stadium

ย้อนรอย 5 พิธีปิดสุดประทับใจในเอเชียนเกมส์

8 ตุลาคม 2566

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์แต่ละครั้งสิ่งที่เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของการแข่งขันนั่นก็คือพิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขันซึ่งแน่นอนครับว่าหากพิธีเปิดการแข่งขันนั้นคือสัญลักษณ์หรือสัญญาณแห่งการเริ่มต้นของมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ของชาวเอเชีย พิธีปิดการแข่งขันก็เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดมหกรรมเอเชียนเกมส์ และเป็นการเริ่มต้นถอยหลังสู่การแข่งขันในครั้งถัดไป

 

พิธีปิดการแข่งขันแต่ละครั้งนั้นก็มีเรื่องราวที่น่าประทับใจและควรค่าแก่การจดจำแตกต่างกันไป บทความนี้จะพาทุกท่านมาย้อนรอย 5 พิธีปิดสุดประทับใจในเอเชียนเกมส์ กันครับว่ามีครั้งไหนบ้างที่ติดตาตรึงใจมาจนทุกวันนี้

 

ที่มา : อัลบั้มภาพเอเชี่ยนเกมส์ XI ASIAN GAMES (สยามกีฬา)

 

รำนกยูง การอำลำที่สวยงามของปักกิ่งเกมส์

 

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 11 ปี 1990 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน พิธีปิดการแข่งขันอาจจะไม่ได้คึกคักหากเทียบเท่ากับพิธีเปิด แต่ก็มีการแสดงชุดหนึ่งที่ยังติดตาตรึงใจผู้ชมมาจนทุกวันนี้นั่นก็คือชุด “รำนกยูง” ที่มีการใช้นักแสดงสาวสวยน่ารักพร้อมลีลาการร่ายรำที่อ่อนช้อยงดงามพร้อมกับเสียงดนตรีที่ไพเราะตามแบบศิลปวัฒนธรรมจีน สร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมพิธีปิดและที่รับชมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และเมื่อการแสดงชุดดังกล่าวจบลง ไฟในสนามกับไฟคบเพลิงก็ค่อยๆ ดับลงอันเป็นการแสดงถึงว่าการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ในครั้งนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว

 

จากนั้นจากเจ้าภาพก็ได้มีการแสดงพลุดอกไม้ไฟเป็นระยะเวลาอีกกว่า 40 นาที สร้างความสวยงามตระการตาทั่วท้องฟ้ากรุงปักกิ่ง เป็นภาพจำที่แสนประทับใจมาจนทุกวันนี้

 

ภาพของ ปวีณา ทองสุก ที่ฉายในพิธีปิด โดฮา เกมส์ (ที่มา : Review 13 ทองที่โดฮา (สยามกีฬา))

 

“อาหรับราตรี” พิธีปิดโดฮาเกมส์ที่เทียบชั้นโอลิมปิก

 

พิธีปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ปี 2006 จัดขึ้น ณ สนาม คาลิฟา สเตเดียม กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ โดยมีโปรดิวเซอร์ระดับโลกอย่าง “เดวิด แอตกิน” เป็นผู้รับผิดชอบการจัดพิธีปิดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนั้นภายใต้แนวคิดของนิยายที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง “พันหนึ่งราตรี (The Arabian Nights)” หรือ “อาหรับราตรี (Arabian Nights)” และแน่นอนว่าต้องมีอาละดินกับตะเกียงวิเศษเป็นตัวชูโรง

 

การแสดงแต่ละชุดจะเน้นความยิ่งใหญ่อลังการณ์ แสงสีเสียงครบครัน มีการจุดพลุดอกไม้ไฟอย่างยิ่งใหม่ ภายในสนามมีการฉายภาพบรรยากาศการแข่งขันและนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขัน และหนึ่งในนั้นคือภาพรอยยิ้มของ “ปวีณา ทองสุข” นักยกน้ำหนักทีมชาติไทยที่สามารถคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้สำเร็จที่โดฮาเกมส์ พิธีปิดดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นพีปิดมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ที่ยิ่งใหญ่และงดงามกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และมีความใกล้เคียงหรืออยู่ระดับเดียวกับโอลิมปิกเกมส์เลยทีเดียว

 

 

“ความรักที่เป็นสากล” การแสดงแสง สี เสียง เพื่อสันติภาพของชาวเอเชีย

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 ปี 2010 ณ เมืองกว่างโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน พิธีปิดการแข่งขันถือว่าเป็นอีกไฮไลท์สำคัญเมื่อทางประเทศเจ้าภาพต้องการสร้างมาตรฐานในระดับเดียวกับมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่อย่างโอลิมปิกเกมส์ โดยพิธีปิดกว่างโจวเกมส์นั้นมีการใช้นักแสดงกว่า 7,000 คน เน้นการเต้นรำประกอบเพลงหลากหลายแนวไม่ว่าจะเป็นแจ๊ส, ฮิพฮอพ หรือแม้แต่ดนตรีพื้นบ้าน ท่ามกลางแสง สี เสียงและเลเซอร์ ตระการตาตามแบบฉบับของประเทศจีน

 

สำหรับการแสดงในพิธีปิดนั้นใช้แนวคิด “Universal Love” หรือ “ความรักที่เป็นสากล” เพื่อสื่อถึงความรัก ความปรารถนาดี และการรักษาเอาไว้ซึ่งสันติภาพของโลกใบนี้ นอกจากนี้ยังมีไฮไลท์สำคัญคือการแสดงเดี่ยวของ “เรน” ศิลปิน นักร้อง นักแสดงชาวเกาหลีใต้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับความนิยมไปทั่วทวีปเอเชีย ถือเป็นการส่งมอบภารกิจให้กับประเทศเกาหลีใต้เจ้าภาพในครั้งถัดไปอย่างสมบูรณ์แบบ

 

 

นำเสนอความเป็นตัวตนส่งท้ายอินชอนเกมส์

 

พิธีปิดมหกรรมกีฬาที่มักสร้างความประทับใจให้ผู้ชมนั้นส่วนมากแล้วจะเน้นที่ความงดงาม ยิ่งใหญ่ ตระการตา แต่นั่นไม่ใช่สำหรับพิธีปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17 ปี 2014 ณ เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ที่เน้นความเรียบร้อยแต่แผงเอาไว้ด้วยความเป็นตัวตนเองประเทศตนเอง ซึ่งตัวตนหนึ่งที่ชัดเจนของประเทศนี้ก็คือวัฒนธรรมของกีฬาเทควันโด และอุตสาหกรรมบันเทิงอย่าง เค-ป๊อป

 

ในพิธีปิดการแข่งขันครั้งนั้นมีการแสดงของศิลปินที่มีชื่อเสียงแห่งยุคมากมายไม่ว่าจะเป็น วงบิ๊กแบง, ซีเอ็นบลู, 4 สาวจากวงซิสตาร์ เรียกว่าเหมือนมางานเทศกาลดนตรีเลยก็ว่าได้ ส่วนอีกหนึ่งการแสดงสำคัญนั่นก็คือการแสดงศิลปะการต่อสู้เทควันโดอันเป็นกีฬาประจำชาติของเกาหลีใต้ ทั้งสองสิ่งนี้คือความเป็นตัวตนที่ชัดเจนและได้การยอมรับไปทั่วโลก

 

 

“ความสุข มิตรภาพ คงอยู่อีกนับพันปี”

 

พิธีปิดเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี 2018 ณ “จาการ์ตา-ปาเล็มบัง” ถูกนำเสนอในแนวคิด “ความสุข มิตรภาพ คงอยู่อีกนับพันปี” โดยมีการนำเอาเรื่องราวในระหว่างการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนั้นของนักกีฬามาร้อยเรียงผูกเป็นเรื่องราวโดยเน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับพิธีในครั้งนี้ โดยการแสดงนั้นมีการนำศิลปินนักร้องระดับเอเชียอย่าง วงซูเปอร์จูเนียร์ และ วงไอคอน วงบอยแบนด์เค-ป๊อปชื่อดังจากเกาหลีใต้มาร่วมสร้างบรรยากาศการอำลาที่น่าจดจำและสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันทั่วเอเชีย

 

และอีกหนึ่งความประทับใจก็คือการจุดพลุไฟเฉลิมฉลองมิตรภาพของชาวเอเชียที่มีสีสันสวยงามและสุดจะอลังการรอบสนามเกโลรา บังการ์โน ในกรุงจาการ์ตา รวมทั้งการสร้างเซอร์ไพร์สด้วยการปรากฎตัวของ “แจ๊ค หม่า” เจ้าของกลุ่มธุรกิจอาลีบาบา ที่เป็นตัวแทน “เมืองหางโจว” มารับไม้ต่อในการเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ครั้งต่อไป

 

ทั้งหมดนี้คือการย้อนรอย 5 พิธีปิดสุดประทับใจในกีฬาเอเชียนเกมส์ ซึ่งอาจจะมีทั้งตรงใจและแตกต่างจากความคิดเห็นของทุกท่านบ้าง อย่างไรก็ตามเราคงต้องติดตามพิธีปิดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้ว่าประเทศจีนเจ้าภาพจะสร้างความประทับใจให้ชาวเอเชียได้อย่างที่ผ่านมาหรือไม่


stadium

author

ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)

ผู้ชื่นชอบการรวบรวมข้อมูลนักกีฬาไทย และหลงไหลในกาแฟ ธรรมชาติ และหมาแมว