stadium

ยกน้ำหนัก : การเป็นแชมป์เอเชียนเกมส์ที่ยากกว่าโอลิมปิก

30 มิถุนายน 2566

ยกน้ำหนัก เป็นชนิดกีฬาที่ประเทศไทยสามารถพิชิตเหรียญทองในเวทีโอลิมปิกเกมส์ได้มากที่สุด 5 เหรียญทอง และเป็นความหวังในการลุ้นเหรียญโอลิมปิกเกมส์มาทุกสมัย แต่ในทางกลับกันรู้หรือไม่ว่า ยกน้ำหนักไทยทำผลงานได้แค่เพียง 2 เหรียญทองเท่านั้นตลอดเอเชียนเกมส์ 18 หนที่ผ่านมา 

 

 

ดูง่าย เข้าใจไม่ยาก

 

ยกน้ำหนักเป็นกีฬาที่หากมองแค่ผิวเผินแล้ว ไม่มีความซับซ้อนอะไร แม้แต่คนที่ไม่ใช่คอกีฬายังสามารถเปิดดูแล้วก็เข้าใจได้โดยง่าย ตัดสินผลแพ้ชนะด้วยการวัดจากสถิติ ซึ่งใครยกได้มากกว่าก็ถือเป็นผู้ชนะ ซึ่งในมหกรรมเอเชียนเกมส์นั้นจะใช้กติกาแบบเดียวกับโอลิมปิกเกมส์ คือการตัดสินจากสถิติน้ำหนักรวมทั้ง 2 ท่า จากท่าสแนชท์และท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ผู้ที่ทำสถิติได้มากที่สุดจากทั้ง 2 ท่าดังกล่าวจะคว้าเหรียญทองไปครองเพียงเหรียญเดียว ซึ่งกติกามีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยจากศึกชิงแชมป์โลกหรือชิงแชมป์เอเชีย ที่จะแบ่งเหรียญทองออกเป็น 3 เหรียญในการแข่งขัน 1 รุ่น กล่าวคือ ชิงเหรียญทองเป็นท่าๆ ไป จากทั้งท่าสแนชท์ ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก และสถิติน้ำหนักรวม

 

แต่ในส่วนของนักกีฬานั้น การจะฝึกฝนตัวเองให้ร่างกายมีความแข็งแกร่ง สามารถยกเหล็กที่มีน้ำหนักมากกว่าตัวเอง 2-3 เท่านั้นถือเป็นเรื่องยาก ไม่เพียงแต่จะต้องฝึกร่างกายให้มีความแข็งแรงแล้ว ในแต่ละท่ายังแฝงไปด้วยเทคนิคที่แตกต่างกันไปมากกว่าที่คนทั่วไปจะมองเห็น ซึ่งนักกีฬาบางคนอาจจะเก่งเพียงท่าใดท่าหนึ่งหรือพูดง่ายๆ ก็คือความถนัดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะทั้งสแนช์และคลีนแอนด์เจิร์กมีความแตกต่างกันทั้งในด้านกติกาและเทคนิค

 

ในท่าสแนชท์ นักกีฬาจะทำการดึงบาร์เหล็กเพียงจังหวะเดียวจนแขนเหยีดตรงชูบาร์เหล็กขึ้นเหนือศีรษะ

 

ขณะที่ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก เราจะได้เห็นว่านักกีฬาทุกคนจะเรียกน้ำหนักเหล็กมากกว่าท่าสแนชท์ เพราะการยกในท่านี้แบ่งออกเป็น 2 จังหวะ ซึ่งจังหวะแรกจะเรียกว่าคลีน โดยนักกีฬาจะทำการดึงบาร์เหล็กขึ้นมาพักบริเวณไหปลาร้าหนึ่งจังหวะ เมื่อได้ที่แล้วจากนั้นจังหวะที่ 2 หรือที่เรียกว่าเจิร์ก นักกีฬาจะต้องดันบาร์เหล็กชูขึ้นเหนือศีรษะ แขนเหยียดตรงจบแบบเดียวกับท่าสแนชท์ แต่ด้วยน้ำหนักเหล็กที่มหาศาลทำให้นักกีฬาสามารถย่อเข่าแล้วสปริงข้อเท้าช่วยในการดันบาร์เหล็กขึ้น เพียงแต่ต้องเก็บเท้าให้อยู่ในแนวเดียวลำตัวและบาร์เบล

 

 

พิชิตเหรียญเอเชียนเกมส์ยากกว่าโอลิมปิก

 

ภาพจำของแฟนกีฬาไทย ยกน้ำหนักเป็นกีฬาแห่งความหวังในทุกๆ มหกรรมกีฬา โดยเฉพาะในโอลิมปิกเกมส์ บรรดาจอมพลังไทยประสบความสำเร็จมาตลอด 6 ครั้งหลังสุดหรือเป็นเวลายาวนานและต่อเนื่องถึง 21 ปีเต็ม ทำได้ 5 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 7 เหรียญทองแดง

 

แต่เชื่อหรือไม่ว่าผลงานของพวกเขาในเอเชียนเกมส์ 18 หนที่ผ่านมาหรือนับตั้งแต่ชิงชัยครั้งแรกในปี 1951 ยกเหล็กไทยทำได้เพียง 2 เหรียญทองเท่านั้น โดยได้จาก ชัยยะ สุขจินดา รุ่น 52 กก.ชาย ในเอเชียน เกมส์ ปี 1966 ที่กรุงเทพมหานคร และ ปวีณา ทองสุก รุ่น 63 กก. หญิง ในเอเชียน เกมส์ ปี 2006 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ แน่นอนว่าย่อมมีเหตุผลที่มาที่ไปหลักๆ แล้วมาจากกฎที่แตกต่างกันของเอเชียนเกมส์และโอลิมปิก 

 

ในส่วนของโอลิมปิกเกมส์นั้นขอยกตัวอย่างกติกาจากปี 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพ ยกน้ำหนักมีการชิงชัยทั้งหมด 14 รุ่น นักกีฬาแต่ละประเทศจะต้องผ่านการคัดเลือกในรายการต่างๆ โดยมีการจำกัดโควตาในรอบสุดท้ายเอาไว้ โดยแต่ละประเทศสามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมสูงสุดได้เพียง 8 คน แบ่งเป็น ชาย 4 คน หญิง 4 คน จาก 14 รุ่นที่มีการชิงชัย ซึ่งชาติยักษ์ใหญ่อย่างจีน สหรัฐฯ บัลแกเรีย อิหร่าน หรือแม้แต่ประเทศไทย จะเลือกส่งนักกีฬาลงแข่งขันในรุ่นที่มั่นใจว่าพวกเขาจะคว้าเหรียญทองหรือติด 1 ใน 3 เท่านั้น

 

ขณะที่เอเชียนเกมส์ 2022 ที่ประเทศจีน เป็นเจ้าภาพ ยกน้ำหนักมีการบรรจุให้เหรียญรางวัลทั้งหมด 14 รุ่น แบ่งเป็นชาย 7 รุ่น หญิง 7 รุ่น เท่ากับโอลิมปิกเกมส์ แต่กติกาข้อที่แตกต่างกันคือ ทุกชาติสามารถส่งนักกีฬาลงแข่งได้อย่างน้อยรุ่นละ 1 คนหรือมากที่สุดคือ 2 คนต่อ 1 รุ่น แต่จำนวนนักกีฬารวมทั้งหมดต้องไม่เกินชาติละ 14 คน โดยแบ่งเป็นชาย 7 คน หญิง 7 คน

 

ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศจีนซึ่งเป็นชาติที่มีทรัพยากรทางด้านบุคคลล้นหลาม การแข่งขันภายในประเทศที่ค่อนข้างสูง ทำให้มีตัวเลือกจำนวนมาก ส่งผลให้พวกเขาครองความยิ่งใหญ่ในกีฬายกน้ำหนักในเอเชียนเกมส์มาตลอด โดยคว้าไปถึง 81 เหรียญทองจาก 18 ครั้งที่ผ่านมา ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างอิหร่านแบบไม่เห็นฝุ่นถึง 48 เหรียญทอง

 

 

ความภูมิใจที่มากกว่าแบกลูกเหล็ก

 

ต้องยอมรับตามตรงว่ากีฬายกน้ำหนักนอกจากจะเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความอดทนอย่างมหาศาลจากฝึกแบกบาร์เหล็กหนักๆ เป็นร้อยๆ กิโลกรัมในทุกๆ วันแล้ว กีฬาชนิดนี้ยังขาดเสน่ห์ ไร้สีสัน ไม่มีความสนุกมากพอที่จะดึงดูดให้เยาวชนหรือผู้ปกครองอย่างส่งเสียให้ลูกตนเองมาเป็นนักกีฬายกน้ำหนัก

 

ดังที่เราได้เห็นจากประวัตินักกีฬายกน้ำหนักส่วนใหญ่ มักมีพื้นฐานชีวิตมาจากครอบครัวที่ลำบาก แต่ความลำบากจากชีวิตครอบครัวนี้เองที่สอนให้นักกีฬาเหล่านี้ล้วนมีความอดทน นอกจากจะวัดสถิติกับคู่แข่งแล้ว นักกีฬาชนิดนี้ยังต้องแข่งขันกับตัวเองด้วยเช่นกัน ก่อนจะชนะคู่แข่งได้พวกเขาต้องชนะใจตัวเองก่อน ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน ต้องกินอย่างถูกหลักโภชนาการ ฝึกฝนกับความอดทนในการแบกเหล็กหนักๆ แข่งขันกับจิตใจตัวเองจากความท้อแท้ 

 

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความภาคภูมิใจของตัวเอง ครอบครัวและประเทศชาติ 

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ