stadium

"ตะกร้อ" กีฬาความหวังของไทยในเอเชียนเกมส์

23 มิถุนายน 2566

"เซปักตะกร้อ" หนึ่งในกีฬายอดฮิตของภูมิภาคอาเซียน แต่สามารถชนะใจชาวเอเชียจนไปบรรจุอยู่ในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ได้สำเร็จตั้งแต่เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว จนทุกวันนี้ นี่คือกีฬาความหวังเหรียญทองสูงสุดของไทย

 

 

ตะกร้อ-วอลเลย์บอล ความเหมือนที่แตกต่าง

 

หากมองเผิน ๆ พอจะอนุมานได้ว่า เซปักตะกร้อ คือกีฬาวอลเลย์บอลที่เปลี่ยนจากการใช้มือและแขนมาเป็นการใช้เท้า, เข่า, ศีรษะ และหน้าอกสัมผัสกับลูกหวายหรือลูกพลาสติก ซึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างสอง เรกู (ภาษามลายูแปลว่า ทีม) ประกอบด้วยผู้เล่นฝั่งละ 3 คน  

 

ก่อนเริ่มการแข่งขันผู้ตัดสินจะโยนเหรียญเสี่ยงทาย ทีมที่ทายถูกจะได้เลือกว่าจะเสิร์ฟก่อนหรือเป็นฝ่ายรับเสิร์ฟก่อน ทีมที่ได้เสิร์ฟก่อนจะได้เริ่มเซตแรก และทีมที่ได้เซตแรกมีโอกาสเลือกว่าจะเสิร์ฟหรือไม่ในเซตถัดไป ซึ่งในแต่ละเซตจะมีการเปลี่ยนฝั่งเมื่อมีทีมทำได้ถึง 8 คะแนน

 

การเสิร์ฟจะถูกนับเมื่อลูกข้ามตาข่ายไปตกในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามไม่ว่าลูกจะถูกเนตหรือไม่ ในแต่ละเซตทีมที่ได้ 21 แต้มก่อนเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าทั้งสองทีมเสมอกันที่ 20-20 ต้องทำแต้มเอาชนะกันห่าง 2 คะแนนขึ้นไปจนถึง 25 คะแนน

 

ถ้าทั้งสองทีมเสมอกัน 1-1 เซต จะต้องตัดสินกันในเซตที่ 3 หรือ "ไทเบรก" ทีมใดได้ 15 แต้มก่อนเป็นฝ่ายชนะ แต่ถ้าทั้งสองทีมเสมอกันที่ 14-14 ต้องทำแต้มเอาชนะกันห่าง 2 คะแนนขึ้นไปจนถึง 17 คะแนน

 

 

สวยงาม ดุดัน และตื่นตาตื่นใจ

 

นักกีฬาตะกร้อต้องใช้ทักษะในการควบคุมลูกบนคอร์ตที่คล้ายกับกีฬาแบดมินตัน เป้าหมายของกีฬาชนิดนี้คือการทำให้ลูกไปตกในฝั่งตรงข้ามด้วยขา, ศีรษะ หรือหัวไหล่ โดยเริ่มต้นจากประเทศมาเลเซียก่อนได้รับการพัฒนาปรับปรุงจนได้ชื่อ เซปักตะกร้อในช่วงปี 1960 ช่วงแรกเริ่มนั้น เป็นที่รู้จักในชื่อ เซปัก รากา ซึ่งได้รับการบรรจุเป็นโปรแกรมชิงเหรียญทองในการแข่งขันซีเกมส์ปีเดียวกัน

 

เซปักตะกร้อหรือวอลเลย์บอลเตะเป็นกีฬาพื้นบ้านของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความคล้ายคลึงกับวอลเลย์บอล แตกต่างกันเพียงใช้ลูกสาน และให้นักกีฬาใช้ได้เพียงเท้า, เข่า, อก และศีรษะเพื่อสัมผัสลูกเท่านั้น ซึ่งกีฬาชนิดนี้ ได้รับความนิยมใน ไทย, กัมพูชา, มาเลเซีย, ลาว, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยบ้านเราเรียกง่าย ๆ ว่า ตะกร้อ

 

เสน่ห์ของกีฬาชนิดนี้อยู่ที่ทักษะในการทำคะแนนที่สวยงาม ใช้ทั้งเทคนิค และพละกำลัง โดยเฉพาะการขึ้นฟาดที่มีหลากหลายรูปแบบเหมือนการเล่นกายกรรม และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละชาติและตัวบุคคล เช่นการตีลังกาฟาดแบบเต็มรอบของไทย หรือซันแบ็กของมาเลเซีย

 

ขณะที่การเสิร์ฟก็ใส่เทคนิคจนกลายเป็นอาวุธทำคะแนนที่ทรงประสิทธิภาพเช่นกัน เหมือนยุคที่เราตื่นตาตื่นใจกับ "ลูกเสิร์ฟหลังเท้า" ที่เริ่มมาจาก กิตติภูมิ นามสุข ก่อนจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของ สืบศักดิ์ ผันสืบ และพัฒนาสูงสุดด้วยสรีระและทักษะของ สิทธิพงศ์ คำจันทร์  

 

 

ราชาตะกร้อเอเชียนเกมส์

 

นับตั้งแต่เริ่มมีการบรรจุแข่งตะกร้อในเอเชียนเกมส์หนแรกปี 1990 มาเลเซีย กับ ไทย คือ 2 ชาติที่ชิงความเป็นเจ้าในกีฬาชนิดนี้มาตลอด โดยเสือเหลืองครองเจ้าเหรียญทองตะกร้อ 2 สมัยแรก ขณะที่ไทยกวาดทุกสมัยหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน

 

ตลอดการชิงชัย 8 สมัย 39 เหรียญทอง ทัพนักฟาดลูกหวายไทยโกยไปได้ถึง 26 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง โดยแบ่งประเภทออกเป็น ตะกร้อวง 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน, ตะกร้อคู่ 1 เหรียญทอง, ทีมเดี่ยว 9 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง, ตะกร้อ 4 คน 1 เหรียญทอง, ทีมคู่ 1 เหรียญทอง, ทีมชุด 11 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน

 

ส่วนความสำเร็จในแง่ของตัวบุคคล คงไม่มีใครเกิน "ปุ้ย" พรชัย เค้าแก้ว จอมฟาดว่าที่ตำนานของเอเชียนเกมส์ ที่คว้าไปถึง 10 เหรียญทอง จากการลงแข่ง 5 สมัย นับตั้งแต่ "ปูซาน 2002" ถึง "จาการ์ตา-ปาเลมบัง 2018" แบ่งเป็นทีมเดี่ยว 4 เหรียญทอง, ทีมคู่ 1 เหรียญทอง และทีมชุด 5 เหรียญทอง


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator