stadium

“อังคาร ชมพูพวง” นักกีฬา 2 เหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์จาก 2 ชนิดกีฬา

5 ตุลาคม 2566

โดยปกติแล้วเรามักจะไม่ค่อยพบเห็นนักกีฬาที่ลงแข่งขันระดับนานาชาติหรือติดทีมชาติของตนเองมากกว่าหนึ่งชนิดกีฬาเท่าใดนัก อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่ากว่าที่นักกีฬาจะพัฒนาศักยภาพของตนเองจนสามารถเอาดีได้ในชนิดกีฬาชนิดหนึ่งต้องใช้ระยะเวลาและการสั่งสมประสบการณ์มามากพอสมควร จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

 

แต่สำหรับวงการกีฬาของประเทศไทยแล้วมีนักกีฬาอยู่คนหนึ่งที่สามารถทำได้ครับ เขาคนนั้นก็คือ “อังคาร ชมพูพวง” ที่สามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2002 และเหรียญเงินในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งถัดมา โดยเหรียญรางวัลทั้งสองเหรียญที่อังคารทำได้นั้นมาจากคนละชนิดกีฬากัน เป็นเรื่องที่ยากจะเกิดขึ้นสำหรับวงการกีฬาบ้านเรา และถือว่าเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของกีฬาเอเชียนเกมส์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

 

นอกจากนี้เรื่องราวของ “อังคาร ชมพูพวง” จะเป็นอย่างไร เจ้าตัวเริ่มต้นสร้างผลงานจากกีฬาชนิดใดบ้างเชิญติดตามกันได้เลยครับ

 

 

นักมวยไทยดีกรีแชมป์เวทีลุมพินี

 

แรกเริ่มเดิมทีนั้น “อังคาร ชมพูพวง” เป็นนักกีฬามวยไทยภายใต้ชื่อ "ผจญศึก ลูกพระบาท" เจ้าตัวนั้นฝึกฝนมวยไทยตั้งแต่เป็นเด็กอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ขึ้นต่อยตามเวทีมวยภูธรจนสามารถพัฒนาตัวเองมาขึ้นชกศึกใหญ่ในเมืองหลวงและต่างประเทศได้ โดยไฟต์ที่ถือว่าสร้างชื่อให้กับอังคารก็คือการขึ้นชกชิงแชมป์โลกของสภามวยไทยโลกหรือดับเบิลยูเอ็มซี (World Muaythai Council : WMC) กับยอดมวยอย่าง “เก้าล้าน เก้าวิชิต” ในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2001

 

ซึ่งแม้ว่าเจ้าตัวจะต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้คะแนนจนชวดแชมป์แต่ลีลาเชิงชกก็ถือว่าเป็นมวยที่นำมาสรรค์สร้างได้ หลังจากไฟต์ดังกล่าวอังคารชกทำฟอร์มอยู่อีก 2-3 ไฟต์ก็มีโอกาสได้ล้างตากับ “เก้าล้าน เก้าวิชิต” อีกครั้งในการแข่งขันชิงแชมป์เวทีลุมพินีในรุ่นเวลเตอร์เวท และในครั้งนี้อังคารสามารถล้างตาเอาชนะคะแนนแชมป์โลกไปได้แบบสนุก

 

หลังจากการคว้าแชมป์เวทีมวยลุมพินีได้สำเร็จแล้วอังคารถูกทาบทามให้มาฝึกซ้อมและลงแข่งขันกีฬาวูซูในนามทีมชาติไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 2002 ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้

 

 

พลิกฟื้น “วูซู” จากกีฬานอกสายตาสู่ฮีโร่ของชาติ

 

หลายคนอาจจะส่งสัยนะครับว่าเหตุใด “อังคาร ชมพูพวง” ที่มีดีกรีเป็นถึงแชมป์มวยไทยเวทีลุมพินีถึงตัดสินใจไปเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยโดยลงแข่งขันในกีฬาวูซู ซึ่งต้องขอเล่าแบบนี้ครับว่าในยุคสมัยนั้นกีฬาวูซูถูกตั้งคำถามอย่างมากจากสังคมคนกีฬาว่าประเทศไทยควรจะยังส่งเสริมหรือให้ความสำคัญกับกีฬาชนิดอยู่หรือไม่ด้วยก็เพราะวูซูเองมีแข่งขันแค่ในซีเกมส์และเอเชียนเกมส์เท่านั้น ไม่ได้มีการแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์แต่อย่างใด

 

อีกทั้งผลงานที่ผ่านมาทีมชาติไทยเองก็ไม่สามารถสร้างผลงานในกีฬาชนิดนี้ได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน จะมีก็เพียงการคว้า 2 เหรียญเงินกับ 3 เหรียญทองแดงเท่านั้นในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ส่วนในการแข่งขันระดับซีเกมส์นั้นหลายครั้งที่นักกีฬาทีมชาติไทยไม่อาจหยิบเหรียญทองมาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

 

สมาคมกีฬาวูซูแห่งประเทศไทยในยุคสมัยนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามที่จะหาช่องทางในการสร้างผลงานให้ได้ซึ่งก็ต้องยอมรับกันว่าในการแข่งขันประเภทร่ายรำนั้นคงจะยากที่ทีมชาติไทยจะประสบความสำเร็จแต่ถ้าเป็นในประเภทต่อสู้ก็ไม่แน่ เพราะไทยเองก็มีพื้นฐานในศิลปะป้องกันตัวอยู่แล้วนั่นก็คือ “มวยไทย” แนวคิดที่จะนำนักมวยไทยมาปรับสไตล์และเรียนรู้กติกาวูซูจึงเกิดขึ้น

 

“อังคาร ชมพูพวง” คือหนึ่งในนักมวยไทยที่ปรับมาฝึกซ้อมและเล่นกีฬาวูซูเพื่อลงแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2002 ที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยก่อนหน้าจะถึงศึกสำคัญนี้อังคารก็เคยลงแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ 2001 ที่ประเทศมาเลเซียมาแล้วและก็ทำผลงานได้อย่างน่าพอใจเมื่อสามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ และเป็นเหรียญทองวูซูเหรียญเดียวในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนั้น อย่างไรก็ตามไม่มีใครคาดหวังกับตัวของอังคารและสมาคมวูซูในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนั้นว่าจะต้องคว้าเหรียญทองให้กับทีมชาติไทยได้ เอาแค่ว่าเหรียญรางวัลติดมือกลับมาก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

 

แต่เจ้าตัวไม่ได้คิดเช่นนั้น อังคารเชื่อว่าตัวเองมีดีพอที่จะคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้ และหลังจากที่สามารถคว้าแชมป์มวยไทยเวทีลุมพินีมาครองได้ เจ้าตัวมีเวลา 3 เดือนในการเตรียมความพร้อมสู่เอเชียนเกมส์ 2002 อังคารมุ่งมั่นฝึกซ้อมอย่างเต็มที่พยายามเรียนรู้และฝึกฝนเทคนิคต่างๆ ให้มีความหลากหลายมากพอที่จะเอาไปประยุกต์ใช้เมื่อถึงการแข่งขันจริง นอกจากนี้อังคารยังให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งของร่างกาย และการฝึกสมาธิเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางจิตใจ เพราะเจ้าตัวรู้ดีว่าเวทีการแข่งขันระดับเอเชียนเกมส์นั้นไม่ง่าย

 

เมื่อการแข่งวูซูในเอเชียนเกมส์ 2002 มาถึงเพียงแค่รอบแรกอังคารต้องพบกับศึกหนักเมื่อต้องโคจรมาพบกับ “ชอย ยอง มิน” นักกีฬาจากประเทศเกาหลีใต้เจ้าภาพ อังคารอาศัยความนิ่งและเทคนิคชั้นเชิงที่ดีกว่าสามารถเอาชนะคะแนนนักกีฬาเจ้าถิ่นไปได้ จากนั้นในการแข่งขันรอบควอเตอร์ไฟนอลอังคารก็ยังฟอร์มเยี่ยมสามารถเอาชนะ “ชายัม บิสต้า” นักกีฬาจากประเทศเนปาลไปแบบไม่ยากเย็นนักและชัยชนะดังกล่าวก็เป็นการการันตีว่าเจ้าตัวมีเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์คล้องคอแน่นอนเพียงแต่จะเป็นเหรียญสีอะไรเท่านั้น

 

รอบรองชนะเลิศอังคารต้องโคจรมาพบกับ “เอดูอาร์ด โฟลายัง” จากประเทศฟิลิปปินส์ ดาวรุ่งนักวูซูประเภทต่อสู้ที่ฝีมือไม่ธรรมดา โดยโฟลายังในภายหลังสามารถคว้าเหรียญเงินเอเชียนเกมส์ได้ในครั้งต่อมาและเป็นเจ้าของเหรียญทองซีเกมส์ 3 สมัยจากนั้นก็ผันตัวเองไปเป็นนักสู้ MMA และเคยแข่งขันใน ONE Championships อีกด้วย แต่การพบเจอกันในตอนนั้น “เอดูอาร์ด โฟลายัง” ไม่อาจต้านทานความแข็งแกร่งของนักวูซูไทยได้ อังคารสามารถเอาชนะน็อกดาวรุ่งฟิลิปปินส์ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ

 

รอบชิงชนะเลิศอังคารต้องพบกับ “โมฮัมหมัด อาไก” จากประเทศอิหร่านที่ในรอบรองชนะเลิศสามารถพลิกเอาชนะตัวเต็งอย่าง “ยู่ ต๋าเว่ย” ของประเทศจีนมาได้ แม้อังคารจะต้องพบกับคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่งแต่ด้วยการฝึกฝนมาอย่างหนักก็ทำให้เจ้าตัวสามารถผ่านไฟต์นี้ไปได้ “อังคาร ชมพูพวง” สามารถคว้าเหรียญทองวูซู ประเภทต่อสู้น้ำหนักไม่เกิน 65 กิโลกรัมในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 2002 ณ เมืองบูซาน ประเทศเกาหลีใต้ไปครองได้สำเร็จ เป็นเหรียญประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครคาดคิด

 

อังคารทำให้กีฬาวูซูที่เป็นกีฬานอกสายตาในยุคสมัยนั้นถูกพูดถึงและได้รับการยอมรับมากขึ้นจากคนในวงการกีฬาและแฟนกีฬาชาวไทย

 

 

กลับไปชกมวยไทยก่อนจะไปเอาดีทางมวยสากลสมัครเล่น

 

หลังจาก “อังคาร ชมพูพวง” สามารถคว้าเหรียญทองวูซูในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2002 ได้สำเร็จเจ้าตัวก็กลับไปชกมวยไทยและได้ขึ้นป้องกันตำแหน่งแชมป์มวยไทยเวทีลุมพินีในรุ่นเวลเตอร์เวทกับ “เก้าล้าน เก้าวิชิต” อีกครั้งเป็นภาคที่ 3 แต่ในครั้งนั้นอังคารต้องพ่ายแพ้คะแนนเสียแชมป์เวทีมวยลุมพินีไปอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตามอังคารเองก็มีคิวขึ้นชกอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศแพ้บ้างชนะบ้างสลับกันไป

 

เจ้าตัวมีโอกาสรับใช้ทีมชาติไทยอีกครั้งในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ปี 2006 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ แต่ในครั้งนี้เจ้าตัวไม่ได้ไปแข่งขันในฐานะนักกีฬาวูซูแต่อย่างใด อังคารคือหนึ่งในนักกีฬามวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยในรุ่นเวลเตอร์เวท น้ำหนักไม่เกิน 69 กิโลกรัม และเจ้าตัวก็สามารถโชว์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมตั้งแต่เริ่มต้นการแข่งขันโดยในรอบแรกอังคารสามารถสร้างผลงานกระหึ่มเวทีเอเชียนเกมส์เมื่อเจ้าตัวสามารถเอาชนะ “คิม จอง จุน” นักชกแชมป์เก่าจากประเทศเกาหลีใต้แถมยังเป็นเจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิกเกมส์ 2004 อีกด้วย โดยไฟต์นั้นสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิงก่อนที่อังคารจะทำได้ดีกว่าเอาชนะไป 22-16 คะแนน

 

เมื่อเจ้าตัวเปิดหัวได้สวยก็ยิ่งทำให้มีความมั่นใจในรอบต่อมาอังคารต้องพบกับอาเซียนอันตรายอย่าง “โจแวน ฟรานซิส” จากประเทศฟิลิปปินส์ นักมวยชาวไทยแก้ทางมวยด้วยการใช้หมัดแย็บและขวาตรงกระแทกเข้าหน้านักชกตากาล็อกไล่เก็บคะแนนไปเรื่อยๆ จนสามารถเอาชนะอาร์เอสซีไปได้ผ่านเข้าสู่รอบควอเตอร์ไฟนอลหรือ 8 คนสุดท้ายไปพบกับ “เชอราลี มามาดาลีฟ” จากประเทศทาจิกิสถาน โดยใครสามารถเอาชนะในไฟต์นี้ได้จะการันตีเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ทันที

 

เกมการชกกับ “เชอราลี มามาดาลีฟ” อังคารไม่มีอะไรจะเสียเพราะก่อนมาแข่งขันด้วยประสบการณ์การชกมวยสากลสมัครเล่นและสายการชกที่ออกมาก็ไม่มีใครคาดหวังว่าเจ้าตัวจะไปถึงเหรียญรางวัลอยู่แล้ว การที่อังคารไม่ได้มีความคาดหวังมากดดันตัวเองนั่นทำให้เจ้าตัวสามารถทำผลงานได้อย่างเต็มที่ อังคารอาศัยเชิงชกที่แม่นยำเอาชนะ “เชอราลี มามาดาลีฟ” ไปได้ 29-21 คะแนนผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้สำเร็จและก็สามารถเอาชนะ “มูฮัมหมัด ซัคตาปูร์” จากประเทศอิหร่านไปได้อย่างขาดลอยในรอบนี้

 

“อังคาร ชมพูพวง” กลายเป็นนักกีฬาที่สามารถลุ้นคว้าเหรียญทองกีฬาเอเชียนเกมส์จาก 2 ชนิดกีฬาไปโดยทันที อย่างไรก็คู่ต่อสู้ในรอบชิงชนะเลิศของอังคารนั้นก็คือ “บัทเตียร์ เซซาปาเยฟ” ดีกรีแชมป์เอเชีย 2 สมัยจากประเทศคาซัคสถาน ที่ฝีไม้ลายมือเหนือกว่าอังคารอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามเจ้าตัวก็สู้แบบสุดชีวิตเช่นกัน แต่จังหวะการออกหมัดนั้นเป็นรองเซซาปาเยฟอยู่มาก อังคารโดยดักต่อยทำคะแนนจากฮุกขวาเสียไปหลายคะแนนจนในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้แบบอาร์เอสซีไป

 

“อังคาร ชมพูพวง” คว้าเหรียญเงินกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ปี 2006 จากมวยสากลสมัครเล่น รุ่นเวลเตอร์เวทไปครองได้ เป็นเหรียญเอเชียนเกมส์ที่ 2 ของเจ้าตัว และที่สำคัญอังคารได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาทีมชาติไทยที่สามารถคว้า 2 เหรียญรางวัลกีฬาเอเชียนเกมส์จาก 2 ชนิดกีฬาซึ่งน้อยคนนักที่จะทำได้ เหรียญทองวูซูในเอเชียนเกมส์ 2002 และเหรียญเงินมวยสากลสมัครเล่นในเอเชียนเกมส์ 2006 จากฝีมือของ “อังคาร ชมพูพวง” จะถูกจารึกเป็นประวัติศาสตร์ของทัพนักกีฬาทีมชาติไทยในเวทีเอเชียนเกมส์ตลอดไป


stadium

author

ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)

ผู้ชื่นชอบการรวบรวมข้อมูลนักกีฬาไทย และหลงไหลในกาแฟ ธรรมชาติ และหมาแมว