26 เมษายน 2566
เอเชียน เกมส์ ครั้งที่ 19 หรือ หางโจว 2022 มีการแข่งขันทั้งหมด 61 ประเภทจาก 40 ชนิดกีฬา ซึ่งจากจำนวนทั้งหมดนั้นมีอยู่ 2 ชนิดที่บรรจุเข้ามาใหม่และเป็นกีฬาสำหรับคนรุ่นใหม่ นั่นก็คือเบรกกิ้ง หรือ เบรกแดนซ์ และอีสปอร์ต แล้วกีฬาทั้ง 2 ชนิดนี้มีความน่าสนใจอย่างไร ติดตามได้ที่นี่
เบรกกิ้ง
เบรกกิ้งคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฮิปฮอปในเด็กและวัยรุ่นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน รวมถึงละติน-อเมริกัน มาตั้งแต่ปี 1970 โดยเป็นสไตล์การเต้นแบบสตรีท ส่วนในเอเชียนเกมส์นั้น เพิ่งได้รับการบรรจุแข่งขันเป็นหนแรก หลังจากเคยมีแข่งลีลาศในกว่างโจว 2010 ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่เบรกกิ้งได้บรรจุแข่งในโอลิมปิกปี 2024 ที่กรุงปารีส โดยใน หางโจว 2022 มี 2 เหรียญทองให้ชิงชัยคือประเภทชายและประเภทหญิง ส่วนนักกีฬาเบรกกิ้งของไทยนั้นอยู่ภายใต้ร่มของสมาคมกีฬาลีลาศแห่งประเทศไทย
สำหรับการแข่งขันนั้นนักกีฬาจะดวลกันแบบตัวต่อตัวในพื้นที่ 6x6 ม. ผลัดกันโชว์ลีลาฝ่ายละไม่เกิน 60 วินาที การดวล 1 ครั้งนับเป็น 1 ยก ผู้ตัดสินจะให้คะแนนจากการพิจารณา 6 หัวข้อคือ การแสดง, ความเข้ากันของการเต้นกับดนตรี, บุคลิกภาพ, ความสร้างสรรค์, ความหลากหลาย และเทคนิคของนักกีฬา
อีสปอร์ต
อีสปอร์ตมีการแข่งขันแบบจริงจังครั้งแรกคือในปี 1990 โดย นินเทนโดผู้ผลิตเกมยักษ์ใหญ่ จัดศึกชิงแชมป์โลกระหว่าง 29 ประเทศ ก่อนจะมีรายการเวิลด์ ไซเบอร์ เกมส์ ใน 10 ปีต่อมา ส่วนทวีปเอเชียเริ่มได้รับความนิยมจากเกาหลีใต้ก่อนกระจายไปยังจีน, ญี่ปุ่น, เวียดนาม และประเทศไทย
ขณะที่กีฬาอีสปอร์ตกับเอเชียนเกมส์ มีการบรรจุเป็นกีฬาสาธิตในจาการ์ตา-ปาเลมบัง 2018 โดยครั้งนั้นแข่ง 6 เกม ส่วนหนนี้มีแข่งทั้งสิ้น 7 เกม ประกอบไปด้วย FIFA, PUBG Mobile (เวอร์ชันเอเชียนเกมส์), Arena of Valor(เวอร์ชันเอเชียนเกมส์), Dota 2, League of Legends, Dream Three Kingdoms 2 และ Street Fighter V รวมถึง 2 เกมสาธิตคือ AESF Robot Masters และ AESF VR Sports โดยครอบคลุมทั้งแพลตฟอร์มและชนิดของเกมที่หลากหลาย
ส่วนสถานที่แข่งใช้ หางโจว อีสปอร์ตส์ เซ็นเตอร์ ซึ่งออกแบบให้เหมือนยานอวกาศโดยใช้แนวคิด "กระแสน้ำวนแห่งดวงดาว" ที่จัดเต็มบรรยากาศในสนามด้วยระบบภาพและเสียงรอบทิศทางแบบ 360 องศา จุผู้ชมได้กว่า 4,000 ที่นั่ง
TAG ที่เกี่ยวข้อง