stadium

โจว เทียน เฉิน แข่งเอง โค้ชตัวเอง นักเลงพอ

31 ตุลาคม 2566

นักกีฬาชั้นนำทุกประเภท ต่างจำเป็นต้องมีโค้ชไว้ข้างกาย เพื่อช่วยให้คำแนะนำในการพัฒนาฝีมือ ชี้จุดบกพร่อง รวมทั้งวิเคราะห์คู่แข่งด้วยประสบการณ์และความรู้ที่มากกว่า

 

ในกีฬาแบดมินตัน เราจะเห็นภาพที่โค้ชนั่งอยู่ข้างคอร์ต ก่อนจะลุกขึ้นมาให้คำปรึกษาในช่วงพักเกมจนชินตา นักกีฬาบางคนจ้างโค้ชเป็นส่วนตัว และหลาย ๆ คนใช้โค้ชประจำชาติหรือประจำทีม

 

อย่างไรก็ตาม นักกีฬาบางคนไม่ได้ทำแบบนั้น โดยมีเหตุผลหลัก ๆ คือเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ก็มีอยู่หนึ่งคนที่เหตุผลแตกต่างออกไป

 

โจว เทียน เฉิน อดีตนักแบดมินตันมือวางอันดับ 2 ของโลกจากไต้หวันหรือจีนไทเป เลือกที่จะไม่จ้างโค้ชส่วนตัว เพราะเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างในการแข่งขันเขาแก้ไขมันได้ด้วยตัวเอง

 

ผลลัพธ์จากการตัดสินใจของเขาเป็นอย่างไร และใครคือกำลังเสริมคนสำคัญของเขายามลงแข่งขัน ติดตามได้ที่นี่

 

 

บทนำก่อนถึงวันยืนด้วยลำแข้งตัวเอง

 

ก่อนที่จะตัดสินใจแยกทางกับโค้ชในช่วงต้นปี 2019 โจว เทียน เฉิน ก็จัดเป็นนักแบดมือดีคนหนึ่ง โดยคว้าเหรียญเงินเอเชียน เกมส์ ปี 2018, คว้าเหรียญทองแดงกีฬามหาวิทยาลัยโลก 2 สมัย, แชมป์ เวิลด์ ทัวร์ 3 รายการ, ซูเปอร์ซีรี่ส์ 1 รายการ, กรังด์ปรีซ์ โกลด์ 6 รายการ เป็นมือวาง 10 อันดับแรกของโลกตั้งแต่ปี 2014 และขึ้นถึงมือ 3 ปลายปี 2018

 

อย่างไรก็ตามพอเข้าสู่ปี 2019 ฟอร์มของเขาก็เหมือนจะช็อตไปดื้อ ๆ โจว เทียน เฉิน ตกรอบแรก 3 จาก 4 รายการในช่วงต้นปี ทำให้เขาเริ่มคิดถึงหนทางที่จะพัฒนาฟอร์มของตัวเองโดยไม่ปิดกั้นวิธีการ และแนวความคิดใหม่ ๆ

 

สุดท้าย โจว เทียน เฉิน ตัดสินใจทำในสิ่งที่แตกต่าง นั่นคือการไม่มีโค้ชประจำตัว

 

 

ประสบการณ์ และความมั่นใจ ก่อให้เกิดการตัดสินใจครั้งสำคัญ

 

"ระหว่างแข่ง ผมต้องมุ่งสมาธิไปที่การทำคะแนน ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องของโค้ช แต่เป็นเรื่องของตัวเอง โค้ชจะบอกถึงปัญหาของคุณซึ่งผมรู้ว่ามันคืออะไร และนั่นคือวิธีที่ผมใช้พัฒนาฝีมือ"

 

แทนที่การจ้างโค้ช โจว เทียน เฉิน มีคู่ซ้อมตีที่เดินทางกับเขาตลอดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2019 เนื่องจากเจ้าตัวมั่นใจการอ่านเกมของตัวเองที่ช่วยให้สามารถเลือกรูปแบบการซ้อมได้อย่างเหมาะสม

 

ขณะที่ยามลงแข่งขัน ก็ใช่ว่าเก้าอี้ข้างคอร์ตของเขาจะว่างเปล่า เพราะเราจะเห็นสุภาพสตรีคนหนึ่งประจำการอยู่เสมอนั่นก็คือ วิกตอเรีย เกา นักกายภาพส่วนตัว ที่ทำงานกับ โจว เทียน เฉิน มาตั้งแต่ปี 2012

 

หน้าที่ของเธอไม่ได้เข้าไปชี้แนะแท็กติกหรือวิเคราะห์คู่แข่งเหมือนอย่างโค้ชคนอื่น ๆ แต่บทบาทของเธอก็เป็นสิ่งที่ โจว เทียน เฉิน ขาดไม่ได้เช่นกัน

 

 

วิกตอเรีย เกา ชื่อที่มากกว่าแค่นักกายภาพ

 

นอกจากหน้าที่ประจำตามอาชีพคือดูแลเรื่องร่างกายของ โจว เทียน เฉิน ให้พร้อมที่สุดสำหรับการแข่งขัน รวมทั้งหาวิธีใหม่ ๆ มาเพิ่มความสามารถของนักกีฬาแล้ว วิกตอเรีย เกา ยังทำหน้าที่เป็นนักจิตวิทยากลาย ๆ ให้กับนักตบลูกขนไก่วัย 31 ปี รวมถึงงานจิปาถะต่าง ๆ

 

"ตอนแข่งฉันก็แค่คอยกระตุ้นหรือให้กำลังใจเขา รวมทั้งคอยถามเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าง อยากเปลี่ยนเสื้อมั้ย, อยากทานอะไรรึเปล่า หรืออยากได้เครื่องดื่มเกลือแร่หรือไม่ ฉันเป็นนักกายภาพ ไม่ใช่นักกีฬา ดังนั้นเหตุผลที่เขาต้องการให้ฉันอยู่ข้างสนามเพื่อจะได้ช่วยเรื่องเหล่านี้ ส่งผลให้เขามีเวลาคิดถึงเกมการแข่งขันมากขึ้น" วิกตอเรีย เกา เปิดเผยถึงบทบาทของตัวเองยามนั่งอยู่ข้างคอร์ต

 

ขณะเดียวกัน วิกตอเรีย เกา ยังเปิดเผยด้วยว่า เธอมีหน้าที่ทำให้ โจว เทียน เฉิน ไม่หลงระเริงไปกับชัยชนะ และถ่อมตัวอยู่เสมอเช่นกัน

 

"เมื่อชนะ ฉันจะคอยบอกเขาอยู่เสมอว่ามันก็แค่ชัยชนะครั้งเดียว มันผ่านไปแล้วและคุณต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเอง ส่วนเวลาแพ้ฉันจะคอยปลอบเขา บอกให้เขากลับมาสู้ใหม่ และพยายามทำให้เขาอารมณ์ดีขึ้น"

 

 

เมื่อต้องดูแลตัวเอง วินัยคือสิ่งสำคัญ

 

"ผมทำการบ้านตามที่โค้ชให้ก่อนเกม และใช้เวลามากขึ้นในการวิเคราะห์คู่แข่ง รวมถึงสิ่งที่ควรทำภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ" โจว เทียน เฉิน พูดถึงการเตรียมตัวเองก่อนแข่ง

 

ความจริงแล้ว โจว เทียน เฉิน ยังคงเข้าไปปรึกษากับโค้ชของทีมไต้หวันได้ ซึ่งเขาเข้าไปพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญอยู่เป็นประจำ รวมถึงศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ที่เกษียณไปแล้ว เพื่อปรับปรุงฟอร์มการตี แต่การตัดสินใจเรื่องแท็กติกขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง

 

นอกจากนั้นเขายังเปิดรับวิธีการใหม่ ๆ ในการฝึกซ้อม ทั้ง พิลาทีส, ระบำหน้าท้อง รวมถึงการฝึกร่างกายด้วยทฤษฎี GYROTONIC หรือการออกกำลังกายแบบใช้แรงต้านของน้ำหนักร่างกายตัวเอง ไม่มีแรงกระแทก ช่วยยืด และสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายมีความยืดหยุ่น และเคลื่อนที่ได้ดีขึ้น

 

วิธีการใหม่ ๆ เหล่านี้ ล้วนมาจากคำแนะนำของ วิกตอเรีย เกา และเมื่อทุกอย่างมาประกอบกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือชัยชนะอย่างต่อเนื่อง

 

 

แชมป์ซูเปอร์ 1000 หนแรก และไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

 

การเตรียมตัวอย่างมีวินัย รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถของร่างกายด้วยวิธีการใหม่ ๆ อย่างไม่ลดละ ทำให้ โจว เทียน เฉิน เป็นนักแบดมินตันที่มีความฟิตเป็นลำดับต้น ๆ และมันก็แสดงผลออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในรายการ อินโดนีเซีย โอเพ่น ในเดือนกรกฎาคมปี 2019

 

โจว เทียน เฉิน คว้าแชมป์เวิลด์ ทัวร์ ระดับ ซูเปอร์ 1000 หนแรกในชีวิต จากการเอาชนะ อันเดอร์ส อันทอนเซ่น ดาวรุ่งมือดีจากเดนมาร์ก โดยใช้เวลาแข่งไปถึง 91 นาที และใน 3 รอบก่อนหน้านั้น เขายังใช้เวลาแข่งเฉลี่ยถึงรอบละ 76 นาทีจากการเอาชนะ หลิน ตัน, โจนาทาน คริสตี้ และกันตภณ หวังเจริญ

 

แม้จะตกรอบ 16 คนในรายการ เจแปน โอเพ่น สัปดาห์ต่อมา แต่ โจว เทียน เฉิน ก็มาคว้าแชมป์ ไทยแลนด์ โอเพ่น ต่อจากนั้นทันที ก่อนจะเข้าถึงรอบก่อนรองฯ ศึกชิงแชมป์โลก ตามด้วยคว้าแชมป์ ไชนีส ไทเป โอเพ่น ในบ้านเกิดตอนเดือนกันยายน

 

และเมื่อนับตั้งแต่รายการ อินโดนีเซีย โอเพ่น ปี 2019 ถึงปัจจุบัน โจว เทียน เฉิน เข้ารอบชิงฯ ได้ 12 รายการ คว้าแชมป์ 4 รายการ ซึ่งนับเป็นสถิติที่น่าประทับใจไม่น้อยเลยทีเดียว

 

 

ไม่หยุดพัฒนา เพื่อเป้าหมายข้างหน้าคือ โอลิมปิก เกมส์

 

โจว เทียน เฉิน ยกเครดิตเรื่องความสำเร็จให้กับการตระหนักรู้ในตัวเอง อันเป็นสิ่งที่เขาขาดไปในวัยเด็ก ซึ่งทัศนคติของเขาเปลี่ยนไปหลังจากเกือบเสียชีวิตเพราะไส้ติ่งอักเสบในปี 2013

 

เขาไม่สนอาการปวดท้องของตัวเอง และเดินทางไปแข่งที่อินเดียก่อนจะต้องรีบบินกลับมาผ่าตัดที่ไต้หวัน ซึ่งแพทย์บอกว่าอาการเกือบจะร้ายแรงถึงชีวิต

 

"ผมเคยเป็นคนมั่นใจในตัวเองจนไม่สนใจข้อมูลที่คนอื่น ๆ พยายามมอบให้ จนมาวันหนึ่งผมถึงได้ตระหนักว่า ผมจะได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นหากรู้จักถ่อมตัว"

 

ส่วนเป้าหมายใหญ่ อย่าง โอลิมปิก เกมส์ นั้น โจว เทียน เฉิน รู้ดีว่าเขามีอุปสรรคใหญ่ขวางทางมากมาย ดังนั้นเขาต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองต่อไป

 

"ยังมีอีกหลายอย่างที่ผมต้องเรียนรู้ และพัฒนา ผมไม่สามารถพอใจกับฝีมือของตัวเองในตอนนี้ได้"

 

ด้วยทัศนคติ และวิธีคิดที่น่าเอาเป็นแบบอย่างของ โจว เทียน เฉิน ไม่แน่ในอนาคต เราอาจได้เห็นเขาคว้าเหรียญโอลิมปิกจากกีฬาแบดมินตันครั้งแรกก็เป็นได้


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator