stadium

ประวัติศาสตร์กีฬาไทยที่ถูกเขียนขึ้นใหม่ใน "ฮาร์บิน 2025"

17 กุมภาพันธ์ 2568

ผ่านไปอีกหนึ่งทัวร์นาเมนต์พร้อมกับความสำเร็จของทัพนักกีฬาไทยในเอเชียนเกมส์​ ฤดูหนาว "ฮาร์บิน 2025" ที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ โดยหนนี้พวกเขาได้ผนึกกำลังจนเปิดหน้าประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าเหรียญรางวัลมาครองได้เป็นครั้งแรก 

นอกจากความสำเร็จดังกล่าวแล้วยังมีอีกหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นใหม่อีกมาก แต่จะมีเหตุการณ์อะไรที่ถูกกล่าวขานติดตามไปพร้อมกันที่นี่

 

 

เข้าร่วมครบทุกชนิดกีฬาเป็นหนแรก

 

นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา กีฬาฤดูหนาวในเมืองไทยได้รับการผลักดันมากขึ้น จะเห็นได้จากจำนวนชนิดกีฬาที่ส่งเข้าร่วมเอเชียนเกมส์ ฤดูหนาว 2017 เพิ่มขึ้นจากปี 2011 ต่อยอดมาถึงโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว 2018-2022 และ ยูธโอลิมปิกเกมส์​ ฤดูหนาว ที่ประสบความสำเร็จได้เหรียญรางวัลแรกในปี 2024

 

จากความสำเร็จในการสร้างนักกีฬาชนิดใหม่ ๆ ทำให้เอเชียนเกมส์ ฤดูหนาว 2025 เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมมหกรรมกีฬาครบทั้ง 11 ชนิดเป็นครั้งแรก ประกอบด้วย สกี อัลไพน์, สกี ครอส-คันทรี, ฟิกเกอร์ สเก็ต, สกี ฟรีสไตล์, ไอซ์ ฮอกกี้, ชอร์ต แทร็ก สปีด สเก็ต, สปีด สเก็ต, เคิร์ลลิ่ง, สโนว์บอร์ด, สกีปีนเขา และไบแอธลอน (ทวิกีฬา)

 

ขณะเดียวกันจำนวนนักกีฬา 85 คน ยังเป็นตัวเลขสูงสุดเท่าที่เคยส่งเข้าร่วมการแข่งขันหนแรกเมื่อปี 2003 ที่ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
 

 

เปิดตัว 4 กีฬาใหม่ร่วมแข่งครั้งแรก

 

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า “ฮาร์บิน 2025” ไทยส่งแข่งครบ 11 ชนิดกีฬา ในจำนวนนี้มี 4 ชนิดกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรก ประกอบด้วย เคิร์ลลิ่ง, สโนว์บอร์ด, สกีปีนเขา และ ไบแอธลอน (ทวิกีฬา)

 

ในส่วนของกีฬา สกีปีนเขา, สโนว์บอร์ดและไบแอธลอน เคยเปิดตัวในเวทีระดับนานาชาติมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะสองชนิดกีฬาหลังที่พัฒนามาถึงจุดที่สร้างนักกีฬาจนผ่านเข้าร่วมยูธโอลิมปิกเกมส์มาแล้ว

 

ขณะที่เคิร์ลลิ่งพวกเขาลงแข่งขันโดยไร้ประสบการณ์ในเวทีระดับนานาชาติ เพราะนี่เป็นทัวร์นาเมนต์แรกของพวกเขา นับตั้งแต่จดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย และ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ เวิลด์ เคิร์ลลิ่ง เมื่อปี 2022

 

 

ปลดล็อกเหรียญประวัติศาสตร์ 

 

ประเทศไทยผ่านการเข้าร่วมเอเชียนเกมส์ ฤดูหนาว มาทั้งหมด 4 ครั้ง เริ่มจาก “อาโอโมริ 2003” ที่ประเทศญี่ปุ่น, “ชางชุน 2007” ที่ประเทศจีน, “อัสตาน่า-อัลมาตี้” ประเทศคาซัคสถาน และ “ซัปโปโร-โอบิฮิโระ 2017” ประเทศญี่ปุ่น ไม่เคยมีครั้งไหนที่นักกีฬาไทยได้สัมผัสกับเหรียญรางวัลมาก่อน

 

กระทั่ง “ฮาบิน 2025” ความพยายามของทัพนักกีฬาไทยก็มาประสบความสำเร็จ โดยได้ 1 เหรียญทองแดงจากผลงานของ ปอล ฮองรี วิเยอร์ต๊องส์ นักกีฬาวัย 26 ปี ลูกครึ่งไทย-ฝรั่งเศส ทำได้ในการแข่งขัน สกี ฟรีสไตล์ ประเภทสโลปสไตล์ ชาย ทำคะแนนรวม 3 รันได้ 85.25 คะแนน ได้อันดับ 3 จากนักกีฬาทั้งหมด 11 คน คว้าเหรียญรางวัลประวัติศาสตร์ของทีมชาติไทยในการแข่งขัน “เอเชียนเกมส์ ฤดูหนาว”

 

สำหรับ “ปอล วี” รับใช้ทีมชาติไทยมาตั้งแต่ปี 2016 ผ่านประสบการณ์ในระดับนานาชาติทั้งเวิลด์คัพ 2017 และ 2018 รวมถึงศึกชิงแชมป์โลก 2019 ที่สหรัฐอเมริกา ผลงานแจ้งเกิดในฐานะนักกีฬาไทยคือการคว้า 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดงในกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูหนาวปี 2023 ที่เมืองเลคพลาซิด ประเทศสหรัฐอเมริกา 

นอกจากนั้นการได้ตั๋วโอลิมปิกเกมส์ ฤดูหนาว 2018 ที่ประเทศเกาหลีใต้ ถือเป็นเครื่องการีนตีความสามารถของเขาได้เป็นอย่างดี แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วเจ้าตัวจะพลาดการเข้าร่วม “พยองชาง 2018” ด้วยอาการบาดเจ็บที่คอ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มต้นเพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น

 

 

ชาติแรกในอาเซียนและชาติที่ 11 ในเอเชีย

 

จากความสำเร็จของ ปอล ฮองรี วิเยอร์ต๊องส์ ทำให้ประเทศไทยเป็นชาติแรกในอาเซียนที่คว้าเหรียญรางวัลได้ในเอเชียนเกมส์ ฤดูหนาว ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มีชาติใดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำได้มาก่อน

 

ขณะเดียวกันประเทศไทยยังเป็นชาติที่ 11 ที่คว้าเหรียญรางวัลได้ในทัวร์นาเมนต์นี้ ต่อจาก ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ คาซัคสถาน เกาหลีเหนือ อุซเบกิสถาน เลบานอน มองโกเลีย อิหร่าน และ คีร์กีซสถาน จะสังเกตได้ว่าแต่ละประเทศที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อนนั้นต่างก็เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตขั้วโลกหนาวจัด ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่อยู่ในเขตร้อนชื้น

 

นอกจากนี้ยังสานต่อความสำเร็จกีฬาฤดูหนาวของทัพนักกีฬาไทย ต่อจากผลงานของ “ชมพู่” อาเยเซ กัมเปออล ที่เพิ่งเขียนประวัติศาสตร์คว้าเหรียญเงินกีฬาบ๊อบสเลจในยูธโอลิมปิกเกมส์ 2024 ซึ่งเป็นเหรียญแรกของไทยในระดับมหกรรมกีฬา นับเป็นสัญญาณที่ดีของการเติบโตไปสู่อนาคต

 

 

ไอซ์ ฮอกกี้ ไทยทำประตูญี่ปุ่นครั้งแรกรอบ 22 ปี

 

ไฮซ์ ฮอกกี้ หรือ ฮอกกี้ น้ำแข็ง เป็นชนิดกีฬาที่ผ่านการเข้าร่วมเอเชียนเกมส์ ฤดูหนาว มาตลอดตั้งแต่ปี 2003 เคยพบกับญี่ปุ่นมาแล้วหนึ่งครั้งเมื่อปี 2003 ก่อนจะลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ 0-39 หลังจากนั้นทั้งสองทีมก็ไม่เคยพบกันอีกเลยจนกระทั่งวันเวลาล่วงเลยผ่านมา 22 ปี ทีมไทยได้โคจรมาพบกับญี่ปุ่นอีกใน ฮาร์บิน 2025 ซึ่งในรอบแรก แม้ว่าเราจะจบลงผลความพ่ายแพ้ด้วยสกอร์ 1-8 แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือพัฒนาการของนักกีฬาไทย เสียประตูให้คู่แข่งน้อยลงและทำประตูใส่ญี่ปุ่นได้อีกด้วย

 

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากความพยายามของนักกีฬาไทยและการผลักดันของทีมงานที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งการเดินทางหลังจากนี้โฟกัสของกีฬาฤดูหนาวไทยจะอยู่ที่การควอลิฟาย เพื่อเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ ฤดูหนาว “มิลาโน-กอร์ตีนา 2026” ที่ประเทศอิตาลี ส่งกำลังใจและติดตามการเติบโตของพวกเขาทั้งหมดได้ที่ STADIUM TH 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ