stadium

ปวีณา ทองสุก จากความเจ็บช้ำ ผิดหวัง สู่ความสำเร็จเหรียญทองเอเชียนเกมส์

17 ตุลาคม 2566

“ปวีณา ทองสุก” คืออีกหนึ่งตำนานของนักกีฬาทีมชาติไทยที่สามารถสร้างผลงานความสำเร็จคว้าเหรียญรางวัลมาได้แล้วในทุกระดับการแข่งขันทั้งซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ โดยเจ้าตัวมีชื่อเสียงโด่งดังในช่วงที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 28 ปี 2004 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ จากนั้นในอีก 2 ปีถัดมาชื่อของ “ปวีณา ทองสุก” ก็กลับมาโดดเด่นอีกครั้งเมื่อเธอสามารถคว้าเหรียญทองกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ปี 2006 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ได้สำเร็จ เป็นเหรียญทองที่ต้องรอคอยกันมากว่า 40 ปีของสมาคมกีฬายกน้ำหนักแห่งประเทศไทย นับจากที่ “ชัยยะ สุขจินดา” ทำเอาไว้ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ปี 1966 ที่กรุงเทพมหานคร ที่สำคัญมันคือการปลดล็อกคว้าแชมป์สุดท้ายของ “ปวีณา ทองสุก”

 

แต่กว่าที่เจ้าตัวจะสามารถก้าวขึ้นมาคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้นั้น เธอต้องผ่านเรื่องราวมามากมายในการแข่งขันแต่ละครั้ง วันนี้เราจะมาย้อนดูกันครับว่าเส้นทางกว่าจะไปถึงความสำเร็จของปวีณานั้นเป็นอย่างไร เราไปติดตามเรื่องราวของเจ้าตัวกันได้เลยครับ

 

 

ความกดดันทำยกพลาดเหรียญเอเชียนเกมส์ในบ้าน

 

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย “ปวีณา ทองสุก” ในวัย 19 ปี ลงทำการแข่งขันยกน้ำหนัก รุ่น 69 กิโลกรัม หญิง โดยเจ้าตัวนั้นมีดีกรีเป็นถึงเจ้าของเหรียญทองซีเกมส์ 1997 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เป็นเครื่องยืนยันการันตีความสามารถ และแน่นอนครับว่าหลายฝ่ายรวมทั้งตัวของปวีณาเองก็ตั้งความหวังเอาไว้ว่าจะต้องคว้าเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ในบ้านของตนเองมาครองให้ได้ ปวีณามีการเก็บตัวฝึกซ้อมเป็นอย่างดี สถิติก็พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทุกอย่างเหมือนจะเป็นใจอยู่ที่ว่าจะได้เหรียญสีอะไรเท่านั้น

 

เมื่อการแข่งขันเอเชียนเกมส์เริ่มต้นขึ้นสถานการณ์ก็เหมือนจะเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยในการยกท่าสแนตช์เจ้าตัวสามารถทำสถิติได้ 95.0 กิโลกรัมอยู่อันดับที่ 3 โดยผู้นำเป็นของ “ซัน เทียนนี่” จากประเทศจีน ทำสถิติได้ 111.0 กิโลกรัม อันดับที่ 2 เป็นของ “หวู่ เม่ย ยี่” จากประเทศไต้หวัน ทำสถิติอยู่ที่ 97.5 กิโลกรัม ส่วนอันดับที่ 4 ที่ตามจี้ปวีณามาก็คือ “วิน วิน เมียว” จากประเทศเมียนมาที่ยกได้เท่ากันกับนักยกน้ำหนักทีมชาติไทยแต่น้ำหนักตัวของเธอนั้นหนักกว่าปวีณา

 

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้หลายคนมองว่าปวีณามีโอกาสคว้าเหรียญรางวัลแน่นอน ขึ้นอยู่เพียงว่าจะเป็นเหรียญสีเงินหรือทองแดงเท่านั้น ขอเพียงแค่เจ้าตัวยกท่าคลีนแอนด์เจิร์กให้ได้อย่างที่ซ้อมและเตรียมตัวกันมา แฟนกีฬาชาวไทยจะได้สมหวังเห็นธงชาติไทยบนโพเดียมเอเชียนเกมส์แน่นอน แต่แล้วสิ่งที่ทุกคนไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อปวีณาไม่สามารถมีสถิติในท่าคลีนแอนด์เจิร์กได้ และนั่นการหมายถึงการชวดเหรียญรางวัลไปโดยปริยาย อีกทั้งยังไม่มีอันดับในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนั้นอีกด้วย

 

สิ่งที่ปวีณาฝึกซ้อมและเตรียมตัวมาอย่างยาวนานเป็นแรมปีต้องพังทลายลงตรงหน้า บาดแผลทางใจจากความผิดพลาดในครั้งนั้นยังคงอยู่ในใจเจ้าตัวเรื่อยมา ไม่มีใครอยากเป็นผู้แพ้โดยเฉพาะในวันที่เรามีโอกาสคว้าชัยชนะต่อหน้ากองเชียร์ตนเอง แต่ทุกอย่างเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเจ้าตัวก็ได้แต่ยอมรับและพยายามเพื่อการแข่งขันครั้งต่อไป

 

 

ลบฝันร้ายด้วยเหรียญเงินปูซานเกมส์

 

กาลเวลาผ่านไปจนถึงการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 2002 ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ “ปวีณา ทองสุก” นักยกน้ำหนักทีมชาติไทย ในวัย 23 ปี ขณะนั้นก็กลับมาเข้าร่วมการแข่งขันอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้เพียง 1 ปี เจ้าตัวเพิ่งคว้าเหรียญเงินในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 21 ปี 2001 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียมาได้ โดยพ่ายแพ้ต่อ “มยา ซันดา โด” นักยกน้ำหนักมากฝีมือของทีมชาติเมียนมา เป็นการชวดเหรียญทองไปแบบน่าเสียดาย

 

เอเชียนเกมส์ 2002 ปวีณาลงแข่งขันในรุ่น 69 กิโลกรัมเช่นเดิม โดยเมื่อถึงเวลาแข่งขันการต่อสู้ก็เป็นไปอย่างสนุกสูสี เจ้าตัวทำสถิติท่าสแนตช์ได้ที่ 115.0 กิโลกรัม เท่ากับ “ลุ่ย ชุนฮอง” ของทีมชาติจีน ขณะที่ “มยา ซันดา โด” จากทีมชาติเมียนมาเจ้าของเหรียญทองซีเกมส์ที่ผ่านมาทำสถิติได้ 112.5 กิโลกรัม ตามมาเป็นอันดับที่ 3 เมื่อมาถึงตรงนี้ก็เหมือนภาพเก่าจะกลับมาฉายซ้ำอีกครั้ง จบท่าแรก “ปวีณา ทองสุก” มีลุ้นเหรียญรางวัลที่ตนเองและทุกฝ่ายรอคอย แต่จะทำสำเร็จหรือไม่ก็อยู่ที่การยกในท่าคลีนแอนด์เจิร์กอีก 3 ครั้งที่เหลือ

 

เมื่อเริ่มต้นแข่งขันกันต่อในท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ปวีณาเรียกน้ำหนักเอาไว้ที่ 140.0 กิโลกรัม และแล้วฝันร้ายก็ตามมาหลอกหลอนอีกครั้งเมื่อเจ้าตัวยกไม่ผ่าน ผมเชื่อว่าในช่วงเวลานั้นหลายคนที่ได้เห็นและจดจำเรื่องราวของเจ้าตัวในเอเชียนเกมส์ 1998 ได้ ก็ต้องคิดเหมือนกันว่าเหตุการณ์แบบเดิมจะย้อนกลับมาอีกหรือไม่นะ

 

ครับขนาดเราเป็นกองเชียร์ยังรู้สึกขนาดนี้ แล้วตัวนักกีฬาเองจะกดดันขนาดไหน ปวีณาต้องตั้งสติรวบรวมสมาธิเพื่อยกในครั้งที่ 2 ด้วยน้ำหนักเดิม เป้าหมายของเธอในขณะนั้นคือต้องยกให้ผ่านเท่านั้น เพราะถ้ายกไม่ผ่านอีกโอกาสจะพลาดเหรียญรางวัลและสิ่งที่ทำมาตลอด 4 ปีจะต้องสูญเปล่าไปอีกเป็นรอบที่ 2

 

“ปวีณา ทองสุก” รวบรวมสมาธิตั้งสตินึกถึงสิ่งที่ได้ฝึกซ้อมมาและออกไปยกลูกเหล็กที่หนักกว่า 140.0 กิโลกรัมอีกครั้ง และแล้วทันทีที่สัญญาณแสดงว่าปวีณายกผ่านแสดงขึ้นมา ทุกคนต่างดีใจ โล่งใจ มันเป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถบรรยายได้ รอยยิ้มของปวีณาแสดงให้เห็นถึงอาการคลายกังวลใจ ในที่สุดเธอก็ทำสำเร็จ ความพยายามที่ผ่านมามันไม่ได้สูญเปล่าอีกต่อไป และการออกมายกในครั้งสุดท้ายด้วยน้ำหนัก 145.0 กิโลกรัม เจ้าตัวก็ทำมันได้อย่างไร้ปัญหา

 

“ปวีณา ทองสุก” ทำสถิติน้ำหนักรวมได้ 260.0 กิโลกรัม คว้าเหรียญเงินเอเชียนเกมส์ 2002 ไปครองได้สำเร็จ โดยเหรียญทองเป็นของ “ลุ่ย ชุนฮอง” ที่ทำสถิติน้ำหนักรวมไป 262.5 กิโลกรัม เฉือนปวีณาไปเพียง 2.5 กิโลกรัมเท่านั้น มันเป็นความสำเร็จที่ลบล้างแผลใจตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เป็นความสำเร็จที่ทำให้เธอเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นเหรียญเงินที่แสนมีความหมายสำหรับเจ้าตัว

 

 

กวาดเหรียญทองมาทุกรายการ เอเชียนเกมส์ คือเป้าหมายสุดท้าย

 

หลังจาก “ปวีณา ทองสุก” สามารถคว้าเหรียญเงินในกีฬาเอเชียนเกมส์ 2002 ได้แล้วนั้น ก็เหมือนเป็นการปลดล็อกทุกสิ่ง ผลงานหลังจากนั้นของเจ้าตัวถือว่าเป็นระดับมาสเตอร์พีซของวงการกีฬาไทย เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2004, เหรียญทองชิงแชมป์โลก 2005, เหรียญทองชิงแชมป์เอเชีย 2005 และเหรียญทองซีเกมส์ 2005 เรียกได้ว่าปวีณานั้นกวาดเหรียญทองมาแล้วแทบทุกรายการในระดับเมเจอร์ จะเหลือก็แค่เพียงเหรียญทองเอเชียนเกมส์เท่านั้น

 

แล้วช่วงเวลาที่สำคัญของเจ้าตัวก็มาถึง การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ปี 2006 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ คือสังเวียนชิงเหรียญทองสุดท้ายที่ “ปวีณา ทองสุก” ต้องการจะคว้ามาครองให้ได้ แต่อุปสรรคที่เป็นบทพิสูจน์สำคัญก็เกิดขึ้นเมื่อ ปวีณามีอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าข้างขวาต้องคอยฉีดสเปรย์บ่อยครั้ง การแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนั้นเจ้าตัวลงแข่งในรุ่น 63 กิโลกรัม และคู่แข่งสำคัญก็คือ “โอวหยาง เสี่ยวฟาง” จากประเทศจีน

 

ปวีณาแม้ว่าจะมีอาการบาดเจ็บรบกวนแต่ก็มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ในท่าสแนตช์ปวีณายกทำสถิติได้ 110.0 กิโลกรัม ขณะที่ “โอวหยาง เสี่ยวฟาง” ทำน้ำหนักได้ 115.0 กิโลกรัม มากกว่าปวีณาถึง 5.0 กิโลกรัม แต่ในตอนนั้นทั้งเจ้าตัวและทีมงานต่างมั่นใจว่าสู้ได้ เพราะท่าคลีนแอนด์เจิร์กกลายเป็นท่าถนัดของนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทยแทบทุกคนไปแล้วในช่วงเวลานั้น การต่อสู้ของทั้งคู่สุดสูสี การยกครั้งแรกของทั้งปวีณาและเสี่ยวฟางสามารถผ่านไปได้ที่น้ำหนัก 132.0 กิโลกรัม จากนั้นทีมชาติไทยก็เดินเกมสำคัญ

 

“ปวีณา ทองสุก” เรียกน้ำหนักในการยกท่าคลีนแอนด์เจิร์กครั้งที่สอง 137.0 กิโลกรัมซึ่งถ้ายกผ่านจะทำให้ปวีณาทำน้ำหนักได้เท่ากับเสี่ยวฟางทันทีแต่จะได้เปรียบตรงที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า และแชมป์โอลิมปิกเกมส์ก็ไม่ทำให้กองเชียร์ต้องผิดหวัง ปวีณายกผ่านได้อย่างสบายๆ เท่ากับตอนนี้เจ้าตัวขึ้นไปเป็นผู้นำและบีบให้นักกีฬาจีนต้องออกมายกในน้ำหนักที่สูงกว่า

 

“โอวหยาง เสี่ยวฟาง” ไม่มีทางเลือกเธอต้องออกมายกที่ 137.0 กิโลกรัมให้ผ่านเท่านั้น และด้วยความกดดันมหาศาลรวมทั้งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทำให้เธอไม่สามารถทำได้ ถึงจะออกมาแก้ตัวอีกครั้งก็ไม่สำเร็จ เหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2006 อยู่ในมือของ “ปวีณา ทองสุก” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การยกครั้งสุดท้ายเจ้าตัวจึงเรียกน้ำหนักที่ 142.0 กิโลกรัมเพื่อต้องการที่จะทำลายสถิติน้ำหนักรวมเอเชียนเกมส์ และสถิติโลกในท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ซึ่งในท้ายที่สุดปวีณาก็ทำสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

 

การคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2006 ของ “ปวีณา ทองสุก” ทำให้เธอสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองในการแข่งขันรายการระดับเมเจอร์ได้ครบทุกรายการ เป็นอีกหนึ่งตำนานของวงการกีฬาไทย และเป็นตำนานของกีฬาเอเชียนเกมส์ตลอดไป


stadium

author

ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)

ผู้ชื่นชอบการรวบรวมข้อมูลนักกีฬาไทย และหลงไหลในกาแฟ ธรรมชาติ และหมาแมว