

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 4 ปี 1962 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 127 คน โดยทัพนักกีฬาไทยประสบความสำเร็จสามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้เป็นครั้งแรกหลังจากที่ต้องรอคอยมากว่า 11 ปี โดยการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนั้นไทยได้มา 2 เหรียญทองจาก “ถาวร จีระพันธ์” ในการแข่งขันจักรยานประเภทถนนบุคคลชาย และ “สัมพันธ์ พยนต์รัตน์” ในการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นรุ่นเฟเธอร์เวต

 

นอกจากนี้ทัพนักกีฬาไทยยังได้มาอีก 5 เหรียญเงินจาก “ศักดิ์ดา ส่องแสง” ในการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นรุ่นไลต์เวลเตอร์เวต, “ประทีป ผลพันธิน” จากการแข่งขันยิงปืนประเภทปืนสั้นยิงเร็ว 25 เมตร, “วันชัย วิลาสินีกุล” จากจักรยานประเภทโอเพ่น โรด เรซบุคคลชาย, จักรยานถนนประเภททีมชาย (ถาวร จีระพันธ์, วันชัย วิลาสินีกุล, พิทยา เกิดทับทิม) และแบดมินตันประเภททีมชาย (ณรงค์ พรฉิม, ระพี กาญจนระพี, ชาญณรงค์ รัตนแสงสรวง, สงบ รัตตนุสสรณ์, เจริญ วรรธนะสิน)

 

ด้านเหรียญทองแดงนั้นทัพนักกีฬาไทยก็คว้ามาได้ 5 เหรียญจาก “ทิพาพรรณ ลีนะเสน” ในการแข่งขันกรีฑาประเภทกระโดดสูงหญิง ที่ทำสถิติได้ 1.50 เมตรเท่ากับ “มินท์ มินท์ อาย” นักกีฬาจากประเทศพม่า (บางแหล่งข้อมูลบอกว่าได้เหรียญเงินร่วมกัน แต่จากการบันทึกจำนวนเหรียญของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย มีความเป็นไปได้ว่านักกีฬาไทยได้เหรียญทองแดง), “สิงห์โต แจ่มจิตรมั่น” มวยสากลสมัครเล่นรุ่นเวลเตอร์เวต, “สาโรจน์ ศิลพิกุล” ยิงปืนประเภทปืนยาว 3 ท่า, จักรยานไทม์ ไทรอัลประเภททีมชาย (วันชัย วิลาสินีกุล, ปรีดา จุลละมณฑล, สมัยศึก กฤษณสุวรรณ, พิทยา เกิดทับทิม) และแบดมินตันประเภททีมหญิง (สุมล จันทร์กล่ำ, บุปผา แก่นทอง, ประทิน ปัตตพงศ์, ประเทือง ปัตตพงศ์)

 

นับเป็นการคว้าเหรียญรางวัลมากที่สุดของทัพนักกีฬาไทยในตลอดการแข่งขัน 4 ครั้งที่ผ่านมา

 

ไพโรจน์ รุ่งทนต์กิจ

 

เอเชียนเกมส์ในบ้าน ยุครุ่งเรืองจักรยานไทยและมวยสากลสมัครเล่น

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ปี 1966 นั้นจัดการแข่งขันกันที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย สร้างความตื่นเต้นและภาคภูมิใจให้กับประชาชนคนไทยในเวลานั้นเป็นอย่างมาก ทัพนักกีฬาไทยเองก็ประสบความสำเร็จสามารถคว้ามาได้ถึง 12 หรียญทอง 14 เหรียญเงิน และ 11 เหรียญทองแดง โดยไฮไลท์สำคัญก็อยู่ที่การแข่งขันจักรยานที่สามารถคว้าเหรียญทองมาได้ถึง 6 เหรียญทอง (ประเภทถนน 1 เหรียญทองและประเภทแทร็ค 5 เหรียญทอง)

 

โดย “ไพโรจน์ รุ่งทนต์กิจ” สามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันจักรยานถนนบุคคลชาย โดยเอาชนะ ”อัน บยองฮุน” นักกีฬาฝีมือดีจากเกาหลีใต้ และ “ชูชาติ วรายุทธ” เพื่อนร่วมทีมชาติไทยที่ได้เหรียญเงินและเหรียญทองแดงตามลำดับ ขณะที่จักรยานประเภทแทร็คนั้นไทยกวาดเหรียญทองจาก “สมัยศึก กฤษณสุวรรณ” ในประเภทแมสสตาร์ท 1,600 เมตร และ “ปรีดา จุลละมณฑล” จากประเภทไทม์ ไทรอัล บุคคลชาย 1,000 เมตร, เปอร์ซูต บุคคลชาย, แมสสตาร์ท 800 เมตร และแมสสตาร์ท 4,800 เมตร โดยการคว้า 4 เหรียญทองของ “ปรีดา จุลละมณฑล” นับเป็นตำนานนักกีฬาไทยมาจนทุกวันนี้

 

ขณะที่มวยสากลสมัครเล่นก็เป็นอีกชนิดกีฬาที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมเช่นกันเมื่อสามารถคว้ามาได้ 3 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง โดยเหรียญทองได้จาก “ประพันธ์ ด้วงชะอุ่ม” รุ่นไลต์ฟลายเวต, “เชิดชัย อุดมไพจิตรกุล” รุ่นแบนตัมเวต และ “นิยม ประเสริฐสม” รุ่นไลต์เวลเตอร์เวต ขณะที่แบดมินตันเองก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองได้เป็นครั้งแรกจากการแข่งแบดมินตันประเภททีมชาย (ชวเลิศ ชุ่มคำ, ณรงค์ พรฉิม, ระพี กาญจนระพี, ชาญณรงค์ รัตนแสงสรวง, สงบ รัตตนุสสรณ์, เจริญ วรรธนะสิน) โดยสามารถโค่นมาเลเซียลงได้ในรอบชิงชนะเลิศ

 

ด้านยิงปืนก็สามารถคว้าเหรียญทองในกีฬาเอเชียนเกมส์ได้เป็นครั้งแรกเช่นกันจากปืนสั้นยิงเร็ว 30 ม. ประเภททีม (บุญธรรม บุญเจริญ, ทวีศักดิ์ กสิวัฒน์, วิรัช วิเศษศิริ, รังสิต ญาโนทัย) เช่นเดียวกับยกน้ำหนัก “ชัยยะ สุขจินดา” สามารถคว้าเหรียญทองได้ในรุ่นฟลายเวตชาย ซึ่งก็เป็นครั้งแรกของกีฬายกน้ำหนักที่ได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขันเอเชียนเกมส์และก็เป็นเหรียญทองด้วย

 

 

กรีฑาคว้าเหรียญทองครั้งแรกพร้อมกำเนิด “อาณัติ รัตนพล”

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 6 ปี 1970 ยังคงจัดกันที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ทัพนักกีฬาไทยสามารถทำผลงานได้ 9 เหรียญทอง 17 เหรียญเงิน และ 13 เหรียญทองแดง โดยจักรยานยังคงถือว่าเป็นกีฬาที่สร้างผลงานได้อย่างดีเยี่ยมเมื่อสามารถคว้ามาได้ 3 เหรียญทองจาก “เกรียงศักดิ์ วรวุฒิ” 2 เหรียญทองในประเภทแมสสตาร์ท 800 เมตร และแมสสตาร์ท 4,800 เมตร และ “ชัยณรงค์ โสภณพงษ์” ในประเภทแมสสตาร์ท 10,000 เมตร

 

ขณะที่กรีฑาก็กลายเป็นอีกหนึ่งกีฬาประวัติศาสตร์เมื่อสามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้เป็นครั้งแรกและก็สามารถทำได้ถึง 2 เหรียญทองจาก “อาณัติ รัตนพล” ในการแข่งขันวิ่ง 200 เมตรชาย โดยเจ้าตัวทำเวลาได้ 21.11 วินาทีทำลายสถิติเอเชียนเกมส์ลงได้ และเหรียญทองจากวิ่งผลัด 4x100 เมตรชาย ที่ประกอบด้วย “อาณัติ รัตนพล”, “พนัส อริยะมงคล”, “กนกศักดิ์ เจตสานนท์” และ “สมศักดิ์ ทองสุข” โดยการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนั้นก็ทำให้ชื่อเสียงของ “อาณัติ รัตนพล” โด่งดังไปทั่วเอเชียกลายเป็นไฮไลท์แห่งความทรงจำมาจนทุกวันนี้

 

ด้านมวยสากลสมัครเล่นก็ยังคงเป็นอีกชนิดกีฬาที่สามารถรักษาผลงานเอาไว้ได้โดยคว้ามาได้ 2 เหรียญทองจาก “บรรเทา ศรีสุข” รุ่นไลต์เวลเตอร์เวต และ “มานิตย์ ตรัยอรุณนาค” รุ่นไลต์เฮฟวีเวต เช่นเดียวกับยิงปืนที่สามารถคว้ามาได้ 1 เหรียญทองจากปืนยาวมาตรฐาน 3 ท่า ระยะ 50 เมตรประเภททีมชาย (เสริม จารุรัตน์, ชวลิต กมุทชาติ, ปรีดา เพ็งดิษฐ์, อุดมศักดิ์ เทียนทอง) ด้านเรือใบก็เป็นกีฬาน้องใหม่ที่สามารถคว้าเหรียญทองให้กับทัพนักกีฬาไทยได้เป็นครั้งแรกเช่นกันจากการแข่งขันในประเภทไฟร์บอล โดย “พระองค์เจ้าพีระ” และ “องค์หญิงอรุณี ภาณุเดช”

 

 

กรีฑานำชัยในกรุงเตหะราน

 

หลังจากที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ไปแล้วถึง 2 ครั้ง และทัพนักกีฬาไทยก็สามารถสร้างความสำเร็จได้อย่างมากมาย การแข่งเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 7 ปี 1974 ก็ข้ามฝากมาจัดกัน ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน โดยทัพนักกีฬาไทยก็สามารถสร้างผลงานนอกบ้านได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถคว้ามาได้ 4 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 8 เหรียญทองแดง

.

โดยกรีฑากลายเป็นกีฬาที่สร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมกวดไป 3 เหรียญทองจาก “อาณัติ รัตนพล” ในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตรชายทำเวลาได้ 10.42 วินาที ขณะที่วิ่ง 200 เมตรชายอาณัติก็คว้าเหรียญทองได้ด้วยเวลา 21.09 วินาทีทำลายสถิติเอเชียนเกมส์ของตัวเองลงได้ 0.02 วินาที ขณะเดี่ยวกันทีมวิ่งผลัด 4x100 เมตรชายที่ประกอบด้วย “อาณัติ รัตนพล”, “กนกศักดิ์ เจตสานนท์”, “สุชาติ แจสุรภาพ” และ “สมศักดิ์ บุญทัต” ก็สามารถป้องกันแชมป์เอาไว้ได้พร้อมทั้งทำลายสถิติเอเชียนเกมส์ด้วยเวลา 40.14 วินาที ด้านยิงปืนก็ยังคงรักษามาตรฐานเอาไว้ได้สามารถคว้า 1 เหรียญทองได้จากปืนสั้นอัดลม ประเภททีมชาย (วิชิต เชี่ยวเวต, รังสิต ญาโณทัย, พรหมา สานะเสน, บริบูรณ์ วุฒิภักดี)

 

 

โกยเหรียญทองในบ้านอีกครั้ง

 

การแข่งเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 8 ปี 1978 ก็เวียนมาจัดการแข่งขันกันที่กรุงเทพมหานครประเทศไทยอีกครั้ง โดยทัพนักกีฬาไทยก็สามารถช่วยกันคว้าไปได้ทั้งสิ้น 11 เหรียญทอง 11 เหรียญเงิน และ 20 เหรียญทองแดง โดยกรีฑายังคงเป็นกีฬาชูโรงที่สามารถคว้าไปได้ถึง 4 เหรียญทองจาก “สุชาติ แจสุรภาพ” ที่สามารถคว้าเหรียญทองวิ่ง 100 เมตรชายได้ด้วยเวลา 10.44 วินาที รักษาเหรียญทองนี้เอาไว้ให้อยู่ในทัพนักกีฬาไทยได้อีกครั้งเช่นเดียวกับทีมวิ่งผลัด 4x100 เมตรชายที่ยังคงไร้เทียมทานในทวีปเอเชีย สามารถคว้าเหรียญทองไปครองได้อีกสมัย ด้านประเภทหญิงก็สามารถคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้เช่นกันจาก “อุษณีย์ เล่าปิ่นการ” ในการแข่งขันวิ่ง 200 เมตรหญิง ทำเวลาได้ 24.81 วินาที และก็เป็นทีมวิ่งผลัด 4x100 เมตรหญิงที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองได้เป็นครั้งแรก ซึ่งทีมชุดนั้นประกอบด้วย “อุษณีย์ เล่าปิ่นการ”, “ผุสดี แสงวิจิตร”, “วัลภา พินิจ” และบุษปราณี รัตนพล

 

ด้าน “โบว์ลิ่ง” ก็กลายเป็นอีกชนิดกีฬาที่สร้างผลงานในระดับเอเชียนเกมส์ โดยสามารถเก็บได้ 3 เหรียญทองจากประเภททีมชาย 3 คน (สำราญ บานเย็น, เกษม มินาลัย, มนตรี วิฑิตสินี) ทีมหญิง 3 คน (พรทิพย์ สิงหะ, อรวรรณ นิธินวกร, อนันทิตา หงษ์โสภณ) และประเภทหญิงคู่ ที่มี “ตุ๊ อรถณประสิทธิ์” จับคู่กับ “อนันทิตา หงษ์โสภณ”

 

มวยสากลสมัครเล่นก็สามารถกลับมาคว้าเหรียญทองได้อีกครั้งจากฝีมือของ “ศิริ สุปัญญา” ในรุ่นไลต์ฟลายเวต ที่ในรอบชิงชนะเลิศสามารถโชว์ฟอร์มการชกได้อย่างยอดเยี่ยมเอาชนะคะแนน “ลี บยองอุก” จากเกาหลีเหนือไปได้ 4-1 คะแนน ด้านเรือใบก็เป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่สามารถกลับมาคว้าเหรียญทองได้โดยได้จาก “ดำรงค์ ศิริสาคร” ในประเภทซุปเปอร์มด

 

สำหรับอีก 2 เหรียญทองนั้นทัพนักกีฬาไทยได้มาจากการสร้างประวัติศาสตร์ของว่ายน้ำและเทนนิส โดยว่ายน้ำสามารถคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้เป็นครั้งแรกจาก “รัชนีวรรณ บูลกุล” ในประเภทฟรีสไตล์ 200 เมตรหญิง ส่วนเทนนิสก็ได้เหรียญทองจากประเภทคู่ผสม ซึ่งเป็นการจับคู่กันของ “จารึก เฮงรัศมี” กับ “สุธาสินี ศิริกายะ”

 

อินเดีย-เกาหลีใต้ เข้าสู่ยุคเหรียญทองของหายาก

 

หลังจากการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 8 ปี 1978 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจบลง ก็ถือว่าเป็นช่วงยากลำบากของวงการกีฬาไทยในระดับเอเชีย หลายชนิดกีฬาถูกชาติคู่แข่งพัฒนาทิ้งห่างออกไปจนไทยไม่อาจตามได้ทัน จากที่เคยโกยเหรียญรางวัลมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านกลายเป็นกว่าจะลุ้นเหรียญรางวัลแต่ละเหรียญได้ก็ยากเต็มทน ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญก็คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการกีฬา

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 9 ปี 1982 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ทัพนักกีฬาไทยได้มา 1 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน กับอีก 4 เหรียญทองแดงเท่านั้น นับว่าผลงานตกลงไปอย่างน่าใจหายโดยเหรียญทองเดียวในครั้งนั้นได้มาจาก “ธีรพร แสงอะโน” ในการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นรุ่นฟลายเวตที่ในรอบชิงชนะเลิศสามารถเอาชนะ “บาบาร์ อาลี ข่าน” จากปากีสถานไปได้อย่างขาดลอย 5-0 คะแนน

 

ขณะที่การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 10 ปี 1986 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ โดยเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้คือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมของเจ้าภาพก่อนที่จะจัดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ในอีก 2 ปีถัดมา โดยเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้ทัพนักกีฬาไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลได้ 3 เหรียญทอง โดยยิงปืนคือพระเอกในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้เมื่อสามารถคว้ามาได้ 2 เหรียญทองจาก “มานพ พณิชย์ผาติกรรม” ในการแข่งขันประเภทปืนสั้นมาตรฐานบุคคลชาย ระยะ 25 เมตร และประเภทปืนสั้นมาตรฐานทีมชาย ระยะ 25 เมตร (มานพ พณิชย์ผาติกรรม, พีระ ภิรมย์รัตน์, โอภาส เรืองปัญญาวุฒิ) ส่วนอีก 1 เหรียญทองของไทยได้มาจากโบว์ลิ่งประเภททีมชาย 5 คน (สราวุฒิ มณีรัตน์, สุรชัย เกษมศิริโรจน์, มนตรี เศรษฐวิพิตสินี, สุพจน์ พีระโสภณ, สินชัย เคลือบแก้ว)

 

ครับและนี่คือผลงานความสำเร็จของนักกีฬาทีมชาติไทยในช่วงครึ่งทางแรกของการเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ จากจุดเริ่มต้นด้วยมือเปล่าสู่การคว้าเหรียญรางวัลและสร้างประวัติศาสตร์มากมาย สำหรับผลงานในช่วงครึ่งทางหลังสามารถติดตามได้ในบทความต่อไปครับ


stadium

author

ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)

ผู้ชื่นชอบการรวบรวมข้อมูลนักกีฬาไทย และหลงไหลในกาแฟ ธรรมชาติ และหมาแมว