stadium

ย้อนรอยความสำเร็จมวยสากลสมัครเล่นของไทยในเอเชียนเกมส์

3 ตุลาคม 2566

มวยสากลสมัครเล่นถือเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาความหวังของทัพนักกีฬาทีมชาติไทยในทุกมหกรรมกีฬามาหลายยุคหลายสมัย นั่นก็ด้วยเพราะว่ากีฬาชนิดนี้ได้สร้างผลงานในระดับนานาชาติเอาไว้มากมายทั้งในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์, เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ โดยมวยสากลสมัครเล่นสามารถขึ้นโพเดียมแห่งชัยชนะมาได้อย่างต่อเนื่องยาวนานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 

โดยเฉพาะในการแข่งขันระดับเอเชียนเกมส์หลายครั้งที่กีฬาชนิดนี้ได้สร้างเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การจดจำเอาไว้มากมาย บทความนี้จึงจะขอพาทุกท่านไปย้อนเรื่องราวความสำเร็จของทัพกำปั้นทีมชาติไทยในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ของชาวเอเชียอย่างเอเชียนเกมส์กันครับ

 

จุดเริ่มต้นคว้าเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งแรกนั้นเริ่มต้นขึ้นในปี 1951 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยประเทศไทยเริ่มต้นด้วยการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 17 คน โดยการเข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนั้นทีมชาติไทยไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลมาครองได้แม้แต่เหรียญเดียว เช่นเดียวกับการแข่งขันครั้งต่อมาในปี 1954 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ นักกีฬาทีมชาติไทยก็ยังคงไม่อาจสร้างความสำเร็จได้

 

กาลเวลาผ่านมาจนถึงการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 3 ปี 1958 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยจึงสามารถคว้าเหรียญรางวัลมาครองได้เป็นครั้งแรกโดยได้มา 1 เหรียญเงินกับอีก 3 เหรียญทองแดง จาก 2 ชนิดกีฬาได้แก่ยิงปืนและมวยสากลสมัครเล่น โดยทีมกำปั้นทีมชาติไทยสามารถคว้ามาได้ 2 เหรียญทองแดงจาก “สืบ จุณฑเกาศล” นักมวยสากลสมัครเล่นรุ่นไลต์เวลเตอร์เวต และ “ทองไส เทพธานี” จากมวยสากลสมัครเล่นรุ่นเวลเตอร์เวต

 

ผลงานในครั้งนั้นก็ถือว่าเป็นจุดกำเนิดการสร้างตำนานความสำเร็จในระดับนานาชาติของทีมมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย

 

สัมพันธ์ พยนต์รัตน์

 

“สัมพันธ์ พยนต์รัตน์” สานต่อความสำเร็จ เหรียญทองแรกที่รอคอย

 

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 4 ปี 1962 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ทัพนักกีฬาไทยที่รอคอยการคว้าเหรียญทองมาอย่างยาวนานกว่า 11 ปีนับตั้งแต่การแข่งขันครั้งแรกเริ่มต้นขึ้นก็ประสบความสำเร็จเสียทีเมื่อสามารถคว้ามาได้ 2 เหรียญทองโดยหนึ่งในนั้นก็คือเหรียญทองของ “สัมพันธ์ พยนต์รัตน์” ในการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นรุ่นเฟเธอร์เวตที่สามารถเอาชนะ “มาโมรุ ฮายาชิ” นักชกจากประเทศญี่ปุ่นไปได้ในรอบชิงชนะเลิศ เป็นเหรียญทองประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาไทย

 

นอกจากนี้ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 1962 นั้น ทัพกำปั้นทีมชาติไทยก็ไม่ได้หยุดความสำเร็จลงเพียงแค่เหรียญทองเท่านั้น เพราะ “ศักดิ์ดา ส่องแสง” นักมวยรุ่นไลต์เวลเตอร์เวตก็สามารถคว้าเหรียญเงินมาครองได้อีกหนึ่งเหรียญโดยเจ้าตัวพลาดท่าแพ้ “คิม ดึก-บง” นักมวยทีมชาติเกาหลีใต้ในรอบชิงชนะเลิศไปแบบน่าเสียดาย และส่งท้ายด้วยผลงานของ “สิงห์โต แจ่มจิตรมั่น” ที่คว้าได้อีก 1 เหรียญทองแดงจากรุ่นเวลเตอร์เวต ทำให้บทสรุปในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนั้นทีมมวยสากลสมัครเล่นไทยคว้ามาได้ 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง สร้างชื่อเสียงให้ชาวเอเชียได้รับรู้ถึงศักยภาพของนักชกไทย

 

โกยเหรียญทองในบ้านสร้างความภูมิใจไม่รู้ลืม

 

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ปี 1966 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย มวยสากลสมัครเล่นกลายเป็นหนึ่งในกีฬาความหวังของแฟนกีฬาไทยและทีมกำปั้นทีมชาติไทยก็ไม่ทำให้กองเชียร์ต้องผิดหวังเมื่อสามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้ถึง 6 รุ่นจาก 11 รุ่น โดยในรุ่นไลต์ฟลายเวต “ประพันธ์ ด้วงชะอุ่ม” สามารถเอาชนะ “ซอ ซังยอง” จากเกาหลีใต้คว้าเหรียญทองให้ทีมชาติไทยได้สำเร็จ

 

จากนั้น “เชิดชัย อุดมไพจิตรกุล” รุ่นแบนตัมเวตก็สามารถเอาชนะ “นารายณ์ มอร์” นักชกจากอินเดียไปได้อย่างสนุกคว้าเหรียญทองในรุ่นดังกล่าวได้เป็นครั้งแรก และ “นิยม ประเสริฐสม” ก็สามารถเอาชนะ “ซาอิด ฟิดาล” จากอินโดนีเซียคว้าเหรียญทองในรุ่นไลต์เวลเตอร์เวตไปได้อีกเหรียญให้ทัพกำปั้นทีมชาติไทย สร้างผลงานคว้า 3 เหรียญทองไปได้ในการแข่งขันครั้งนั้น ส่วนนักกีฬาที่น่าเสียดายที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “ศักดิ์ดา ส่องแสง” นักชกในรุ่นรุ่นเวลเตอร์เวตที่ต้องพลาดท่าพ่ายแพ้ “ปาร์ค คู อิล” จากเกาหลีใต้ไปในรอบชิงชนะเลิศทำให้เจ้าตัวได้เหรียญเงินเป็นสมัยที่ 2 ไม่ถึงฝั่งฝันอย่างที่ตั้งใจไว้

 

จากนั้นในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 6 ปี 1970 มาที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพแบบต่อเนื่อง ทัพนักชกมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยก็สามารถคว้ามาได้อีก 2 เหรียญทองจากผลงานของ “บรรเทา ศรีสุข” ในรุ่นไลท์เวลเตอร์เวตโดยในรอบชิงชนะเลิศบรรเทาสามารถเอาชนะ “เขียว แสน” นักชกจากกัมพูชาที่ผ่านเวทีโอลิมปิกเกมส์มาแล้ว ส่วนอีกเหรียญทองนั้นได้มาจากมวยรุ่นใหญ่อย่าง “มานิตย์ ตรีอรุณเอก” ที่สามารถพลิกเอาชนะ “ปาร์ค ฮยอง จุน” จากเกาหลีใต้ไปได้อย่างสนุกสร้างความภูมิใจให้กับแฟนกีฬาไทยเป็นอย่างมาก

 

สำหรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ทั้ง 2 ครั้งในประเทศไทยนั้น กีฬามวยสากลสมัครเล่นถือว่าเป็นกีฬาที่สามารถสร้างผลงานได้เป็นที่น่าประทับใจและทำให้กีฬาชนิดนี้ได้รับความสนใจจากแฟนกีฬาในยุคสมัยนั้นเป็นอย่างมาก โดยในระดับเอเชียนั้นทีมนักชกไทยเป็นรองเพียงทีมชาติเกาหลีใต้เท่านั้น

 

 

“ศิริ สุปัญญา” กู้คืนศรัทธาบนแผ่นดินสยามลบฝันร้ายจากเตหะราน

 

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 7 ปี 1974 ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ทัพนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยฟอร์มตกลงอย่างน่าใจหาย จากที่เคยคว้าเหรียญทองได้มาโดยตลอดในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 3 ครั้งที่ผ่านมาพอมาการแข่งขันในครั้งนี้ทำได้เพียงหนึ่งเหรียญทองแดงเท่านั้นจากฝีมือของ “อาริน สืบสมบูรณ์” ในรุ่นเฟเธอร์เวต ขณะที่เกาหลีใต้ยังคงความเป็นเจ้าเหรียญทองของทวีปเอเชียต่อไป ขณะที่ประเทศอย่างอิหร่าน, เกาหลีเหนือ และญี่ปุ่นก็มีพัฒนาการขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด

 

ทำให้ในอีก 4 ปีต่อมาที่กีฬาเอเชียนเกมส์กลับมาแข่งขันที่ประเทศไทยอีกครั้ง ทีมมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยต้องการที่จะกู้ชื่อคืนในถิ่นของตัวเองให้ได้ นักชกมากฝีมือหลายคนถูกเรียกเข้าแคมป์เก็บตัวทีมชาติไทยภายใต้การฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น และแนวทางดังกล่าวก็ได้ผลลัพธ์เป็นอย่างดีเมื่อทีมชาติไทยสามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้ถึง 4 รุ่น และก็ประสบความสำเร็จคว้ามาได้ 1 เหรียญทอง จากฝีมือของ “ศิริ สุปัญญา” ในรุ่นไลต์ฟลายเวตโดยในรอบชิงชนะเลิศสามารถเอาชนะ “รี บยองอุก” นักชกเกาหลีเหนือดีกรีเหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ 1976 ไปได้ด้วยฟอร์มการชกที่สวยงาม

 

ขณะที่อีก 3 นักชกไทยที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศอย่าง “วิชิต ลูกบางปลาสร้อย” ยอดมวยไทยที่ผันมาชกมวยสากลสมัครเล่นในรุ่นไลต์เวลเตอร์เวต, “วัลลภ โตทัศะ” รุ่นเวลเตอร์เวตและ “ระเบียบ แสงนวล” ไลต์มิดเดิลเวต ไม่อาจสามารถผ่านด่านหินนักชกจากประเทศเกาหลีใต้ไปได้ทำได้เพียงเหรียญเงินเท่านั้น

 

“ธีระพร แสงอะโน” ฮีโร่รุ่นเล็ก รักษามาตรฐาน ณ แดนภารตะ

 

เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 9 ปี 1982 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ทีมมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยยังคงสามารถรักษามาตรฐานได้โดยผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 3 รุ่น เริ่มจาก “ธีระพร แสงอะโน” รุ่นฟลายเวตโคจรมาพบกับ “บาบาร์ อาลี ข่าน” นักมวยจากประเทศปากีสถานในรอบชิงชนะเลิศและก็สามารถอาศัยจังหวะฝีมือที่เหนือกว่าเอาชนะไปได้คว้าเหรียญทองไปครองได้สำเร็จ

 

ด้าน “วันชัย ผ่องศรี” รุ่นแบนตัมเวต ที่สามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้แต่ต้องพบกับยอดมวยดาวรุ่งของประเทศเกาหลีใต้อย่าง “มูน ซัง กิล” วันชัยไม่อาจต้านทานเชิงชกที่หลากหลายได้ทำได้เพียงเหรียญเงินเท่านั้นเช่นเดียวกับ “ทวี อัมพรมหา” เจ้าของเหรียญเงินมวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์เอเชียก็ไม่อาจคว้าชัยชนะในรอบชิงเหรียญทองได้เช่นกันโดยพ่ายแพ้ให้กับ “คิม ดอง กิล” นักชกเกาหลีใต้ไปอีกราย

 

“ไรแมน บุญถม” กับ “ชัยณรงค์ กัณหา” สองนักชกกู้หน้าทัพนักกีฬาไทย

 

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 11 ปี 1990 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นอีกการแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่ทัพนักกีฬาไทยทำผลงานได้ไม่ดีนักเมื่อไม่สามารถคว้าเหรียญทองได้เลยจนเกือบจะจบการแข่งขันอยู่แล้วแต่ในช่วงท้ายทีมชาติไทยมีโอกาสได้ลุ้น 3 เหรียญทองจากกีฬามวยสากลสมัครเล่นเมื่อ “ฉัตรชัย สาสะกุล”, “ไรแมน บุญถม” และ “ชัยณรงค์ กัณหา” สามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้ โดยความหวังสูงสุดอยู่ที่นักมวยเชิงสวยอย่างฉัตรชัยในรุ่นไลต์ฟลายเวต

 

แต่ยิ่งคาดหวังกลับต้องผิดหวังเมื่อ “ฉัตรชัย สาสะกุล” ความหวังเหรียญทองของไทยต้องพ่ายให้กับ “ยาง ซุค จิน” จากเกาหลีใต้ไปอย่างพลิกล็อกได้เพียงเหรียญเงิน ภาพจำในวันนั้นคือกองเชียร์ชาวไทยที่อยู่ในสนามต่างอยู่ในอาการเงียบกริบ ทุกคนคิดว่าเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยอาจจะกลับบ้านมือเปล่า แต่แล้วก็เป็น “ไรแมน บุญถม” นักชกในรุ่นเฟเธอร์เวต ที่สามารถทำให้ทุกคนยิ้มได้เมื่อเจ้าตัวโชว์ฟอร์มยอดเยี่ยมจัดหมัดชุดทั้งซ้ายและขวาถล่มใส่ “จิน มุง ดอล” นักชกเกาหลีใต้ไปแบบไม่มียั้งจนกรรมการชูมือให้เจ้าตัวเป็นฝ่ายเอาชนะคว้าเหรียญทองไปครองได้

 

จากนั้นกองเชียร์ชาวไทยก็ได้เฮกันต่อเนื่องเมื่อ “ชัยณรงค์ กัณหา” นักชกรุ่นเวลเตอร์เวทที่สามารถสร้างผลงานได้อย่างพลิกความคาดหมายตั้งแต่รอบรองชนะเลิศที่สามารถเอาชนะตัวเต็ง “ชุน จิน จุน” จากเกาหลีใต้มาได้ก็ยังฟอร์มแรงแบบต่อเนื่องเมื่อในรอบชิงชนะเลิศสามารถเอาชนะ “หลิว ลิ จุน” นักมวยจีนเจ้าภาพไปได้ทำให้เจ้าตัวคว้าเหรียญทองที่ 2 ให้กับทัพนักกีฬาทีมชาติไทยในเอเชียนเกมส์ 1990 และทั้งคู่ก็กลับสู่มาตุภูมิอย่างวีรบุรุษ

 

“สมรักษ์ คำสิงห์” ฮีโร่เหรียญทองทัพนักกีฬาไทย จุดเริ่มต้นตำนาน

 

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 ปี 1994 ณ เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ทัพนักกีฬาไทยก็เจอกับสถานการณ์ลุ้นเหรียญทองไม่ต่างจากครั้งก่อนเพราะในช่วงเวลานั้นทีมชาติไทยทำได้ดีที่สุดเพียงเหรียญเงินเท่านั้น (รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ถูกปรับผลการแข่งขันให้ได้เหรียญทองในภายหลัง) และความหวังเดียวที่เหลืออยู่ในขณะนั้นก็คือการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นที่นักกีฬาไทยสามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้ถึง 4 รุ่น “ประมวลศักดิ์ โพธิ์สุวรรณ” รุ่นไลต์ฟลายเวต, “สมรักษ์ คำสิงห์” รุ่นเฟเธอร์เวต, “เฉลียว สมวงศ์” รุ่นไลต์เวต และ “อาคม เฉ่งไล่” รุ่นเวลเตอร์เวต

 

โดยความหวังสำคัญก็คือ “อาคม เฉ่งไล่” เพราะอาคมนั้นมีดีกรีเป็นถึงเจ้าของเหรียญทองแดงในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 1992 ที่ผ่านมา แต่แล้วก็มีแค่เพียง “บาส” สมรักษ์ คำสิงห์ ที่สามารถขึ้นสู่จุดสูงสุดของโพเดียมได้โดยเจ้าตัวสามารถเอาชนะ “ไซกัม มาซีล” จากประเทศปากีสถานไปได้อย่างเหนือชั้นคว้าเหรียญทองโทนเหรียญทองเดียว ณ ช่วงเวลานั้น เป็นฮีโร่เอเชียนเกมส์ก่อนที่ในภายหลังจะมีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยคนแรกที่คว้าเหรียญทองการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์

 

 

5 เหรียญทอง ณ บางกอกเกมส์ ผลงานดีที่สุดตลอดกาลของทีมมวยสากลสมัครเล่นไทย

 

กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 ที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเป็นครั้งที่ 4 ทีมมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยอยู่ในยุคที่ได้รับความนิยมและมีความสมบูรณ์ถึงขีดสุดซึ่งสาเหตุหนึ่งนั่นก็เพราะว่าผลงานความสำเร็จในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 1996 ที่ “สมรักษ์ คำสิงห์” สามารถสร้างคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์มาครองได้ อีกทั้ง “วิชัย ราชานนท์” ก็ได้เหรียญทองแดงในโอลิมปิกเกมส์ครั้งเดียวกัน

 

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนั้นทีมกำปั้นไทยสามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้ทั้งหมด 5 รุ่นจาก 12 รุ่น และก็สามารถเก็บชัยชนะได้ทั้งหมดเริ่มจาก “สุบรรณ พันโนน” สามารถคว้าเหรียญทองในรุ่นไลต์ฟลายเวต, “ประมวลศักดิ์ โพธิ์สุวรรณ” เจ้าของเหรียญเงินในเอเชียนเกมส์ 1994 ก็สามารถคว้าเหรียญทองรุ่นฟลายเวตได้สำเร็จในเอเชียนเกมส์ครั้งนั้นโดยสามารถเอาชนะ “เฮอร์เมนเซ่น บัลโล” คู่ปรับจากประเทศอินโดนีเซียได้สำเร็จ

 

จากนั้นในรุ่นเฟเธอร์เวต “สมรักษ์ คำสิงห์” เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 1996 ก็ไม่ทำให้กองเชียร์ทั้งประเทศต้องผิดหวังเมื่อสามารถคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้ 2 สมัยติดต่อกันโดยรอบชิงชนะเลิศเจ้าตัวโชว์เชิงชกที่แม่นยำและสายตาที่ยอดเยี่ยมเหนือ “ตูร์กูนอฟ ตุลคุนเบย์” นักมวยทีมชาติอุซเบกิสถานไปแบบเหนือชั้นสมราคาคุย

 

จากนั้นก็เป็น “พงษ์สิทธิ์ เวียงวิเศษ” ที่ขึ้นชกและสามารถเอาชนะ “ติมูร์ ซูไลมานอฟ” อีกหนึ่งนักมวยอุซเบกิสถานอีกคนคว้าเหรียญทองรุ่นไลต์เวตไปครองได้ก่อนที่ “ภาคภูมิ แจ้งโพธิ์นาค” จะมาคว้าเหรียญทองรุ่นเวลเตอร์เวตเป็นการส่งท้าย โดยผลงาน 5 เหรียญทองของมวยสากลสมัครเล่นในครั้งนั้นยังคงเป็นตำนานความสำเร็จมาจนทุกวันนี้

 

เหรียญทองโทนจาก “สมจิตร จงจอหอ” จุดกำเนิดฮีโร่โอลิมปิก

 

กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 2002 ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ทีมมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยเดินทางมาเข้าร่วมการแข่งขันด้วยการแบกความหวังของแฟนกีฬาชาวไทยไว้มากมาย ด้วยผลงานที่ผ่านมาทั้งโอลิมปิกเกมส์ 1996, 2000 และเอเชียนเกมส์ 1998 นั้นทำให้ผลงานของกีฬาชนิดนี้ถูกจับตามมอง ซึ่งก็ต้องยอมรับกันตามตรงว่าเอเชียนเกมส์ 2002 นั้นมวยสากลสมัครเล่นต้องพบกับความผิดหวังเมื่อสามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้เพียง 2 รุ่นเท่านั้นคือ “สมจิตร จงจอหอ” รุ่นฟลายเวตที่พกดีกรีเหรียญทองมวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์เอเชีย 2002 ติดตัวมาด้วย ส่วนอีกคนที่ผ่านมาถึงรอบนี้นั้นก็คือ “สุริยา ปราสาทหินพิมาย” ในรุ่นไลต์มิดเดิลเวต

 

และก็มีพียง “สมจิตร จงจอหอ” เท่านั้นที่สามารถขึ้นสู่จุดสูงสุดของโพเดียมได้ด้วยการเอาชนะ “นูมาน คาริม” จากประเทศปากีสถานไปอย่างสนุกและทำให้สมจิตรกลายเป็นดับเบิลแชมป์ของทวีปเอเชียนั่นก็คือการคว้าเหรียญทองในรายการชิงแชมป์เอเชียและเอเชียนเกมส์ได้ในปี 2002 จากนั้นในอีก 6 ปีต่อมาเจ้าตัวก็คือเจ้าของวลี “ผมเจ็บมาเยอะ” หลังจากที่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2008 มาได้สำเร็จ

 

ฮีโร่โอลิมปิกกู้หน้าทัพกำปั้นไทยในโดฮาเกมส์

 

หลังจากที่มวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยสามารถสร้างผลงานคว้า 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดงจากการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2004 มาได้ผลงานดังกล่าวก็จุดกระแสความนิยมและความหวังของกีฬาชนิดนี้ให้พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง นักชกแต่ละคนอยู่ในจุดที่มีความสมบูรณ์พร้อมและสร้างผลงานในการแข่งขันระดับต่างๆ มามากมาย

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ปี 2006 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ทีมมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยสามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้ถึง 4 รุ่น โดยถ้าว่ากันตามหน้าเสื่อแล้ว 2 เหรียญทองน่าจะมีอยู่ในมือเป็นอย่างน้อย แต่เมื่อเกมการแข่งขันเริ่มต้นขึ้นมันกลับไม่เป็นเช่นนั้น

 

“สุบรรณ พันโนน” นักมวยฝีมือดีของทีมกำปั้นไทยเริ่มต้นด้วยความพ่ายแพ้ต่อ “ซู ชิ หมิง” ยอดมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติจีนไปแบบอาร์เอสซีได้เหรียญเงินไปก่อนในรุ่นไลต์ฟลายเวต จากนั้นแชมป์เก่าอย่าง “สมจิตร จงจอหอ” ก็มาพ่าย “โอริโต้ เปล่า” นักมวยจากประเทศฟิลิปปินส์ได้เหรียญเงินในรุ่นฟลายเวตไปอีกคน ซึ่งการพ่ายแพ้ของสมจิตรนั้นทำให้ความหวัง 2 เหรียญทองต้องหลุดลอยออกไปทันที

 

ความหวังก็เหลือเพียงฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์อย่าง “มนัส บุญจำนงค์” ที่เพิ่งคัมแบ็กกลับมารับใช้ชาติหลังจากหายหน้าหายตาไปกว่า 2 ปี แต่ด้วยความเป็นนักมวยเข้าขั้นอัจฉริยะคนหนึ่งเจ้าตัวเลยสามารถสร้างผลงานได้อย่างพลิกความคาดหมายโดยรอบชิงชนะเลิศ “มนัส บุญจำนงค์” ดักต่อยเก็บคะแนนจนสามารถเอาชนะ “ชิง เมียง มูน” จากประเทศเกาหลีใต้ไปได้อย่างขาดลอย 27-11 คะแนน คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ไปครองได้สำเร็จ และเป็นเหรียญทองเดียวของทีมกำปั้นทีมชาติไทยในการแข่งขันครั้งนั้นเพราะในอีกคู่ “อังคาร ชมพูพวง” อดีตนักกีฬาเหรียญทองวูซูเอเชียนเกมส์ 2002 นั้นพ่ายแพ้ “บัทเตียร์ เซซาปาเยฟ” แชมป์เอเชียจากคาซัคสถานไปอีกคน

 

 

“วรพจน์ เพชรขุ้ม” เหรียญทองจากฮีโร่ และเหรียญรางวัลแรกของมวยหญิง

 

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 ปี 2010 ณ เมืองกวางโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยต้องผ่าด่านอรหันต์มากมายตั้งแต่การที่สหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติหรือไอบา ได้มีมติแบน “พลเอก ทวีป จันทรโรจน์” หัวเรือใหญ่ของสมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ที่ได้วิจารณ์การตัดสินในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่ผ่านมา

 

กว่าจะเคลียร์กันจนทีมมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยสามารถลงสนามแข่งขันได้ก็ต้องลุ้นกันน่าดูก่อนที่ในท้ายที่สุดทีมชาติไทยชุดนั้นจะสามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้ 2 คนคือ “วรพจน์ เพชรขุ้ม” รุ่นแบนตัมเวตชาย เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ 2004 และ “ทัศมาลี ทองจันทร์” รุ่นไลต์เวตหญิง

 

สำหรับ “ทัศมาลี ทองจันทร์” ถือว่าเป็นนักมวยหญิงคนแรกที่ได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ โดยรอบชิงชนะเลิศเจ้าตัวต้องพบกับตัวเต็งอย่าง “ดอง เชง” นักกีฬาเจ้าภาพซึ่งสาวไทยก็ไม่อาจต้านทานความแข็งแกร่งได้ พ่ายคะแนนไป 4-13 คะแนนคว้าเหรียญเงินไปครองและก็เป็นเหรียญประวัติศาสตร์ของมวยสากลสมัครเล่นหญิงทีมชาติไทย

 

ด้าน “วรพจน์ เพชรขุ้ม” ความหวังสูงสุดที่จะคว้าเหรียญทองในการแข่งขันครั้งนั้นรอบชิงชนะเลิศก็ต้องพบศึกหนักกับนักมวยเจ้าภาพอย่าง “ฉาง เจี่ย เว่ย” ซึ่งก่อนขึ้นชกก็ต้องยอมรับกันตามตรงครับว่าวรพจน์นั้นเป็นรองอยู่พอสมควร แต่พอลงสนามไปแล้วนักชกไทยไม่มีอะไรจะเสียเจ้าตัวต่อยได้อย่างแม่นยำและเริ่มทำคะแนนทิ้งห่างตั้งแต่ยกแรกก่อนที่ในท้ายที่สุดจะเอาชนะไป 8-3 คะแนนคว้าเหรียญทองเดียวให้กับทีมมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย

 

“วุฒิชัย มาสุข” เหรียญทองสุดท้ายของทีมกำปั้นไทย

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นด้ว่าทีมมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยนั้นสามารถคว้าเหรียญทองกีฬาเอเชียนเกมส์มาได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน และหากเริ่มนับกันในเอเชียนเกมส์ 1990 เป็นต้นมาทีมกำปั้นทีมชาติไทยก็มีเหรียญทองติดไม้ติดมือกลับบ้านมาทุกครั้ง จนการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17 ปี 2014 ณ เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ กีฬาชนิดนี้ก็ยังคงถูกตั้งความหวังเอาไว้

 

แต่ก็ต้องยอมรับกันตามความจริงครับว่าในช่วงนั้นทีมมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยเริ่มต้องพบกับอุปสรรคมากมาย ผลงานที่ผ่านมาก็ไม่ได้ดีดังเดิม การชวดคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกเกมส์ 2012 แสดงให้เห็นว่าบารมีและหน้าเสื่อของสมาคมมวยสากลสมัครเล่นในระดับนานาชาตินั้นเริ่มมีปัญหา ทุกอย่างกลายเป็นความกดดันมาที่คนทำงานและตัวนักกีฬา

 

อินชอนเกมส์ 2014 ทีมมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยสามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้แค่คนเดียวเท่านั้นซึ่งก็คือ “วุฒิชัย มาสุข” ในรุ่นไลต์เวลเตอร์เวต ซึ่งแม้นักชกไทยเองจะมีดีกรีเป็นถึงเจ้าของเหรียญทองแดงในการแข่งขันครั้งที่ผ่านมาแต่ในครั้งนี้วุฒิชัยต้องพบกับ “อิม ฮอน ชุล” นักชกเกาหลีใต้เจ้าภาพในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งถือว่าเป็นงานยากเพราะครั้งนั้นเจ้าภาพเองก็มีปัญหาในเรื่องการตัดสินมากมาย ความหวั่นใจจึงเกิดขึ้นกับทีมชาติไทย

 

แต่แล้วในท้ายที่สุด “วุฒิชัย มาสุข” ก็โชว์ฟอร์มการชกได้สมราคาตัวเต็ง มีเท่าไหร่ใส่หมดจัดทุกอย่างที่มีจนสามารถเอาชนะ “อิม ฮอน ชุล” ไปได้แบบหวุดหวิด 2-1 เสียง เป็นเหรียญทองที่สมราคา เป็นอีกเหรียญเอเชียนเกมส์ที่ต้องได้รับการจารึกและยกย่องไว้ในประวัติศาสตร์วงการกีฬาไทย และที่สำคัญที่คือเหรียญทองสุดท้ายของทีมมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยในรายการเอเชียนเกมส์เพราะในการแข่งขันครั้งถัดมาทีมชาติไทยได้มา 1 เหรียญเงินกับอีก 5 เหรียญทองแดง

 

เรามาร่วมเป็นกำลังให้นักกีฬามวยสากลสมัครเล่นชุดเอเชียนเกมส์ 2022 กันครับ ให้พวกเขาพากีฬาชนิดนี้กลับไปเป็นฮีโร่เหรียญทองเอเชียนเกมส์ของแฟนกีฬาชาวไทยอีกครั้ง


stadium

author

ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)

ผู้ชื่นชอบการรวบรวมข้อมูลนักกีฬาไทย และหลงไหลในกาแฟ ธรรมชาติ และหมาแมว