stadium

ภราดร ศรีชาพันธุ์ เหรียญทองประวัติศาสตร์เทนนิสเอเชียนเกมส์

7 ตุลาคม 2566

หากจะเอ่ยถึงนักกีฬาทีมชาติไทยที่สามารถก้าวไปสู่ระดับโลกได้ผมเชื่อว่าหนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ “ภราดร ศรีชาพันธุ์” นักเทนนิสทีมชาติไทยที่สามารถขึ้นไปถึงมือวางอันดับที่ 9 ของโลกในเอทีพี ทัวร์ (ATP Tour) เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2003 และยังสามารถคว้าแชมป์อาชีพระดับเอทีพี ทัวร์ มาครองได้ถึง 5 รายการและรองแชมป์อีก 6 รายการ เป็นนักกีฬาไทยที่ได้รับการยอมรับเข้าขั้นระดับซุปเปอร์สตาร์จนมีฉายาว่า “ซุปเปอร์บอล”

 

“ภราดร ศรีชาพันธุ์” นั้นเริ่มต้นเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยในศึกเทนนิสทีมชายชิงแชมป์โลกหรือเดวิส คัพ (Davis Cup) จากนั้นก็ตามด้วยการเข้าแข่งขันมหกรรมกีฬาอย่างซีเกมส์และเอเชียนเกมส์ โดยชื่อของภราดรนั้นเริ่มเป็นที่สนใจจากการที่เจ้าตัวสามารถคว้าเหรียญทองเทนนิสประเภทชายเดี่ยวในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ปี 1997 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่เจ้าตัวได้เทิร์นโปร์ไปสู่เส้นทางสายอาชีพ

 

จากนั้นในปีถัดมาประเทศไทยก็ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 หรือ “บางกอกเกมส์” ซึ่งก็แน่นอนว่าภราดรนั้นได้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นหนึ่งในนักกีฬาทีมชาติไทย และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นการสร้างประวัติศาสตร์ในกีฬาเอเชียนเกมส์ของ “ภราดร ศรีชาพันธุ์” เรื่องราวของเจ้าตัวจะเป็นอย่างไรเชิญติดตามได้เลยครับ

 

 

รวมพลังครอบครัว “ศรีชาพันธุ์” คว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 กีฬาเทนนิสถือเป็นอีกหนึ่งในชนิดกีฬาที่ได้รับการจับตามอง โดยความหวังสูงสุดก็คือ “แทมมี่” แทมมารีน ธนสุกาญจน์ ด้วยเพราะเธอนั้นคือนักเทนนิสอาชีพหญิงในระดับดับเบิลยูทีเอ ทัวร์ (WTA Tour) ที่เริ่มทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งคนที่ถูกคาดหวังว่าจะสามารถทำผลงานได้ดีก็คือ “ภราดร ศรีชาพันธุ์”

 

“ภราดร ศรีชาพันธุ์” จับคู่กับ “นราธร ศรีชาพันธุ์” พี่ชายของตัวเองลงทำการแข่งขันในประเภทชายคู่ และก็สามารถทำผลงานได้ดีเกินคาดเมื่อสามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้ โดยต้องไปพบกับคู่ของทีมชาติเกาหลีใต้ที่มี “ลี ฮุง เต๊ก” จับคู่กับ “ยุน ยอง อิล” ที่มีดีกรีเป็นเจ้าของเหรียญเงินประเภทชายเดี่ยวในเอเชียนเกมส์ 1994 ซึ่งเกมในวันนั้นสู้กันอย่างสนุกก่อนที่จะเป็นคู่ของภราดรและนราธร ศรีชาพันธุ์ ที่สามารถเอาชนะคว้าเหรียญทองไปครองได้

 

โดยเหรียญทองในครั้งนั้นถือว่าเป็นเหรียญทองแรกของทีมชาติไทยในประเภทชายคู่ และเป็นเหรียญทองเอเชียนเกมส์เหรียญที่ 2 ของกีฬาเทนนิสโดยก่อนหน้านี้ทีมชาติไทยเคยได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์ จากประเภทคู่ผสมในปี 1978 มาเพียงเหรียญเดียวเท่านั้น

 

 

นักเทนนิสไทยคนแรก คว้าเหรียญทองประเภทชายเดี่ยว

 

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 2002 ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ “ภราดร ศรีชาพันธุ์” ลงทำการแข่งขันในประเภทชายเดี่ยวโดยเจ้าตัวพกดีกรีแชมป์เอทีพี ทัวร์รายการทีดี วอเตอร์เฮาส์ คัพ (TD Waterhouse Cup) และรองแชมป์รายการทาทา โอเพ่น (TATA Open) และรายการเลก เมสัน เทนนิส คลาสสิค (Legg Mason Tennis Classic) มาด้วย เรียกได้ว่าผลงานของภราดรในปี 2002 นั้นกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นและได้รับการจับตามองจากวงการเทนนิสโลก จึงไม่น่าแปลกในที่เจ้าตัวคือตัวเต็งและตัวความหวังในการคว้าเหรียญทองของทีมชาติไทย

 

“ภราดร ศรีชาพันธุ์” ได้บายในรอบแรกในฐานะมือวางของรายการโดยในรอบที่ 2 เจ้าตัวลงสนามพบกับ “เอดูอาร์ด คอยฟ์แมน” จากประเทศคีร์กีซสถาน และก็สามารถเอาชนะไปได้อย่างง่ายดาย 2-0 เซต (6-0, 6-1) เช่นเดียวกับในรอบที่ 3 ซึ่งเป็นรอบ 16 คนภราดรก็สามารถเอาชนะคู่แข่งอย่าง “เซอร์เกย์ มาคาชิน” จากประเทศทาจิกิสถานแบบขาดลอย 2-0 เซต (6-0, 6-2)

 

รอบควอเตอร์ไฟนอลหรือรอบ 8 คน “ภราดร ศรีชาพันธุ์” โคจรมาพบกับ “ลู เยน ซุน” จากประเทศไต้หวันที่ก็เริ่มเทิร์นโปรสู่การเล่นอาชีพเช่นกัน แต่ภราดรก็อาศัยประสบการณ์ที่เหนือกว่าเอาชนะไปได้ 2-0 เซต (6-0, 6-4) ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศไปพบกับ “โอเล็ก โอโกโรดอฟ” นักเทนนิสมากฝีมือจากประเทศอุซเบกิสถานและทั้งคู่สู้กันแบบสนุกก่อนที่นักเทนนิสจากไทยจะอาศัยความแน่นอนกว่าเอาชนะไปได้ 2-0 เซต (6-3, 6-3)

 

รอบชิงชนะเลิศ “ภราดร ศรีชาพันธุ์” ต้องลงสนามพบกับ “ลี ฮุง เต๊ก” ที่ในรอบรองชนะเลิศสามารถเอาชนะ “ทาคาโอะ ซูซูกิ” มือดีของประเทศญี่ปุ่นมาได้ นับเป็นคู่ชิงชนะเลิศที่สมน้ำสมเนื้อเพราะเป็นนักเทนนิสในระดับเอทีพี ทัวร์ทั้งคู่และก็เคยขึ้นไปถึงโพเดียมในรายการระดับอาชีพมาแล้ว อีกทั้งนี่คือการพบกันเป็นครั้งที่ 2 ในรอบชิงชนะเลิศเอเชียนเกมส์ เพียงแต่ในครั้งนี้เป็นการแข่งขันกันในประเภทชายเดี่ยว

 

เกมการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศนั้นแม้จะต้องลงแข่งท่ามกลางเสียงเชียร์เจ้าถิ่น แต่ภราดรก็อาศัยความสุขุมและการเล่นที่แน่นอนสามารถคุมเกมเอาไว้ได้ทั้งหมด โดยในเซตแรกต่างคนต่างเล่นอย่างรัดกุมจนมาถึงช่วงไทเบรกและก็เป็นภราดรที่สามารถแซงเอาชนะไปได้ในเซตแรก 7-6 (7-3) ขณะที่ในเซตต่อมาก็เป็นนักเทนนิสไทยที่ทำได้ดีกว่าเอาชนะไปได้อีก 6-4 เกม ส่งผลให้ “ภราดร ศรีชาพันธุ์” สามารถเอาชนะ “ลี ฮุง เต๊ก” ไปได้ 2-0 เซตคว้าเหรียญทองไปครองได้สำเร็จ เป็นอีกประวัติศาสตร์ของเจ้าตัวในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ เพราะนี่คือเหรียญทองแรกในประเภทชายเดี่ยวนักกีฬาทีมชาติไทยทำได้

 

คว้าเหรียญทองแดงส่งท้ายที่โดฮา

 

หลังจาก “ภราดร ศรีชาพันธุ์” คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ไปแล้ว 2 เหรียญจากประชายเดี่ยวในปี 2002 และประเภทชายคู่ในปี 1998 เจ้าตัวก็เข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ปี 2006 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ แต่ก็มีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์นัก เจ้าตัวลงแข่งขันในประเภททีมชายแต่ก็ไม่อาจเก็บชัยชนะได้เลยโดยพ่ายแพ้ให้กับ “เดนิส อิสโตมิน” จากประเทศอุซเบกิสถานและ “โก โซเอดะ” จากประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามทีมชาติไทยก็สามารถคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้สำเร็จ

 

ถึงแม้ว่าการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2006 ผลงานส่วนตัวของ “ภราดร ศรีชาพันธุ์” จะไม่ได้เป็นไปตามที่ใครหลายคนคาดหวัง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเจ้าตัวนั้นก็มีส่วนสำคัญในความสำเร็จของทีมชาติไทยมาอย่างยาวนาน หากในครั้งนั้นภราดรลงสนามในสภาพที่สมบูรณ์เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ไม่แน่ว่าอาจจะคว้าเหรียญทองได้ 3 สมัยก็เป็นได้

 

และนี่คือเรื่องราวของ “ซุปเปอร์บอล” ภราดร ศรีชาพันธุ์ นักเทนนิสระดับโลกชาวไทยในบทบาทของนักกีฬาทีมชาติไทยในเวทีเอเชียนเกมส์ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดงจากการแข่งขัน 3 ประเภท 3 สมัย ยังคงเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซที่ยังเป็นตำนานมาจนทุกวันนี้


stadium

author

ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)

ผู้ชื่นชอบการรวบรวมข้อมูลนักกีฬาไทย และหลงไหลในกาแฟ ธรรมชาติ และหมาแมว